วันนี้ (17 ก.ย.) นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า สช. โดย คณะกรรมการกำกับทิศการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ว่าด้วยการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เตรียมจัดงานสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ภายใต้แนวคิด “การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจาก ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” โดยงานจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2564 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี ผ่านระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ (ZOOM) ซึ่งจะมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคราชการ การเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ วิชาชีพ นิสิต นักศึกษา เอกชน และภาคประชาชน เพื่อพิจารณาร่างมติสมัชชาสุขภาพต่อประเด็นดังกล่าวร่วมกัน เพื่อนำข้อเสนอสู่นโยบาย คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบสื่อสารออนไลน์ กว่า 400 คน
นพ.ประทีป กล่าวว่า งานประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นครั้งนี้ เป็นพื้นที่ให้เรามาร่วมกันพัฒนา และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 สำหรับปีนี้ สช. ร่วมกับ สสส. เห็นตรงกันที่จะกำหนดแนวคิดหลักการจัดงาน คือ “การจัดการปัญหา มลพิษทางอากาศจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” เพราะในปัจจุบัน สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤตปัญหาฝุ่นพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่สะสมมาเป็นเวลานาน ยิ่งพื้นที่ กรุงเทพฯ มีการก่อสร้างตลอดเวลา รวมถึงการเผาไหม้ของรถบนท้องถนน จากข้อมูลความเสียหายจากฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ปี 2563 พบว่า กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่น่าห่วงคือ ฝุ่นพิษเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของประชากรโลก
“สช.อยากสื่อสารกับสังคมว่า วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจอย่างมหาศาล ดังนั้น ความร่วมมือขององค์กรทุกภาคในเวทีครั้งนี้ มีส่วนช่วยให้เรารอดจากปัญหา ซึ่งกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบกระบวนการมีส่วนร่วมทางนโยบาย แม้แต่องค์การอนามัยโลก ก็ยอมรับว่าสมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน เน้นการเสริมศักยภาพของประชาชน และสร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมือง” นพ.ประทีป กล่าว
สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถรับชมผ่านทาง Facebook Live ที่ Facebook เพจ : สช.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพจ : สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ เพจ : Thailand Youth Policy Initiative หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-832-9001, 02-832-9002