xs
xsm
sm
md
lg

วันมหิดล 2564 วันหยุดราชการพิเศษ ย้อนรอย ครม.กระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



24 ก.ย.ของทุกปีเป็นวันมหิดล แต่ในปี 2564 เป็นปีที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ หลายคนสงสัยว่าที่มาที่ไปของวันหยุดกรณีพิเศษแบบนี้เป็นอย่างไร?

รายงาน

ย้อนกลับไปเมื่อ การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 29 ธ.ค. 2563 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอให้กำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษและวันหยุดราชการประจำภูมิภาค ประจำปี 2564 หนึ่งในนั้นคือกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ 4 วัน ได้แก่ วันศุกร์ที่ 12 ก.พ. 2564, วันจันทร์ที่ 12 เม.ย. 2564, วันอังคารที่ 27 ก.ค. 2564 และวันศุกร์ที่ 24 ก.ค. 2564 รวมทั้งกำหนดวันหยุดราชการประจำภูมิภาค 4 วัน และให้เลื่อนวันหยุดชดเชยวันปิยมหาราช เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องกัน 3 วัน

สาเหตุที่มีการเสนอวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ มาจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2563 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการกำหนดให้มีวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวร่วมกับปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการของภาครัฐและเอกชน

จากที่ประชุมพบว่าผู้ประกอบการภาคเอกชนทุกรายเห็นด้วยกับนโยบายการเพิ่มวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศทดแทนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเสนอแนะแนวทางทั่วไปว่า หากจะมีวันหยุดราชการป็นกรณีพิเศษควรประกาศกำหนดล่วงหน้านานพอสมควร เพื่อความสะดวกในการเตรียมตัวทั้งในฝ่ายผู้ประกอบการและผู้เดินทาง

ส่วนการส่งเสริมการเดินทางในวันทำการที่กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการพิเศษ มีประโยชน์มากกว่าการเดินทางท่องเที่ยวในวันเสาร์อาทิตย์ เพราะปกติก็มีการเดินทางและการสร้างรายได้อยู่แล้ว ทั้งทำให้การจราจรหนาแน่นเกินควร และการกำหนดวันหยุดราชการพิเศษควรคำนึงถึงการเดินทางเป็นครอบครัว จึงควรพิจารณาช่วงวันปิดภาคการศึกษา โดยคำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศ และเทศกาลต่างๆ ประกอบด้วย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 นายวิษณุเสนอการกำหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ โดยได้เสนอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับไปศึกษาเกี่ยวกับการกำหนดวันหยุดราชการประจำภูมิภาคตามเทศกาลประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของแต่ละภูมิภาค ซึ่งไม่มีนัยสำคัญต่อภูมิภาคอื่น

เช่น ประเพณียี่เป็งของภาคเหนือ ประเพณีไหลเรือไฟของภาคอีสาน ประเพณีสารทเดือนสิบของภาคใต้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนสืบสานรักษาเทศกาลประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของแต่ละภูมิภาค และควรทำตารางกิจกรรมท่องเที่ยวของแต่ละท้องที่ในแต่ละเดือน โดยอาจหารือกระทรวงวัฒนธรรมด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับไปศึกษาเกี่ยวกับการกำหนดวันหยุดราชการครึ่งวันเป็นกรณีพิเศษ เช่น ครึ่งบ่ายของวันศุกร์ และครึ่งเช้าของวันจันทร์ ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมเสนอว่าจะช่วยให้ได้ประโยชน์จากระยะเวลาการพำนักที่ยาวนานขึ้น

ต่อมาวันที่ 25 ธ.ค. 2563 นายวิษณุได้เป็นประธานการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ และวันหยุดราชการประจำภูมิภาค ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 รวมทั้งการเลื่อนวันหยุดชดเชยวันหยุดราชการ ประจำปี 2564 เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว อันจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเป็นอย่างมาก

ที่ประชุมเห็นสมควรกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษและวันหยุดราชการประจำภูมิภาค รวมทั้งการเลื่อนวันหยุดชดเชยวันหยุดราชการ ประจำปี 2564 กระทั่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 ธ.ค. 2563 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษและวันหยุดราชการประจำภูมิภาค ประจำปี 2564 พร้อมกับให้เลื่อนวันหยุดชดเชยวันปิยมหาราชจากวันจันทร์ที่ 25 ต.ค. 2564 เป็นวันศุกร์ที่ 22 ต.ค. 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดมาตรการจูงใจให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและบริโภคสินค้าภายในประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอย่างต่อเนื่อง

ภายหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงวันหยุดตามประเพณีของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ประจำปี พ.ศ. 2564 และกำหนดวันหยุดทำการของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ

ได้แก่ ยกเลิกวันหยุดตามประเพณีของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจในวันจันทร์ที่ 25 ต.ค. 2564 (ชดเชยวันปิยมหาราช) และกำหนดให้วันศุกร์ที่ 22 ต.ค. 2564 เป็นวันหยุดทำการของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจแทน และกำหนดวันหยุดทำการของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ได้แก่ วันศุกร์ที่ 12 ก.พ. 2564 และวันศุกร์ที่ 24 ก.ย. 2564

สำหรับวันที่ 24 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันมหิดล ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศให้ตั้งแต่ปี 2494 เป็นต้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย โดยยึดเอาวันคล้ายวันสวรรคตเป็นหลัก โดยมีพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระรูป พร้อมทั้งอ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นประจำทุกปี

การจัดกิจกรรมในวันมหิดล มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา ได้แก่ กิจกรรมรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ โดยคณะนักศึกษาแพทย์และพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้จัดกิจกรรมออกรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิเนื่องในวันมหิดลในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.ของทุกปี หนึ่งในนั้นคือการจำหน่าย "ธงวันมหิดล" เพื่อให้ประชาชนทุกฐานะมีส่วนเกื้อกูลผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งการจัดนิทรรศการ การจัดการประกวดแข่งขัน เสริมทักษะและการเรียนรู้ เป็นต้น

สำหรับปีนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การจำหน่ายธงมหิดลจึงใช้วิธีบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์ แล้วศิริราชมูลนิธิจะจัดส่งใบเสร็จรับเงินพร้อมกับธงมหิดลทางไปรษณีย์




กำลังโหลดความคิดเห็น