xs
xsm
sm
md
lg

เผยภาพคืบหน้าขุดค้นทางโบราณคดี เรือโบราณพนมสุรินทร์ ก่อนคลุมผ้าใบไม่ได้เห็นชัดๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เผยแพร่ภาพการขุดค้นทางโบราณคดีเรือโบราณพนมสุรินทร์ วันสุดท้ายประจำปีงบประมาณ 64 เผยให้เห็นความอลังการของเรือโบราณลำนี้

วันนี้ (2 ต.ค.) เฟซบุ๊ก "กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร" เผยแพร่ภาพการขุดค้นทางโบราณคดีเรือโบราณพนมสุรินทร์ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการขุดค้นประจำปีงบประมาณ 2564 ระบุว่า "นับเป็นเวลากว่าครึ่งปีที่กองโบราณคดีใต้น้ำและสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ต่อยอดการทำงานทางโบราณคดีเรือโบราณพนมสุรินทร์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2556 ช่วงเวลาดังกล่าวทุกคนต่างทำงานกันอย่างเข้มข้นเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน

บัดนี้ การขุดค้นทางโบราณคดีเรือโบราณพนมสุรินทร์ จ.สมุทรสาคร ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยทีมงานได้ขุดศึกษาเรือโบราณพนมสุรินทร์เสร็จสิ้นมากเกินกว่าครึ่งลำ ทางเราได้คัดภาพบรรยากาศการทำงานระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ให้ทุกท่านได้ชมเสมือนว่าท่านได้เดินทางมาเยี่ยมชมเรือโบราณลำนี้ด้วยตัวเอง

ประกอบกับกระบวนอนุรักษ์ซากเรือจมเบื้องต้นที่ไม่สามารถเปิดเผยหลักฐานสู้แดดสู้ฝนตลอดไปได้ จำเป็นต้องมีการปกคลุมหลักฐานไว้ โดยท่านที่เดินทางไปเยี่ยมชมเรือโบราณหลังจากนี้คงไม่ได้เห็นภาพเรือชัดๆ เพราะฉะนั้นเชิญทุกท่านรับชมภาพบรรยากาศการทำงานกันครับ"


สำหรับการศึกษาเรือโบราณพนมสุรินทร์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2556 สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้รับแจ้งจากองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ ว่ามีการพบซากเรือโบราณอยู่ในบ่อเลี้ยงกุ้งของนายสุรินทร์ และนางพนม ศรีงามดี บ้านเลขที่ 65/1 หมู่ที่ 6 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร สาเหตุการพบเนื่องจากการปรับพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งให้ลึกลงกว่าเดิม โดยบริเวณที่พบเรือโบราณเป็นพื้นที่ลุ่มริมชายฝั่งทะเล อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 8 กิโลเมตร เรือโบราณที่พบจมอยู่ใต้ดินเลนในลักษณะพลิกตะแคง ส่วนที่โผล่พ้นดินแล้วเป็นกราบเรือด้านทิศตะวันตก เรือวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่าเป็นเรือที่มีการเสริมกราบสองชั้นด้วยการเจาะรูและใช้เชือกผูกโยงยึดแผ่นไม้ไว้ด้วยกัน ไม้และเชือกมีสภาพเปื่อยยุ่ยอย่างมาก ภายในเรือพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ทั้งภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินที่ผลิตจากแหล่งเตาภายในประเทศ เครื่องเคลือบที่ผลิตจากแหล่งเตาในประเทศจีน และพบอินทรียวัตถุหลายประเภท เช่น ลูกมะพร้าว ลูกตาล เมล็ดข้าว เชือก ยางไม้ เมล็ดพืช เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบภาชนะดินเผาอีกหลายแบบที่ยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้

จากการพบกระดูกงูขนาดใหญ่และเสากระโดง แสดงให้เห็นว่าเรือโบราณที่พบในครั้งนี้เป็นเรือขนาดใหญ่ และจากลักษณะเรือที่มีการเสริมกราบสองชั้นด้วยการใช้เชือกผูกโยงยึด เป็นเทคนิคการต่อเรือที่เหมือนกับเรืออาหรับโบราณ และโบราณวัตถุที่พบในเรือ มีทั้งภาชนะที่เป็นบรรจุภัณฑ์และภาชนะที่ใช้สอยในเรือ บางประเภทเป็นภาชนะที่ไม่เคยพบในแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย ทั้งยังพบตัวอักษรโบราณบนภาชนะด้วย แสดงให้เห็นว่าเรือลำนี้มีความสำคัญในการศึกษาเรื่องประวัติการเดินเรือในภูมิภาคนี้ จากการศึกษารูปแบบเรือและโบราณวัตถุที่พบ สันนิษฐานว่าเรือโบราณลำนี้น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15

อ่านประกอบ : การศึกษาเรือโบราณพนมสุรินทร์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร












กำลังโหลดความคิดเห็น