คนทั่วโลก ถ้าเห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ ก็รู้ว่านี่คือประเทศไทย เช่นเดียวกับที่เห็นอนุสาวรีย์เทพีสันติภาพ ก็รู้ว่าเป็นสหรัฐอเมริกา เห็นหอนาฬิกาบิ๊กเบน ก็รู้ว่าเป็นกรุงลอนดอน เห็นหอไอเฟล ก็เป็นกรุงปารีส ฝรั่งเศส
วัดอรุณฯเป็นวัดเก่าสร้างมาสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมเรียกกันว่า “วัดมะกอก” สันนิฐานว่าสมัยก่อนนั้นวัดเล็กๆไม่มีชื่อ ก็เรียกตามตำบลที่วัดตั้งอยู่ ว่า “วัดบางมะกอก” เช่นเดียวกับ “วัดบางลำพู” “วัดปากน้ำ” ต่อมาก็เรียกกันสั้นๆว่า “วัดมะกอก”
มีตำนานเล่ากันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาแล้ว มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีลงมาตั้งที่กรุงธนบุรี ซึ่งมี “ป้อมบางกอก” ที่สร้างตามวิทยาการตะวันตกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อเสด็จทางชลมารคมาถึงวัดมะกอกรุ่งแจ้งพอดี จึงเสด็จขึ้นไปนมัสการพระปรางค์ที่อยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งขณะนั้นสูงเพียง ๘ วา หรือ ๑๖ เมตร และในระหว่างที่ปรับปรุงป้อมบางกอกเป็นที่ประทับ ก็ทรงประทับแรมที่ศาลาการเปรียญวัดมะกอก ต่อมาได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดแจ้ง”
แต่ใน “เพลงยาวหม่อมภิมเสน” กวีเอกในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้กล่าวถึงตอนเดินทางโดยเรือจากกรุงศรีอยุธยาจะไปเมืองเพชรบุรี ได้มาจอดพักค้างคืนที่หน้าวัดแจ้ง ก่อนจะเข้าคลองบางกอกใหญ่ ออกคลองด่านไปมหาชัย เป็นหลักฐานว่ามีวัดแจ้งมาก่อนกรุงแตกแล้ว
อีกทั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ไว้ว่า เคยเห็นแผนที่เมืองธนบุรีที่ฝรั่งเศสทำไว้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีระบุชื่อวัดเลียบและวัดแจ้งไว้แล้ว ซึ่งผู้ที่ทำแผนที่นี้ก็คือ เรือเอกเชวาเลียร์ เดอ ฟอร์มัง หนึ่งในคณะทูตของลาลูแบร์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงขอตัวไว้ให้ช่วยราชการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ออกพระศักดิสงคราม เจ้าเมืองบางกอก และเป็นผู้สร้างป้อมบางกอกนั่นเอง เป็นการยืนยันว่ามีวัดแจ้งมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เรื่องราวของวัดอรุณฯชัดเจนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงบูรณะวัดแจ้งต่อ และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” แต่ขณะที่รื้อพระปรางค์องค์เดิมออก ขุดดินเพื่อวางรากฐานใหม่ ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการก่อสร้างต่อ โดยเสด็จฯวางศิลาฤกษ์พระปรางค์องค์ใหม่ในวันที่ ๒ กันยายน ๒๓๘๕ ใช้เวลาถึง ๙ ปีจึงแล้วเสร็จในปี ๒๓๙๔ และทรงนำมงกุฎที่หล่อเตรียมเป็นเครื่องทรงของพระประธานวัดนางนอง เขตจอมทอง ที่ทรงบูรณะถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จพระศรีสุลาลัย หรือเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดา มาเป็นยอดนภศูลพระปรางค์ใหม่ของวัดอรุณฯด้วย
ในรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามอีก และอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาประดิษฐานไว้ที่พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นพระพักตร์ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวปั้นพระวรกาย พระราชทานนามใหม่เป็น “วัดอรุณราชวราราม”
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เกิดไฟไหม้บ้านข้างวัด และลามมาถึงบรรดากุฏิพระสงฆ์ จนใกล้พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาบัญชาการดับไฟด้วยพระองค์เอง และโปรดเกล้าฯให้บูรณะวัดอรุณราชวรารามครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเงินที่พระบรมวงศานุวงศ์ร่วมกันบริจาคเหลือจากการบูรณะ ก็โปรดเกล้าให้นำไปสร้างโรงเรียนที่บริเวณกุฏิเก่าที่ไฟไหม้ พระราชทานนามว่า “โรงเรียนทวีธาภิเศก” เนื่องจากในปีนั้นทรงครองราชย์มาเป็นระยะเวลา ๒ เท่าของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลธวีธาภิเษกถวายพระอัยกาธิราช
จนถึงรัชกาลที่ ๙ พระปรางค์วัดอรุณฯได้รับการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเริ่มในเดือน ๒๕๕๖ เป็นการบูรณะครั้งใหญ่ จนแล้วเสร็จจัดงานสมโภชในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๐ เป็นเวลา ๑๐ วัน ๑๐ คืน ซึ่งก็คือพระปรางค์วัดอรุณฯที่เห็นกันอยู่ในวันนี้
พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ถือได้ว่าเป็นศิลปกรรมที่สง่างามและโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ในความเป็นไทย แสดงถึงความรุ่งเรืองทางศิลปะและวัฒนธรรม ถูกจัดให้เป็น ๑ ใน ๑๐ ของสถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด และเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะเป็นความภูมิใจของคนไทยที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ให้