xs
xsm
sm
md
lg

“สามารถ” ติดตามคดีเหยื่อถูกอุ้มฆ่า จ.พัทลุง เอี่ยวการเล่นแชร์? เน้นแก้ กม. พ.ร.บ? การเล่นแชร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สามารถ” ติดตามคดีเหยื่อถูกอุ้มฆ่า จ.พัทลุง เอี่ยวการเล่นแชร์​ เน้นแก้กฎหมาย​ พ.ร.บ​การเล่นแชร์​ เพื่อลดปัญหา​ที่ระบาดหนักในช่วงนี้​ เน้นชู​กฎหมาย​ไกล่เกลี่ย​ข้อพิพาท​ ลดความขัดแย้ง​ในชุมชน​

วันนี้ (11 ส.ค.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ได้แสดงความคิดเห็นกรณี การอุ้มฆ่าเหยื่อสาวจังหวัดพัทลุงอันเนื่องมาจากปมการเล่นแชร์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ว่า ตนได้ประสานไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อติดตามความคืบหน้าในการให้ช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต ตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมาย ซึ่งทางด้านกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยประสานงานกับร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุง จ.พัทลุง ทราบว่า พบศพ น.ส.จิราพร เพ็ชรรัตน์ อายุ 29 ปี (ผู้เสียชีวิต) บริเวณริมคลองชลประทาน ต.นาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง โดยสภาพศพถูกห่ออำพรางด้วยผ้าห่มและผ้าปูที่นอน และพบบาดแผลถูกยิงเข้าลำตัว 5 นัด และท้ายทอยมีร่องรอยถูกทุบด้วยของแข็ง โดยกำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และติดตามผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี

ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ได้แจ้งสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559) รวมทั้งให้คำแนะนำการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับการเรียกค่าสินไหมทดแทน
ในคดีอาญา และการฟ้องคดีแพ่ง การขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมแล้ว ขณะที่พนักงานสอบสวนฯ ได้แจ้งสิทธิการขอรับค่าตอบแทนให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิตให้ทราบเพื่อติดต่อยื่นคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาต่อไป

จากการวิเคราะห์เบื้องต้น หากผู้เสียชีวิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ
ในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญา ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2559) ดังนี้
(1) ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ไม่เกิน 50,000 บาท
(2) ค่าจัดการศพ ไม่เกิน 20,000 บาท
(3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 40,000 บาท
โดยการจ่ายค่าตอบแทนฯ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ

“ซึ่งผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่กฎหมายต้องมีการพัฒนา ปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 รวมถึง เรื่องการติดตามทรัพย์มาคืนให้กับผู้เสียหายเพื่อให้คนที่ถูกหลอกลวงหรือถูกฉ้อโกงไปได้รับเงินคืน ตลอดจน พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานานแล้วแต่ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไข หากมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ก็น่าจะทำให้การระบาด ในเรื่องแชร์ลูกโซ่ มีจำนวนลดลง”

สำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร สามารถติดต่อไปที่ Facebook “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ผมพร้อมเป็นกระบอกเสียง และอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกหลอกลวงให้เล่นแชร์ หรือถูกฉ้อโกงในทุกรูปแบบ และผมขอแสดงความเสียใจเสียใจไปยังกับครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยได้ส่งความห่วงใย และได้ประสานความช่วยเหลือผ่าน ท่านนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.พัทลุง ไปแล้ว ทั้งนี้ ​พร้อมประสานไปยังยุติธรรม​จังหวัด​พัทลุง​ให้เร่งช่วยเหลือ​ตามมาตรการทางกระบวน​การ​ยุติธรรม​ให้เข้าถึงสิทธิ​ตามกฎหมาย​ที่ได้แจ้งสิทธิไว้แล้วข้างต้น ซึ่งทางครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ทำคลิปแสดงความขอบคุณผมมาในความเอื้อเฟื้อในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า ท่ามกลางภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาด ของโควิด-19 ผมอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคน
มีความอดทน ใช้สติในการไตร่ตรองแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม ปราศจากความรุนแรง หรือการทำร้ายกัน
ซึ่งจะไม่เกิดผลดี ทั้งยังทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายอีกด้วย​ ซึ่งตอนนี้​มี​ พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ย​ข้อพิพาท​ พ.ศ. 2562 น่าจะเข้ามาช่วยลดความขัดแย้ง​ได้​ ซึ่งสามารถติดต่อ​ยุติธรรม​จังหวัด​ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ​




กำลังโหลดความคิดเห็น