xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.ผนึกภาคธุรกิจประกันภัย จัดงาน “Thailand InsurTech Fair” คาดผู้เข้าร่วม 50,000 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายในงาน “Thailand Insurtech Fair ครั้งที่ 1” ภายใต้แนวคิด “InsurTech for all and for the next normal” ว่า การจัดงานในปีนี้เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาจากการจัดงานสัปดาห์ประกันภัย โดยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็นแบบ Virtual Event ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และได้มีการขยายขอบเขตของงานให้น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยการนำเสนอเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย หรือ Insurtech รวมถึงได้เพิ่มเติมส่วนของการสัมมนาเชิงวิชาการให้เข้มข้นขึ้น และการก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในยุค Next Normal

อย่างไรก็ตาม การจัดงานครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนภาคการประกันภัยให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะเดียวกันก็รักษาสมดุลระหว่างบทบาทด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และการรักษาเสถียรภาพของระบบประกันภัยได้อย่างดี ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก

โดยผ่านการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐด้านการบริหารความเสี่ยงในภาคการเกษตร ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลาย เพื่อบรรเทาความเสียหายและเพิ่มศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงให้กับเกษตรกร โดยมีผลงานที่โดดเด่น เช่น การประกันภัยข้าวนาปีและการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้อย่างเป็นระบบ มีการเยียวยาค่าเสียหายให้กับเกษตรกรอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ทำให้เกษตรกรสามารถฟื้นตัวกลับมาประกอบอาชีพเพื่อดำรงชีวิตต่อไปได้หลังจากประสบภัยธรรมชาติ

นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยไทยได้แสดงความสามารถให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึงบทบาทด้านการบริหารความเสี่ยงให้กับสังคมไทย ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้

และในอนาคตอันใกล้นี้ การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน ความท้าทายที่จะยังคงอยู่ภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลายไป ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ภายหลังยุคโควิด คือ ผู้คนและภาคธุรกิจมีการพึ่งพาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก การทำธุรกรรมออนไลน์ หรือการทำงานจากที่บ้าน กลายเป็นสิ่งธรรมดาในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวให้สามารถติดต่อ และให้บริการลูกค้าความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญของเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยจะร่วมเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพมั่นคง ทั้งจากภายในและภายนอก และประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมาให้ได้ผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงการประกันภัยให้แก่ประชาชนในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมประกันภัยมีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมความเข้มแข็งมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในครอบครัว การประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทยทุกคน ทั้งนี้ คปภ. จึงได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่อุตสาหกรรมประกันภัยจะต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลต้องมีการปรับตัว

รวมถึงปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และการให้บริการประชาชน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยให้ก้าวไกล และพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย หรือ “InsurTech Startup Hub” ในอนาคต ในการนี้ จึงเป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน “สัปดาห์ประกันภัย” มาเป็น “Thailand InsurTech Fair” ครั้งแรกของประเทศไทย เป็นการจัดงานในรูปแบบ Virtual Event เต็มรูปแบบ ระหว่างวันที่ 26-30 ตุลาคม 2564 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานผ่านออนไลน์ประมาณ 50,000 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น