วันนี้ (25 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย พาผู้เสียหายจากการลงทุนแชร์ลูกโซ่ นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กว่า 50 คน เดินทางมาร้องทุกข์ต่อ ร.ต.อ.ไพรัตน์ เทศพานิช เลขานุการกรม ในฐานะโฆษก ปปง. เพื่อให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และติดตามทรัพย์สินมาคืนแก่ผู้เสียหายโดยด่วน
นายสามารถ กล่าวว่า วันนี้มาร้องเรียน ปปง. ช่วยเร่งรัดตรวจสอบยึดอายัดบัญชีทรัพย์สินของเครือข่ายนายประสิทธิ์ เพราะเชื่อว่ามีคนร่วมขบวนการจำนวนมากเปิดบริษัทนอมินี และมีการโอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงาน ปปง. สามารถตรวจสอบเอาผิดขบวนการดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน ได้และขอความช่วยเหลือติดตามทรัพย์สินมาคืนให้กับผู้เสียหายให้ได้โดยเร็ว
ด้าน นายแทนคุณ เผยว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่เก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อลงทุน เพราะเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ของนายประสิทธิ์ แต่สุดท้ายกลับถูกหลอกจนหมดตัว มูลค่าความเสียหายทั้งหมดคาดว่าประมาณหลัก 1,000 ล้านบาท จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประนอมหนี้ หรือชะลอหนี้ เพราะบางรายถูกฟ้องแต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้จนได้รับความเดือดร้อนกระทบเป็นวงกว้าง
นายไพรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมตรวจสอบเส้นทางการเงินและทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายประสิทธิ์ รวมทั้งได้ประสานข้อมูลกับกองปราบปรามเพื่อเร่งรัดคดี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายตามขั้นตอนกฎหมาย
นายสามารถ กล่าวอีกว่า ตนได้รับคำร้องขอจากประชาชนให้ช่วยเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ให้เข้าสู่สภาฯในฐานะภาคประชาชน ซึ่งวันนี้จะรวมกัน 10,000 รายชื่อที่จะเสนอให้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พิจารณา
โดยกฎหมายฉบับนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ ส.ส.พลังประชารัฐ ได้เสนอกฎหมายนี้เข้าสู่สภาฯแล้ว ซึ่งกฎหมายนี้ได้ทำความเห็น โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณา ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ปลัดกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ จะเป็นการดีที่ประชาชนได้ยกร่างเข้าสู่สภาฯด้วย ทำให้หน่วยงานรัฐหรือรัฐบาลออกกฎหมายมาประกบกันในการพิจารณา ซึ่งกฎหมายพืชกระท่อมนั้นก็สามารถแก้ได้โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีกว่า และกฎหมายลักษณะนี้ก็จะคล้ายกัน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ให้คดีแชร์ลูกโซ่เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ 7 ต.ค. 2560 และผ่านมา 4 ปี ประชาชนยังถูกหลอกมากขึ้นเพราะไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ผู้เสียหายที่หมดเนื้อหมดตัว ก็ยังไม่ได้รับเงินคืนทั้งๆ ที่มีการอายัดทรัพย์เนื่องจากติดข้อกฎหมาย ตนคิดว่าหากมีกฎหมายฉบับใหม่จะช่วยตรงนี้ได้และจะพยายามผลักดันต่อไป