บมจ.ชโย กรุ๊ป จับมือพันธมิตร พีเอ็นเอ็น แคปปิตอล และเอซเก้ ลงนามความร่วมมือในการสร้าง “ธุรกิจชุมชนสมัยใหม่” หรือ “Local Enterprise” ต้นแบบประเทศไทยสร้างธุรกิจชุมชนที่ยั่งยืน พร้อมเสนอบริการสินเชื่อสู่ชุมชนทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO นายกิตติ ตั้งศรีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ และ นายณฐพล ทิพชัชวาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายบัญชีการเงิน พร้อมด้วย นายพิษณุพงษ์ ถิรโชติภูวนันท์ กรรมการ บริษัท พีเอ็นเอ็น แคปปิตอล จำกัด นายศิษ พฤกษวัน กรรมการ บริษัท เอซเก้ จำกัด และ นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษาโครงการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท พีเอ็นเอ็น แคปปิตอล จำกัดได้ลงนามความร่วมมือในการสร้างโอกาสและอาชีพให้แก่ธุรกิจชุมชนทั่วทุกภาคในประเทศไทย พร้อมเสนอบริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและสะดวกสบาย
บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดย บริษัท ชโย แคปปิตอล จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่ออย่างถูกต้องตามกฎหมาย ร่วมกับ บริษัท พีเอ็นเอ็น แคปปิตอล จำกัด และบริษัท เอซเก้ จำกัด ร่วมมือกันดำเนินโครงการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ ผ่านเครือข่ายบริการด้านการขนส่ง Drop Point Plus ของเอซเก้ เพื่อนำเสนอข้อมูลสินเชื่อแก่ลูกค้าที่สนใจ พร้อมเชื่อมต่อข้อมูลกับ CHAYO ด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ที่พัฒนาร่วมกัน โดย CHAYO พิจารณาอนุมัติสินเชื่อตรงสู่ลูกค้า ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ 2.5 ล้านบาทต่อสาขา นำร่อง 16 สาขา และขยายสู่ Drop Point Plus กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ
นายสุขสันต์กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ทำให้บริษัทฯ สามารถขยายบริการสินเชื่อไปยังชุมชนทั่วประเทศได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ผ่านขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อของบริษัทฯ ขณะที่พันธมิตร พีเอ็นเอ็นฯ และเอซเก้ จะคัดเลือกจุดให้บริการ Drop Point Plus เพื่อให้ข้อมูลสินเชื่อแก่ลูกค้า เชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
ด้านนายพิษณุพงษ์กล่าวว่า บริษัทฯ มีแนวคิดในการสร้างธุรกิจชุมชนสมัยใหม่ (Local Enterprise) ซึ่งหมายถึงธุรกิจดั้งเดิมในชุมชนผนวกการเสริมศักยภาพด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาธุรกิจดั้งเดิมให้สามารถคงอยู่คู่กับชุมชนและสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านั้นปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันกับธุรกิจยุคใหม่ นำไปสู่การพึ่งพากันเองในแต่ละชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนที่มีความยั่งยืน
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ร้านเครือข่ายด้านการขนส่ง Drop Point Plus มีบริการเพิ่มเติมพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ การบริการข้อมูลด้านสินเชื่อจะทำให้คนในชุมชนมีทางเลือกและเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ต้องเดินทางไกล ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายขยาย Drop Point Plus จำนวน 200 สาขาภายในปี 2564 และ 600 สาขาในปี 2565
ขณะที่นายณัฐพงศ์กล่าวว่า หากชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน นับเป็นการสร้างโอกาสการกระจายแหล่งทุน ขณะเดียวกันยังเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ นำไปสู่การเกิดขึ้นของนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ที่พร้อมปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและมีความเข้าใจข้อกำหนดทางกฎหมาย