xs
xsm
sm
md
lg

“หมอหม่อง” ไม่เห็นด้วย! กรณี สธ.โต้ฝ่ายค้านเรื่องฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ว่าเป็นคนโง่ แนะควรอธิบายเหตุผลตรงๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ โพสต์แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยที่ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โต้ฝ่ายค้านเรื่องฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ว่าเป็นคนโง่ พร้อมแนะรัฐบาลอธิบายเหตุผลตรงๆ และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

จากกรณี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้อภิปรายชี้แจงกรณีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้

นพ.ศุภกิจให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่มีการอภิปรายว่าการไขว้วัคซีน คือเข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า งานวิจัยยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่กำลังส่งตีพิมพ์ ฉะนั้นการบริหารในสถานการณ์เช่นนี้ หากรอให้มีการตีพิมพ์งานวิจัยก่อนแล้วถึงนำมาบริหารจัดการถือว่าโง่มาก ถามว่าทำไมเราถึงยังต้องซื้อวัคซีนซิโนแวค ก็สามารถตอบกลับได้ง่ายๆ ว่า ผลวิจัยบอกว่าการสู้กับเดลตาในปัจจุบันนั้น การใช้ซิโนแวค 1 เข็มบวกแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ให้ผลพอกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม “หากจะรอแค่แอสตร้าฯ อย่างเดียว ต่อให้ได้มาเดือนละ 10 ล้านโดสก็สามารถฉีดได้แค่เดือนละ 5 ล้านคน แต่หากฉีดแบบไขว้จะสามารถฉีดคนได้มากกว่าเดิมสองเท่า นี่เป็นตรรกะพื้นฐานง่ายๆ หากคิดไม่ออก ผมก็ไม่รู้ว่าจะบริหารบ้านเมืองไปได้อย่างไร”

ล่าสุดวันนี้ (2 ก.ย.) เฟซบุ๊ก “Rungsrit Kanjanavanit” หรือ หมอหม่อง นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ได้ออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็นถึงกรณีฉีดวัคซีนสูตรไขว้ โดยระบุว่า "ผมไม่เห็นด้วยกับการต่อว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ว่าเป็นคนโง่ รัฐบาลมองว่าหากจะออกนโยบายใหญ่เร่งด่วน โดยมานั่งรอหลักฐานงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ย่อมช้า ไม่ทันการณ์ ถึงแม้ผมจะเชื่อว่าวิธีนี้ (วัคซีนไขว้) มีเหตุผล มีที่มาที่น่ารับฟังทางวิทยาศาสตร์ และผมสนับสนุนให้ประชาชนทุกคน รับวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้โดยไม่รีรอ เพราะสถานการณ์มันวิกฤตเกินกว่าที่คิดไปเป็นอย่างอื่น (ข้อความนี้ ขีดเส้นใต้ 3 เส้น)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แพทย์ นักวิชาการหลายคนกังวลคือเราได้ตัดสินใจเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณหลายพันล้านและชีวิตของผู้คน ตลอดจนโอกาสในการเปิดเศรษฐกิจของประเทศบนฐานข้อมูลที่มาจากผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คน และเป็นข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ ดูระดับภูมิต้านทานเป็น surrogate ของประสิทธิภาพวัคซีน มันไม่ใช่การศึกษา randomized control trial เพื่อดูประสิทธิภาพของวิธีฉีดไขว้แบบนี้ เทียบกับวิธีปกติ เป็นแบบ phase 3 clinical study ในประชากร ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติที่ ยา หรือวิธีการรักษาใหม่ (แม้จะเป็นยาเก่า) ทุกอันต้องผ่านก่อนนำมาใช้จริง

เราเดิมพันว่ามันจะดีจากหลักฐานเท่าที่มี โดยเฝ้ารอดู “real world effectiveness” แทนข้อมูล phase 3 หากเราสำเร็จ เราจะสร้างแนวทางใหม่ที่นานาชาติต้องหันมามองชื่นชม และอาจพิจารณาทำตาม แต่หากเราล้มเหลว แพ้การเดิมพันครั้งนี้ เราจะถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยวเพราะไม่มีใครคิดจะทำแบบเรา
คนที่กังวลเรื่องนี้ไม่น่าถูกประณามว่าเป็นคนโง่นะครับ รัฐควรอธิบายเหตุผลหลักที่แท้จริงที่เราไม่สามารถดำเนินการตามแผนเดิมที่จะให้ Astra Zeneca ปกติ 2 เข็มเป็นวัคซีนหลักได้นั้น

ก็เพราะโรงงานในไทย ที่เราหวังพึ่งพา ไม่อาจผลิตวัคซีนได้พอได้ทันตามเป้าหมาย อีกทั้งสัญญาที่เราทำไว้กับบริษัท AZ นั้น เราไม่อาจไปเร่งรัด เอาความใดๆ กับเขาได้ ผมเองขอสงวนสิทธิ์ไม่ตอบโต้ ต่อว่าคนออกนโยบายนี้ว่า โง่ เพราะในสถานการณ์เร่งด่วนและทรัพยากรจำกัดแบบนี้ ผู้บริหารจำเป็นต้องหาทางออกที่คิดว่าดีที่สุด แต่ผมอาจเรียกว่า ความประมาท

ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลอธิบายตามเหตุผลตรงๆ น่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่แท้จริงให้แก่ประชาชนได้มากกว่าครับ”



กำลังโหลดความคิดเห็น