ปัจจุบันความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง Work Form Home กันอย่างยาวนาน ส่งผลให้เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในวัยทำงาน และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดแล้ว แต่ยังทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่และมีความสุข
นพ.สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม ศัลยแพทย์ระบบประสาท หัวหน้าศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน เปิดเผยว่า จากสถิติของผู้ป่วยโรคกระดูกสันปัจจุบันพบมากขึ้น ซึ่งมาจากปัจจัยสำคัญ คือ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน โดยคนไข้ที่จะเป็นโรคกระดูกสันหลัง จะแบ่งเป็นสองช่วงอายุ คือ วัยทำงาน office ช่วงอายุ 30-50 ปี และสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งคนไข้ที่อยู่วัยทำงานพบว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังมากขึ้น ในอดีตเราจะคิดว่าคนที่ทำงานยกของหนักมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกสันหลังมากกว่า
แต่ปัจจุบันคนไข้กลุ่มทำงานออฟฟิศมีการเข้ารับการรักษาเท่ากับคนไข้กลุ่มใช้แรงงาน เกษตรกร ซึ่งพบว่าการ Work Form Home มีโอกาสเป็นโรคกระดูกสันหลังเท่ากับคนไข้ที่ยกของหนัก มีคนไข้กลุ่มหนุ่มสาววัยทำงานมาแสดงตัวว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังมากขึ้น ปกติถ้าทำงานที่ออฟฟิศ เราก็จะมีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยครั้ง ลุกนั่ง เดินไปโน้นมานี่ แต่การ WFH ทำให้ไม่ค่อยขยับตัว อาจจะมีการประชุมออนไลน์ทั้งวันเป็นเวลานานๆ นั่งเล่นมือถือนานๆ จึงทำให้มีผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกสันหลังเพิ่มมากขึ้น
นพ.สิทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สัญญาณเตือนจากอาการที่จะต้องมาพบแพทย์โดยด่วน คือ อาการปวดคอร้าวลงแขน ปวดหลังร้าวลงขา ชาหรืออ่อนแรงแขนขา หรือ มีอ่อนแรงแขนขา หากมีการกลั้นอุจจาระหรือ ปัสสาวะ ร่วมด้วยการปวดคอ ปวดหลัง คือสัญญาณกระดูกสันหลังกดทับไขสันหลังและเส้นประสาทสันหลัง ซึ่งโรคที่พบบ่อย คือ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไขสันหลัง หากพบว่าคนไข้มีข้อบ่งชี้ต้องรับผ่าตัดในทันที ก็สามารถรักษาให้หายได้
การรักษาโรคกระดูกสันหลังมีหลายวิธี คือ วิธีการกินยา และกายภาพ พบว่าผู้ป่วย 70% สามารถรักษาให้หายได้เอง และอีก 15-20% จะรักษาด้วยวิธี intervention โดยจะฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาทรอบๆ เส้นประสาทให้หายจากการอักเสบ หรือฉีดยาเข้าไปในข้อต่อเพื่อลดอาการอักเสบ และการรักษาโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงจี้เส้นประสาทเล็กๆที่เลี้ยงข้อต่อนั้น เพื่อให้อาการปวดลดลง และในคนไข้ 100% จะเป็นกรณีผ่าตัดเพียง 10% ยกเว้นคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาแล้วมีข้อบ่งชี้เลยว่าจำเป็นต้องผ่าตัด
ขั้นตอนการรักษาสำหรับผู้ที่มีข้อบ่งชี้เช่นว่า กล้ามเนื้ออ่อนแรงมีอาการชาไม่รู้สึกตัวของแขนขา หรือคนไข้ที่รักษาด้วยการใช้ยา และกายภาพเป็นเวลา 3 เดือน แล้วอาการยังไม่หายสนิท หากไม่ทำการรักษาจะส่งผลเสียกับอวัยวะส่วนอื่นได้ จะเกิดอาการปวด หรือเกิดความพิการ ส่งผลกับการอุจาระ ปัสสาวะได้ด้วย ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องเข้ารักษาด้วยการผ่าตัด
นพ.สิทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า โรคกระดูกสันหลัง มีวิธีป้องกันตามสาเหตุ โดยสาเหตุอาจจะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ และไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ โดยส่วนใหญ่ที่พบคือผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุ ด้วยการล้มในห้องน้ำ การป้องกันเบื้องต้นคือ ทำราวจับในห้องน้ำที่มีผู้สูงอายุใช้งาน และในส่วนที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ อย่างวัยหนุ่มสาว คือ เกิดจาการทำงาน นั่งเวลานานๆ และทำกิจกรรม หรือการออกกำลังกายที่มีการกระแทกหรือนั่งก้มดูมือถือนานๆ คำแนะนำของแพทย์ คือ ให้เป็นอิริยาบถบ่อยๆ การจัดการท่านั่งที่ถูกต้อง ก็จะช่วยลดปัญหาเกิดโรคกระดูกสันหลังได้แล้ว
สำหรับการวินิจฉัยโรค ที่สำคัญ ต้องมีอุปกรณ์ประกอบการวินิจฉัยครบครัน เช่น เครื่อง MRI การตรวจคลื่นประสาท และแพทย์ที่เชี่ยวชาญ โดยทางศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน มีทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญพร้อมการรักษาที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อพิจารณาการรักษา และให้คำแนะนำกับคนไข้โดยข้อมูลการตรวจของคนไข้ทุกรายที่จะพิจารณาทำผ่าตัดจะถูกนำเข้าที่ประชุมทุกราย ทางเราจึงให้การรักษา Last opinion โดยจบครบในศูนย์เดียว
“จากสถิติการรับคนไข้ที่มารักษาโรคกระดูกสันหลัง ไม่สามารถมองข้ามได้เลย เพราะหลังของเราประกอบด้วยหลายอย่าง อาทิ กล้ามเนื้อ เส้นประสาท และกระดูกสันหลัง ซึ่งสัมพันธ์กัน การดูแลตัวเองจึงสำคัญมากสำหรับยุคปัจจุบัน และหากเราได้รับการรักษาที่ถูกวิธี จากทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญพร้อมเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้”
นพ.สิทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายอีกว่า “ทั้งนี้ โรงพยาบาลนครธน ยังเสริมศักยภาพด้วยการร่วมมือกับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยนำองค์ความรู้ทางการแพทย์ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์กระดูกสันหลัง ณ โรงพยาบาลนครธน ด้วยการนำเทคโนโลยีการรักษาโรคกระดูกสันหลังที่ทันสมัยด้วย อาทิเช่น การผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope ที่มีแผลเล็กขนาดเพียง 8 มิลลิเมตร เพื่อผลการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังได้จัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคลากร เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ความร่วมมือดังกล่าวนับว่าเป็นรูปแบบใหม่สำหรับการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลนครธนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพตามแนวทางของบำรุงราษฎร์ในราคาที่เข้าถึงได้อีกด้วย”