คอลัมนิสต์ไอทีชี้บรรดาแบรนด์สินค้ามาโปรโมตแบรนด์ตัวเองแบบเนียนๆ ระหว่างไลฟ์สดพระมหาสมปอง กับพระมหาไพรวัลย์ ชี้คนไม่ชอบอ่านเมนต์ที่แบรนด์มาลงเน้นขายของ ไม่มองภาพใหญ่ หรือโพสต์ทักทายแบบไม่ใส่ความคิดเห็นอะไร แนะแอดมินเพจควรจะกลมกลืนไปกับพวกเขา ใส่หมวกเป็นคนธรรมดาไม่ใช่เซลส์ขายของ
วันนี้ (4 ก.ย.) เฟซบุ๊ก Worrathasana Wongthai ของนายวรทรรศน์ วงษ์ไทย บล็อกเกอร์ด้านไอที เว็บไซต์ trendy2.mobi โพสต์ถึงกรณีที่กระแสไวรัลไลฟ์สดระหว่าง พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต กับพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ที่พบว่ามีบรรดาแบรนด์ต่างๆ เข้ามาคอมเมนต์ทักทายจำนวนมากนับร้อยราย จนพระมหาไพรวัลย์ต้องออกมากล่าวว่า เมื่อคืนโดนตำหนิว่ามีพวกที่มาแอบขายสินค้า มาโปรโมตแบรนด์ตัวเองแบบเนียนๆ ระบุว่า
“เมื่อคืน #พระมหาสมปองขึ้น trending บน twitter เราเลยลองเข้าไปอ่านความเห็น และพูดคุยกับชาว tweeple ดู สิ่งที่เราพอสรุปได้จากการขุดเองก็ประมาณนี้ ..ไม่ได้ไปอ้างอิงจากเพจการตลาดที่ไหนทั้งนั้น
-------------------------------
- แอดมินหลายที่ไม่ได้อ่าน เปิดหน้าจอที่สองมองโลกคู่ขนาน เลยว่าการทำ real time ของตัวเองได้ผลดีแค่ไหน ทั้งที่หลวงพี่พูดออก live แบบนิ่มๆ แล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่ฟังกัน
- คนอ่านไม่ชอบอ่านเมนต์ที่แบรนด์มาลงเน้นขายของ โดยไม่มองภาพใหญ่ คือไม่ได้เข้ามาเพราะต้องการมีส่วนร่วมจริงๆ เพราะคน “ทั่วไปที่เป็น FC” เขารู้สึกว่าในความเป็นคน “ตัวเล็กตัวน้อย” ตรงนี้คือพื้นที่ของเขา เขาชอบอ่านคอมเมนต์ที่เป็นลักษณะ “ตัวแทนหมู่บ้าน” เช่น “เมนต์เทย” ที่หายไป
- คนจะไม่ชอบแบรนด์ที่โพสต์ทักทายโดยไม่ใส่ความคิดอะไรในคอนเมนต์ เช่น ความเห็นดาดๆ คล้ายๆ กับผู้ชายไปจีบผู้หญิง แล้วยิงคำถามเชยๆ ว่า “ทานข้าวหรือยังครับ” “อย่าลืมทานข้าวนะครับ” แต่คนจะกด like ในทันทีที่มีมุกเชื่อมโยงได้ไว้ขายขำ เช่น การแกงตัวเองกับมุกที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ และสอดคล้องกับสิ่งที่เพิ่งเกิดใน live
- มีหลาย post ที่บอกว่าเห็นแต่คอมเมนต์จาก page มากกว่าคนทั่วไป อันนั้นก็ต้องไปว่ากันที่ FB ว่ามีเกณฑ์แบบไหนในการดึง comment ขึ้นมาแสดง .. ใดๆ ในโลกรอบตัวเรา ล้วนมีการตลาดทั้งนั้น
- คนเข้ามาดู คือมาเสพ “ขำ” ไม่ได้มาเสพ “ขาย” อันนี้แอดมินเพจวงการดนตรี แอดมินเพจศิลปินเพลงจะรู้ดี เพราะเพิ่งโดนถล่มกันไปก่อนหน้า
มีอยู่ช่วงสัปดาห์หนึ่งที่เหล่าแอดมินเพจศิลปินนิยมเข้าไปเล่นมุกโบ๊ะบ๊ะกันเอง แรกก็ขำกันดีในการเล่นแบบข้ามห้วยจนเกิดเป็นกระแสเล่นตามๆ กันไป แต่ผลที่ตามมาคือกลุ่ม FC ของศิลปินบ่นรำคาญในความเยอะไป ช่วยลดลงมาหน่อย แล้วทยอยกด Unfollow
- เช่นเดียวกับ Club House ยุคตั้งต้นที่ Macro Influencer / Brand ต่างๆ พยายามเข้ามาจับจองพื้นที่และพยายามสร้างสิ่งที่คิดว่าจะ Go Viral แต่ก็อย่างที่พูดไป .. บางสถานที่คือลานส่งเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อย ก็การที่คนมีแสงพยายามดึงพวกเดียวกันขึ้นมา พยายามขายกันเอง โดยที่ไม่ได้ให้คนอื่นมีส่วนร่วม มันก็ทำให้คนเหล่านั้นถอยไปเอง จนหลายที่กลายเป็นเวทีที่มีคนพูดแต่ไม่มีคนฟังใหม่ นอกจากคนเดิมๆ ทุกวันนี้ influencer สาย marketing บางคนก็ยังเป็นอยู่ เพียงแต่ไม่รู้ตัว
ในความเห็นของเรา : ตัวแทนของแบรนด์จะลงมาเล่นอะไรในลานเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อย มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ควรจะกลมกลืนไปกับพวกเขา ใส่หมวกให้ดูเป็น “คนธรรมดา” ไม่ใช่ “sales ปิดการขาย”.. อำได้ ขายขำได้ แต่ทำให้กลมกลืน