xs
xsm
sm
md
lg

คุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท แนะไม่ต้องถอนหรือโยกเงิน ถ้าธนาคารความเสี่ยงต่ำก็เกิดวิกฤตต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบข่าว สื่อให้เห็นถึงเงินสด
นักวิชาการด้านเศรษฐกิจชี้ การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทไม่ต้องถอนเงินหรือโยกเงิน เพราะที่ไหนความเสี่ยงต่ำ โอกาสจะเกิดวิกฤตก็ต่ำด้วย แทบไม่มีผลกระทบ มีสถานะเป็นหนี้ที่ธนาคารต้องชำระคืน แม้จะมีเงินฝากเกินก็รอกระบวนการขายทรัพย์สิน ส่วนลูกค้าสินเชื่อสามารถขายต่อให้ที่อื่นได้ ผู้กู้ก็แค่มีเจ้าหนี้ใหม่

วันนี้ (9 ส.ค.) เฟซบุ๊ก Dr. Nuch Tantisantiwong ของ ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี โพสต์ข้อความในหัวข้อ “เราจะต้องทำอะไร เมื่อวงเงินคุ้มครองลดลง?” ถึงกรณีที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เตรียมที่จะบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยผู้ฝากเงินจะได้รับความคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมาย ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2564 ว่า “สมมติว่าคุณมี 5 ล้านและฝากในธนาคารแห่งเดียวอยู่ หากอยากได้ความคุ้มครองครบ 5 ล้านเหมือนเดิม หลัง 10 ส.ค. 2564 คุณต้องกระจายฝากเงิน 1 ล้านบาทกับ 5 สถาบันการเงินที่มีการทำสัญญาประกันเงินฝากไว้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

หากคุณเลือกฝากเงินกับสถาบันรับฝากเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยมีการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนการเปิดบัญชีหรือนำเงินไปฝาก โอกาสที่สถาบันที่ฝากเงินไว้จะเกิดวิกฤตก็ต่ำอยู่แล้ว นั่นหมายถึงโอกาสที่จะต้องเคลมเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองก็จะน้อยด้วย การลดวงเงินก็จะแทบไม่มีผลกระทบอะไรแม้จะไม่ได้มีการกระจายเงินฝากไปหลายๆ สถาบัน เงินฝากมีสถานะเป็น “หนี้” ที่ต้องชำระคืนค่ะ

หากสถาบันการเงินที่คุณฝากเงินด้วยนั้นล้มละลายจริง ทรัพย์สินสถาบันการเงิน (ที่ไม่ใช่ของรัฐ) จะถูกขาย (liquidate) ก็เหมือนเวลาธุรกิจประเภทอื่นล้มละลายค่ะ จากนั้นเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินจะต้องถูกใช้ในการชำระหนี้ก่อน จึงจะเหลือคืนให้เจ้าของกิจการ (ผู้ถือหุ้น ตามสิทธิของตราสารหุ้นที่ถือครอง) แต่ถ้าขายทรัพย์สินแล้วเงินไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด ก็แปลว่าผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ไม่มีสิทธิ์ได้เงินลงทุนคืน และเจ้าหนี้ก็จะได้รับส่วนชำระคืนเท่าๆ กัน (ซึ่งอาจไม่ใช่ทั้งหมดที่ฝากไว้กับธนาคาร)

ด้วยระบบประกันเงินฝากนี้ คุณสามารถรับเงินคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากทันทีที่มีการประกาศล้มละลาย ไม่ต้องรอกระบวนการขายทรัพย์สิน ทำให้คุณได้รับเงินคืนเร็วขึ้น แต่ได้มากสุดเท่ากับวงเงินที่ได้รับการคุ้มครอง นั่นคือ 1 ล้านบาท/คน/ธนาคาร (ตั้งแต่ 11 ส.ค.) แล้วที่เหลือเกินกว่า 1 ล้านล่ะ … คุณก็ต้องรอการขายทรัพย์สินของสถาบันรับฝากเงินนั่นก่อน แล้วจึงได้คืนส่วนที่เหลือ “หนี้” ยังไงก็คือ “หนี้” ค่ะ ตราบใดที่บริษัทมีเงิน ก็ต้องชำระหนี้ เจ้าหนี้ (ในกรณีคือผู้ฝากเงิน) ก็ต้องได้รับชำระคืนมากเท่าที่บริษัทจะหามาคืนได้

สรุป ไม่ต้องถอนเงินหรือโยกเงินหรอกค่ะ การบริหารพอร์ตเงินออมก็ไม่ต่างกับพอร์ตลงทุน มันอยู่ที่เราว่าเลือกที่ฝากอย่างระมัดระวังหรือไม่”

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “พอดีมีคนถามว่าแล้วลูกค้าสินเชื่อล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผู้ให้สินเชื่อประสบภาวะวิกฤตทางการเงิน หนี้จะเจ๊ากันไปมั้ย แบบเป็นโมฆะอะไรแบบนี้

ตอบ … กฎหมายทุกประเทศคุ้มครองเจ้าหนี้นะคะ ส่วนลูกหนี้กฎหมายก็จะบังคับให้มีการชำระหนี้จนถึงที่สุด ต่อให้สถาบันการเงินปิดกิจการ ลูกค้าสินเชื่อหรือผู้กู้ก็ยังต้องชำระหนี้ค่ะ เพราะสินเชื่อถือเป็นสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน สถาบันสามารถขายสินเชื่อต่อให้สถาบันการเงินอื่นได้ ผู้กู้ก็แค่มีเจ้าหนี้ใหม่ เงินที่ได้จากการขายพอร์ตสินเชื่อก็จะถูกนำมาชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน (เช่น ผู้ฝากเงิน)”


กำลังโหลดความคิดเห็น