เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๖๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินทรงหวงห้ามไว้ ที่ตำบลสัตหีบ เมืองชลบุรี ให้เป็นฐานทัพเรือตามคำขอของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ทั้งนี้เมื่อปี ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้เสด็จประพาสชายทะเลด้านตะวันออกด้วยเรือพระที่นั่งจักรี ทรงเห็นว่าตำบลสัตหีบนั้นมีเกาะแก่งเรียงรายบังคลื่นลมและฝั่งทะเลไว้ให้ลับตา ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทรงศึกษาวิชาทหารมา ทรงเห็นว่าเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นฐานทัพเรือ จึงรับสั่งกับพระยาราชเสนา สมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี และพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี ที่ตามเสด็จมาในเรือว่า ให้สงวนที่ดินบริเวณนี้เป็นที่หวงห้าม เพื่อไว้ใช้ในราชการทหารเรือในวันข้างหน้า แต่เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องเอิกเกริก หากมีใครจะมาขอจับจอง ก็ให้เทศาภิบาลอ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวจะเอาไว้สร้างวัง
ต่อมาในเดือนกันยายน ๒๔๖๕ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้ทูลขอที่นี้เพื่อใช้เป็นฐานทัพเรือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจึงมีพระราชหัตถเขาถึงกรมหลวงชุมพรฯ ความว่า
“...การที่จะเอาสัตหีบเป็นฐานทัพเรือนั้นก็ตรงตามความประสงค์ของเราอยู่แล้ว เพราะที่เราได้สั่งหวงห้ามที่ดินไว้ก็เพราะความตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้น แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาจะเป็นฐานทัพเรือและไม่อยากให้โจทวุ่น จึงได้กล่าวไปว่าจะต้องการที่ไว้ทำวัง...”
แต่สาเหตุที่กรมหลวงชุมพรฯไปพบที่นี้ กลับเล่ากันเป็นเรื่องเกี่ยวกับคาถาอาคมอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ไปเลย กล่าวกันว่า มีผู้มีวิชาอาคมแก่กล้าคนหนึ่งมาปลูกกระท่อมอยู่บนหน้าผาชายทะเล ชาวสัตหีบเรียกกันว่า “ตากัน” และเรียกอ่าวหน้ากระท่อมว่า “อ่าวตากัน” เป็นคนเคยบวชเรียนเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อยุธยา และเป็นศิษย์ผู้พี่ของหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ แต่เกิดร้อนวิชาจึงสึกออกมาปลีกวิเวก เมื่อมีเรือเดินทะเลผ่านมา ตากันก็ใช้คาถาอาคมสะกดเรือเรือให้หยุดได้
วันหนึ่งตากันเกิดคะนองเกินเหตุไปทำให้เรือรบหยุด เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ ลูกศิษย์หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ทรงทราบ ก็เสด็จมาที่อ่าวตากันและเกิดศึกประลองวิชากันขึ้น ตากันรู้สึกแปลกใจที่มีฝูงผึ้งมาบินรุมอยู่รอบตัว จึงสะบัดผ้าขาวม้าใส่ ทำให้ผึ้งตกลงพื้นกลายเป็นใบไม้เกลื่อน เลยรู้ว่าถูกคาถาอาคมเข้าแล้ว จึงสะบัดผ้าขาวม้าเป็นเสือพาดกลอนตัวใหญ่ กรมหลวงชุมพรฯก็เสกควายธนูเข้าใส่ ตากันก็รู้ว่าคู่ต่อสู้ไม่ธรรมดา จึงร้องท้าให้ปรากฏตัว กรมหลวงชุมพรฯก็คลายมนต์กำบังออกมาเผชิญหน้าตากัน พอรู้ว่าเป็นใครตากันก็ยอมศิโรราบ และเมื่อกรมหลวงชุมพรฯเกิดสนพระทัยต้องการบริเวณนี้สร้างกองทัพเรือ ตากันก็รับใช้พาไปสำรวจ จากนั้นตัวเองก็ย้ายมาอยู่หลังตลาดสัตหีบ เมื่อตั้งฐานทัพเรือขึ้นแล้ว ทางราชการจึงตั้งชื่อ “อ่าวตากัน” ว่า “อ่าวดงตาล”
ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เล่ากัน วิกิพีเดียกล่าวว่า ช่วงประมาณรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก
ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดี มีที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทร รวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้
แต่เพจ “สัตหีบ บ้านเราแต่เก่าก่อน” พบว่ายายแจงมีที่ดินบริเวณแหลมเทียนและคุ้งไก่เตี้ยจริง และอยู่มาก่อนจะประกาศเป็นเขตหวงห้าม แต่มีอยู่ประมาณ ๓-๕ ไร่ ปลูกมะม่วงไว้ ๕๓ ต้นเท่านั้น และทูลเกล้าฯถวายในรัชกาลที่ ๗ เมื่อทหารเรือเข้ามาปักหลักใช้ที่ดินจริงจัง แต่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่เป็นฐานทัพเรือสัตหีบทั้งหมด
นี่ก็เป็นเรื่องสับสนในที่มาของฐานทัพเรือสัตหีบ ส่วนชื่อ “สัตหีบ” ก็สับสนในที่มาเหมือนกัน
วิกิพีเดียกล่าวว่า หลายท่านให้ความคิดเห็นว่า "สัตต" แปลว่า เจ็ด "หีบ" หมายถึง หีบ ฉะนั้นคำว่า "สัตหีบ" ก็น่าจะแปลว่า หีบเจ็ดใบ ซึ่งสอดคล้องตามตำนานประวัติเจ้าแม่แหลมเทียนว่าได้นำพระราชาลงในหีบเจ็ดใบเพื่อหลบหนียักษ์ อีกหลักฐานหนึ่งมาจากกองประวัติศาสตร์ทหารเรือ ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ รัชกาลที่ ๖ได้เสด็จตรวจเยี่ยมหัวเมืองชายทะเล เพื่อจะสร้างแนวป้องกันชายฝั่งทะเลด้านนอกเพิ่มขึ้น เพราะป้อมพระจุลจอมเกล้าที่ปากน้ำสมุทรปราการนั้นใกล้เมืองหลวงมากเกินไป จึงทรงดำริหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกเป็นที่ตั้งกองทัพเรือ เพื่อตรวจตรารักษาฝั่งและเขตน่านน้ำใหญ่ จึงพระราชทานนามว่า สัตตหีบ เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นเกาะ ๗ เกาะ เป็นที่กำบังลมให้แก่หมู่เรือได้ดี คำว่า "สัตหีบ" หมายถึง ที่กำบังเจ็ดแห่ง (หีบ = ที่บัง) อันหมายถึงเกาะต่าง ๆ กล่าวคือ เกาะพระ เกาะยอ เกาะหมู เกาะเตาหม้อ เกาะเณร เกาะสันฉลาม และเกาะเลา
ส่วนตำนานประวัติเจ้าแม่แหลมเทียนซึ่งเป็นตำนานท้องถิ่น กล่าวว่า เจ้าแม่แหลมเทียนได้ช่วยเหลือพระราชาองค์หนึ่ง เพื่อหลบหนียักษ์ที่ตามมาฆ่า โดยเอาทรัพย์สมบัติของพระราชาใส่ลงในหีบ ๖ ใบ และหีบใบสุดท้ายเป็นที่หลบซ่อนของพระราชา หีบทั้ง ๗ ใบนี้จึงเป็นที่มาของชื่อสัตหีบ ซึ่ง สัตต แปลว่า ๗ นั่นเอง
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสทะเลตะวันออกไปถึงจันทบุรีหลายครั้ง และจุดแวะพักทั้งไปและกลับก็คือสัตหีบหรือเกาะแสมสาร ในหนังสือ “พระราชนิพนธ์เสด็จประพาสจันทบุรี” ได้ทรงบันทึกครั้งที่เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชทอดสมอพักแรมที่สัตหีบในวันจันทร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๒ ปีชวด อัฐศก ๑๒๓๘ หรือ พ.ศ.๒๔๑๙ ตอนหนึ่งว่า
“...ด้วยพระยาบางลมุงคนใหม่ กับกรมการเขามาคอยรับ ได้ถามเขาบอกว่ามาแต่วันขึ้นค่ำหนึ่งนั้นแล้ว เมื่อมาถึงเรือเราได้นั่งเขียนระยะทางนี้อยู่ จะว่าด้วยทำเลที่จอดเรือที่สัตตหีบนี้ ข้างทิศเหนือนั้นตรงฝั่งสัตตหีบเปนแหลมยื่นออกมาจนเกือบถึงตวันตก...”
อีกตอนหนึ่งทรงนิพนธ์ไว้ว่า
“...คำชมสัตตหีบเปนคำโคลงที่ได้ทำไว้ในวันนี้ เหมือนกับที่เกาะสีชัง เราถูกเกณฑ์ให้ว่าโคลงดั้นบาทกุญชรแฝดหนึ่ง ได้ว่าดังนี้
๏ไม้ละเมาะเกาะแก่งนั้นกรรกง
แปดทิศเทียมมณฑลถิ่นนี้
เว้นว่างระหว่างวงเปนช่อง
สัตหีบเก่ากี้ชี้ชื่อแดน
และ “...กรมขุนท่านคิดโคลงสุภาพบทหนึ่ง วิวิธมาลีแฝดหนึ่ง ดังนี้
๏ เรือพระที่นั่งเจ้าจอมสยาม
บรรลุสัตหีบรายรอบล้อม
ยลเกาะเรียบเรียงตามชายฝั่ง ทเลนา
แลลิ่วทิวไม้อ้อมขอบขัน
และยังมีกลอนอีกหลายบทที่กล่าวถึงสัตหีบ เป็นสิ่งยืนยันว่า ชื่อสัตหีบนี้มีมาก่อนรัชกาลที่ ๖
ย้อนหลังไปไกลกว่านั้น พงศาวดารฉบับจันทนุมาศ (เจิม) ได้กล่าวถึงครั้งพระเจ้าตากสินตีฝ่ากองทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา เดินทัพไปจันทบุรี ว่า
“...ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอังคาร แรม ๖ ค่ำ เดือน ๒ นายกล่ำคุมไพร่ ๑๐๐ นำเสด็จไปถึงพัทยา หยุดประทับแรมที่นั้น รุ่งขึ้นยกมานาจอมเทียนประทับแรมที่นั้นคืนหนึ่ง จึงยกมาแรมทัพไก่เตี้ย รุ่งขึ้นมาประทับแรมสัตตหีบ...”
แสดงว่าชื่อสัตหีบมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว
นี่ก็เป็นเรื่องสับสนของเรื่องราวที่เป็นมาแต่อดีต จะว่าไม่สำคัญก็คงไม่ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ถ้าค้นหาความจริงได้ก็จะมองอดีตได้ถ่องแท้ และรู้ปัจจุบันได้ถูกต้อง ส่วนจะเชื่อเรื่องไหนก็พิจารณาตามอัธยาศัยเถอะครับ