xs
xsm
sm
md
lg

ผันน้ำลงแก้มลิงทุ่งรังสิต “ฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออก” ส่งน้ำลงอ่าวไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบแนวทางผันน้ำลงแก้มลิงทุ่งรังสิต ตัดน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ก่อนไปรวมแม่น้ำเจ้าพระยา สู่การใช้ “ฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออก” ส่งน้ำลงอ่าวไทย

รายงานพิเศษ

3 ตุลาคม 2564 ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เข้าท่วมพื้นที่ริมน้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำหลายจุดอยู่ในขณะนี้ โดยจุดที่น่าสนใจ คือ การระบายน้ำจาก “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” ที่มีน้ำเกินกว่าความจุของเขื่อนมาหลายวันแล้ว

ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำอยู่ที่ 2,784 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับทรงตัวมาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2564

แต่ตัวเลขล่าสุดในวันนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปรับลดการระบายน้ำลงมาเล็กน้อยเหลือ 1,144 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (จากเดิมที่เคยระบายสูงไปถึง 1,210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) แต่ก็ยังส่งผลกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนอยู่ดี 

ที่ริมแม่น้ำป่าสักบริเวณ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี, อ.วังม่วง อ.แก่งคอย อ.เมือง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี และเส้นทางไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา

น้ำจากเขื่อนป่าสัก จะไปที่เขื่อนพระราม 6 ที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยวันนี้ระบายน้ำผ่านเขื่อนพระราม 6 ไป ที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 762 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

โดยก่อนถึงเขื่อนพระราม 6 ได้ตัดน้ำอีก 239 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไปลงที่คลองระพีพัฒน์ ซึ่งจะถูกผันที่ที่ทุ่งรังสิต ที่มี “แก้มลิง” เตรียมไว้รองรับส่วนหนึ่ง




พื้นที่แก้มลิงทุ่งรังสิต เป็นพื้นที่ซึ่ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ร่วมกับเครือข่ายชุมชนตำบลบึงชำอ้อ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแก้มลิง ด้วยการทำเป็นร่องสวนปาล์มน้ำมันขึ้นในพื้นที่

ร่องสวนปาล์มนี้ เป็นพื้นที่แก้มลิงที่จะสามารถช่วยหน่วงน้ำเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม โดยรับน้ำที่ที่ระบายจากเขื่อนป่าสักขลสิทธิ์ ออกมาทางคลองระพีพัฒน์ ก่อนถึงเขื่อนพระราม 6 ได้ประมาณ 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

ถ้าคิดแบบ 100% พื้นที่ร่องสวนบริเวณนี้ ถูกใช้เป็นแก้มลิงได้มากกว่า 1 แสนไร่ และหน่วงน้ำร่วมกับคลองและบ่อดินได้ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร 

แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ในวันนี้ มีน้ำอยู่ในพื้นที่แล้วประมาณ 60% จะสามารถรับน้ำมาเก็บไว้ในร่องสวนได้อีกประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยพื้นที่แก้มลิงทุ่งรังสิต เคยถูกใช้เพื่อหน่วงน้ำมาแล้วในปี 2559 ซึ่งน้ำล้นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และจำเป็นต้องระบายลงคลองระพีพัฒน์ จึงใช้แก้มลิงทุ่งรังสิตรับน้ำเข้ามาเก็บไว้ในร่องสวน สามารถลดระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์แยกตก ลงทันทีถึง 40 เซนติเมตร


มีรายงานว่า น้ำจากท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ผันลงสู่คลองระพีพัฒน์ เพิ่งจะเริ่มมาถึงที่ทุ่งรังสิตในวันนี้ และในวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 กำนันตำบลบางซำอ้อ จะเรียกประชุมผู้นำชุมชนในพื้นที่เพื่อตรวจสอบประตูระบายน้ำที่จะส่งน้ำเข้าสู่ร่องสวนของเกษตรกรตามแผน

โดยต้องสแกนตรวจสอบบไม่ให้มี “ท่อผี” ที่อาจเคยถูกวางไว้เพื่อลักลอบสูบน้ำเข้าสวนในหน้าแล้ง เพราะอาจทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่จะนำเข้าแก้มลิงได้

โดยการผันน้ำฝั่งตะวันออกนี้ ได้สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เป็นเส้นทางที่ควรใช้บ่อยๆ เพราะถือเป็นเส้นทาง “ฟลัดเวย์ตะวันออก” ที่เคยใช้เป็นทางหลักในการส่งน้ำไปลงอ่าวไทยที่ จ.สมุทรปราการ จากคลองระพีพัฒน์แยกตก สู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ไปที่คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ

ส่วนหนึ่งสามารถผันไปลงแม่น้ำบางปะกงที่ จ.นครนายก อีกส่วนลงไปที่ จ.สมุทปราการ ซึ่งมีสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพสูง “โครงการชลหารพิจิตร” รอส่งน้ำลงทะเลอยู่แล้ว แต่นี่เป็นจุดที่กลับไม่ถูกใช้งานมากนักใน “มหาอุทกภัยปี 2554”




สิ่งที่น่าสนใจคือ พื้นที่ที่เรียกว่า “ฟลัดเวย์ตะวันออก” หรือพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ ซึ่งก็คือ “ถนนหทัยราษฎร์” กลายเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญเติบโตอย่างมาก

การใช้ประโยชน์ที่ดินถูกเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่เกษตรกรรมกลายเป็นที่อยู่อาศัย มีสนามบิน นิคมอุตสาหกรรม บ้านจัดสรร และสนามกอล์ฟ ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก จนทำให้หากจะตัดสินใจใช้เป็นเส้นทางสำหรับการผันน้ำที่มีปริมาณน้ำสูง อาจส่งผลกระทบเยอะ ทั้งที่มีระบบระบายน้ำลงสู่ทะเลรองรับไว้

ผู้ที่ติดตามสถานการณ์มหาอุทกกภัยในปี 2554 คงจะพอทราบว่า น้ำไม่ได้ถูกระบายมาที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครมากนักทั้งที่เคยเป็นเส้นทางหลัก

มีข้อสังเกตด้วยว่า หากนี่เป็นเหตุผลที่ในปี 2554 ไม่ได้ใช้เส้นทางนี้ เป็นทางหลักในการระบายน้ำ ก็ยิ่งน่าสนใจว่าเมื่อเวลาผ่านแล้วอีก 10 ปี มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นอีกมากแค่ไหน ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้เส้นทาง “ฟลัดเวย์ตะวันออก” เพื่อระบายน้ำ

ดังนั้น หากเส้นทางระบายน้ำ “ฟลัดเวย์ตะวันออก” ไม่ถูกใช้อีกในปี 2564 นี้ ก็อาจส่งผลให้ที่ดินถูกพัฒนาเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ด้านอื่นมากขึ้นไปอีก จนไม่สามารถใช้ได้แม้แต่จะเป็น “เส้นทางเลือก” ในการระบายน้ำลงสู่ทะเล


กำลังโหลดความคิดเห็น