นายแพทย์ ยงค์ศักดิ์ เลียงอุดม ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพ ออกมาโพสต์ข้อความตำหนิการทำงานของภาครัฐที่มีความขัดแย้งกันเอง ส่งผลเสียต่อประชาชน ชี้ถึงเวลาจับมือสามัคคีกัน พร้อมหนุนแก้ไขระบบ ระเบียบราชการไม่ทันการณ์ ส่งผลเสียต่อประเทศ และประชาชน
วันนี้ (1 ส.ค.) นายแพทย์ ยงค์ศักดิ์ เลียงอุดม ศัลยศาสตร์ทางมือและจุลศัลยศาสตร์, ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพ ออกมาโพสต์ข้อความลงในเพจส่วนตัว “ตามข่าวกับหมอยงค์” ในหัวข้อ “เราคงรอต่อไปคงไม่ไหวแล้ว” โดยมีใจความว่า
“ในสถานการณ์การระบาดที่ตัวเลขคนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน และแรงกดดันที่มีต่อระบบสาธารณสุขและวงการแพทย์ของประเทศ เราคงจำเป็นต้องเร่งทำอะไรๆ อีกหลายอย่าง เพราะในขณะนี้ตัวเลขอยู่ที่ 18,000 คนต่อวัน และยังไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ ยังไม่ถึงจุดสูงสุด มีปัญหาเตียงไม่พอ ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตที่บ้าน 21 คนในวันที่ 30 กรกฎาคม 2021
ที่ผ่านมาเราทำอะไรช้าไปก้าวหนึ่งเสมอ นับตั้งแต่ต้นปี 2021 ตั้งเเต่การจัดหาวัคซีน การเตรียมพร้อมต่างๆ เราไล่ตามปัญหามาตลอด ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าที่ดี ทำงานตามระบบราชการ ไม่ทำอะไรที่มีแนวคิดใหม่ๆ ติดปัญหาที่กฎระเบียบราชการ ปล่อยไว้จนเนิ่นนาน แก้ไขเพียงเล็กน้อย คือออก พ.ร.บ. วัคซีนแห่งชาติ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ทันการณ์
จำเป็นต้องทำแบบที่ นายกรณ์ จาติกวณิช เสนอ คือรวบรวมเอากฎระเบียบทั้งหมดมาแก้ไขโดยรัฐสภา และรัฐบาล จะรอต่อไปอีกไม่ได้แล้วเพราะที่ผ่านมาก็เสียเวลาไปมากแล้ว ทำช้าดีกว่าไม่ทำ อย่ากลัวว่าจะเสียหน้า ยามนี้ใครคิดอะไรทำอะไรได้เพื่อชีวิตคนไทย อย่าปล่อยให้สถานการณ์เหมือนอินเดีย บราซิล เพราะมีภาพเป็น De ja vu ให้เห็นกันแล้ว
เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นจำเป็นต้องสามัคคีกัน ลืมอดีตที่แค้นฝังใจกันไว้ก่อน ประเทศชาติต้องมาก่อน เพราะไวรัสไม่เลือกข้าง ต้องลืมว่าใครอยู่พรรคไหน ต้องลืมฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ต้องร่วมมือร่วมใจกัน อย่าให้มีการเหยียบเท้ากันให้เห็นต่อหน้านายกฯ ระหว่างผู้ว่าฯ กทม.กับกระทรวงสาธารณสุขให้เห็นอีก ลูกผู้ชายตัวจริงต้องทำงานเพื่อประชาชน ไม่ถือเขาถือเรา
ในยามนี้ความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานราชการสำคัญสุด โดยเฉพาะระหว่าง กทม.กับกระทรวงสาธารณสุข ทำอะไรไปประชาชนย่อมจะเห็น ระวังว่าการเหยียบเท้ากันไปมาระหว่างสองพรรค ในที่สุดผู้ว่าฯ กทม. ประชาขนอาจจะไม่เลือกทั้งสองพรรค ถ้าทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงแล้วชาวกรุงเทพฯ ย่อมเห็นได้
การแก้ไขปัญหาของกฎระเบียบและกฎหมายที่มีปัญหาต้องดูแบบอย่างที่ Trump ใช้กฎหมาย emergency act ซึ่งจะใช้เมื่อเกิดสงครามหรือภาวะวิกฤต ทำให้สามารถมีคำสั่งให้บริหารงานเรื่องยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยการหายใจ อุปกรณ์ PPE ได้อย่างคล่องตัวมีประสิทธิภาพ เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายอยากให้รัฐบาลทำมานานแล้ว ทำช้าดีกว่าไม่ทำ ไม่ต้องกลัวเสียหน้า เสียอำนาจ
การบริหารงานทรัพยากรทางการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งกำลังเหนื่อยล้าเต็มทนเพราะทำงานเต็มกำลังมาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงขอความเห็นใจว่าขณะนี้โรงพยาบาล เตียง ICU ได้ถูกใช้จนเต็มพิกัดแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ใช้งานอย่างเต็มที่แล้วจริงหรือ เราเข้าตาจนแล้วหรือ เราเข้าใกล้สถานการณ์แบบในอินเดียแล้วหรือ
คำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขคงจะเป็นงานในกระทรวงสาธารณสุข แต่ประเทศไทยมีหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยดูแลประชาชนในเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กทม. องค์กรส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่ครองเตียงจำนวนมาก หน่วยงานเหล่านี้ยังมีทั้งเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมทั้งบุคลากร ยังคงมีศักยภาพที่ซ่อนเร็นอยู่ แต่ไม่มีการจัดการ บูรณาการที่มีประสิทธิภาพในการที่จะจัดการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์เต็มที่ในยามวิกฤตเช่นนี้
เรามีนักบริหารงานเก่งๆ ที่ไม่ใช้นักการเมืองอยู่มากมาย ไม่เกินกำลังของนักบริหารงานมืออาชีพเหล่านี้ที่จะจัดการ เพียงแต่พวกเขาไม่มีโอกาส เพราะนักการเมืองกลัวเสียผลประโยชน์และกลัวว่าอำนาจจะหลุดมือไป ในปี 2021 มีโรงพยาบาลเอกชนที่สร้างเสร็จที่ทันสมัยมีกำหนดเปิดอยู่หลายโรงพยาบาล แต่ต้องมาสะดุดเพราะเกิดการระบาดของ Covid-19 เตียงว่างนับพันเตียง รัฐบาลไม่มีวิธีการที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านี้เลยหรือ การเปิดโรงพยาบาลสนามเป็นสิ่งดี แต่โรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ เพราะจะช่วยชีวิตและรักษาสุขภาพของพวกเขาได้
ในวันที่ 30 กรกฎาคมมีคนป่วย COVID-19 รอเตียงอยู่ราว 6,000 คน และจะมากขึ้นไปอีก อย่าทำให้ประชาชนรู้สึกเคว้งคว้างไร้ที่พึ่ง หมดหวัง เสียชีวิตหรือคอยรอเตียงอยู่ที่บ้าน อย่าให้ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกว่าประเทศไทยเคยเกิดภาวะที่หดหู่เศร้าใจเช่นนี้
การลงทุนใน COVID-19 เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด IMF ได้กล่าวไว้ เพราะจะช่วยรักษาชีวิตที่ประเมินคุณค่าไม่ได้ และแต่ละวันที่ผ่านไปมูลค่าที่สูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ธุรกิจเปิดไม่ได้ ดอกเบี้ยยังเดินทุกวัน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 เราเสียรายได้เพราะ COVID-19 ไปถึง 3 แสนล้านบาท การจัดหาวัคซีน Covid-19 สำหรับประชาชนเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญในการแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้ เราดูเหมือนจะเผชิญปัญหามากมาย ทีมคณะกรรมการจัดหาเป็นข้าราชการทำงานแบบระบบราชการ แต่ละคนมีงานประจำที่มากอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงของการระบาดหนัก การประชุมต้องใช้เวลา ที่สำคัญควรต้องประชุมบ่อยเพราะสถานการณ์และปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา เราจึงได้เห็นภาพที่ประชาชนแออัดที่สถานีกลางบางซื่อในวันที่ 27 กรกฎาคม 2021
เราไม่มีความหลากหลายในคณะกรรมการ จัดหาวัคซีน การเจรจาการค้าต้องการผู้ชำนาญในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นงานของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่หน้าที่ที่คุ้นเคยของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ การเจรจาต่อรองต้องอาศัยการทูตในบางกรณีโดยเฉพาะในโลกของการเมืองระหว่างประเทศ Vaccine Diplomacy แต่ไม่มีคนจากกระทรวงต่างประเทศในคณะกรรมการจัดหาวัคซีน การเจรจาจะให้ได้ผลระดับผู้นำประเทศต้องมาเจรจาเอง นายกฯ อิสราเอล Nethalyahoo คุยโทรศัพท์ กับ CEO ของ Pfizer ถึง 20 ครั้งในปลายปื 2020 นายกฯ ญี่ปุ่นเยือนอเมริกาในต้นปี 2021 พบ Biden และคุยเจรจากับ CEO ของ Pfizer เรื่องวัคซีน ประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายให้สมดุลต่อ vaccine diplomacy ของประเทศมหาอำนาจ อเมริกาได้บริจาควัคซีน Pfizer ให้ไทย 1.5 ล้าน doses และกำลังจะบริจาคให้อีก 1 ล้าน dose ตามคำแถลงของสมาชิกรัฐสภา Tammy Duckword
จีนขายและบริจาควัคซีนจีนให้ไทยหลายล้าน dose การทำงานในการแก้ไขวิกฤตยังคงเป็นไปตามระบบราชการ มีปัญหาจากกฎระเบียบของราชการมากมาย กฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ผู้บริหารโรงพยาบาลต่างๆ ขยายเตียงและจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ไม่ทันการณ์ การเบิกจ่ายเงินสำหรับโรงพยาบาลเอกชนสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ยังคงทำเหมือนภาวะปกติ คนชั้นกลางและคนมีเงินยังคงต้องดิ้นรนหาเตียงเมื่อป่วยเป็น Covid-19 คนเหล่านี้ถูกบังคับให้มาแย่งเตียงผู้ป่วยจากคนจนในโรงพยาบาลของรัฐทั้งๆ ที่มีกำลังซื้อ ปัญหาจากการเมือง ทีมงานในรัฐบาลมีนักการเมืองจากหลายพรรคทำให้การทำงานขาดเอกภาพ มีการกระจายวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ฐานเสียงในพื้นที่แทนที่จะกระจายตามความมากน้อยของการระบาด
ปัญหาการทำงานเป็นทีม มีหน่วยงานทางสาธารณสุขหลากหลายในกรุงเทพฯ ต่างไม่ขึ้นต่อกัน จึงได้เห็นภาพผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ทะเลาะกับอธิบดีกรมควบคุมโรคต่อหน้านายกฯ เรื่องการกระจายวัคซีนในกรุงเทพฯ องค์การเภสัชฯ ฟ้องเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนดังเรื่องการจัดซื้อวัคซีน Pfizer เราคงจะทำงานกันแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะมีชีวิตของผู้คน คนไทยเป็นเดิมพันจำนวนมาก
ประเทศไทยเคยผ่านวิกฤตครั้งสำคัญมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การล่าเมืองขึ้นของตะวันตก สงครามโลกครั้งที่สองในครั้งนี้เราก็คงไม่สิ้นหนทาง คงไม่เกิดโศกนาฏกรรมที่หดหู่ใจขึ้นถ้าทุกฝ่าย และรัฐบาลร่วมมือร่วมใจสามัคคีใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เราคงไม่ถึงตาจน”