xs
xsm
sm
md
lg

"หมอยง" เผย "ภูมิคุ้มกันหมู่" ใช้ไม่ได้กับโควิด-19 เหตุจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นกันติดเชื้อได้ไม่สมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หมอยง" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ยก สิงคโปร์ อิสราเอล ฉีดวัคซีนโควิดแล้วกว่า 80% แต่ก็ยังมีการระบาดอยู่ ชี้ภูมิคุ้มกันหมู่ใช้ไม่ได้กับโควิด-19 ภูมิต้านทานกันติดเชื้อได้ไม่สมบูรณ์ เผยในอนาคตหากยารักษามีการพัฒนาขึ้นโควิด-19 ก็จะกลายเป็นแค่โรคทางเดินหายใจชนิดหนึ่งเท่านั้นที่ผู้ป่วยมีอาการน้อยลงหรือไม่มีอาการ

วันนี้ (3 ต.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Yong Poovorawan" ในหัวข้อ ความหวังภูมิคุ้มกันหมู่ herd immunity ในโรคโควิด-19 โดย "หมอยง" ได้ระบุข้อความว่า

"ภูมิคุ้มกันหมู่ หมายถึง เมื่อประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานต่อโรคติดเชื้อจะช่วยลดการระบาด และปกป้องผู้ที่ยังไม่มีภูมิต้านทานไม่ให้เกิดการติดเชื้อได้ เช่น โรคหัด ถ้าประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน ไม่ว่าจะจากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อ เป็นหัดแล้ว ประชากรส่วนน้อยได้รับประโยชน์ถูกปกป้องไปด้วย ไม่ให้เกิดการระบาดของโรค แต่ภูมิคุ้มกันหมู่ไม่สามารถใช้ได้กับโรคบางโรคที่เป็นเฉพาะบุคคล เช่น บาดทะยัก ต่อให้เราฉีดวัคซีนบาดทะยักมากแค่ไหน คนที่ไม่ได้ฉีดถ้าไปโดนตะปูตำ คนอื่นที่ฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมากก็ไม่สามารถจะมาปกป้องเราได้

ความหวังให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับโรคโควิด-19 ในระยะเริ่มแรกที่มีวัคซีน โดยคาดการณ์กันว่าถ้าประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ หรือได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 70 ก็จะหยุดการระบาดของโรคได้ แต่ความเป็นจริง ภูมิคุ้มกันหมู่ไม่สามารถใช้ได้กับโรคโควิด-19

สิงคโปร์ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 80% โรคก็ยังระบาดอยู่ อิสราเอลก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ และแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ แต่ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง ไวรัสเองยังเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ที่จะหลบหลีกต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์

ถ้ามีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้ออาการจะลดน้อยลงหรือไม่มีอาการ การติดเชื้อครั้งแรกในคนที่ไม่มีภูมิต้านทานจะรุนแรงที่สุด และจะสร้างภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อในครั้งต่อไปให้มีอาการลดน้อย และจะลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเป็นเหมือนโรคทางเดินหายใจแบบปกติ

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญทุกคนจะต้องมีภูมิต้านทาน ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นเกิดได้จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีน และเมื่อมีการติดเชื้อเมื่อมีภูมิต้านทานอาการก็จะน้อยลงหรือไม่มีอาการ ในอนาคตการพัฒนายามาช่วยในการรักษาหรือลดอาการของโรคลงอีก ก็จะเป็นวิธีที่ช่วยเสริมลดความรุนแรงลง

เราจะอยู่ด้วยกันกับไวรัสเช่นไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่น และต่อไปโรคนี้จะเป็นในเด็ก และมีอาการน้อย ไม่สามารถจะกวาดล้างให้หมดไปได้ ทุกคนควรได้รับวัคซีนให้มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรคลงด้วยการฉีดวัคซีนทุกคน"




กำลังโหลดความคิดเห็น