xs
xsm
sm
md
lg

หมอเตือน! ชาวบ้านเก็บเห็ดระวัง “เห็ดพิษ” หน้าตาคล้ายคลึงเห็ดไข่ห่าน กินแล้วถึงตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.รังสฤษฎ์ โพสต์ภาพเห็ดพิษ เตือนภัยชาวบ้านที่นิยมเก็บเห็ดไปรับประทานและขาย ให้เพิ่มความระมัดระวังเห็ดกลุ่มระโงกพิษ ซึ่งมีหน้าตาคล้ายเห็ดไข่ห่าน หากทานแล้วถึงตายได้

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. เฟซบุ๊ก “Rungsrit Kanjanavanit” หรือ นพ.รังสฤษฎ์ เรืองกาญจนวณิชย์ หรือ หมอหน่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ภาพเห็ดพิษ ซึ่งมีความคล้ายกับเห็ดไข่ห่าน ซึ่งชาวบ้านนิยมมาเก็บไปขายและรับประทาน โดยระบุว่า “วันก่อนเดินเที่ยวป่าเต็งรัง เจอชาวบ้านหลายสิบคน ออกไปหาเห็ดไข่ห่าน ตั้งแต่เช้ามืด เอาไปขายตลาดกัน ผมเจอเห็ดนี้ ชาวบ้านเก็บมา แต่ทิ้งไว้ข้างทาง ดีแล้วครับ ขืนเอาไปขาย ไปกิน เกิดโศกนาฏกรรมหมู่แน่ มันเป็นตระกูล Amanita sp. เหมือนกันกับเห็ดไข่ห่าน มีลักษณะคล้ายกัน แต่เป็นพวกก้านตัน (ระโงกตีนตัน) เห็ดชนิดนี้ มี alpha-Amanitoxin มีร้ายแรงต่อตับ กินได้ แต่ชีวิตนี้ กินได้ครั้งเดียว ดอกเดียว ตาย”

ทั้งนี้ การกินเห็ดป่าในกลุ่มระโงกพิษซึ่งมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นต่างไปในแต่ละภาค ในภาคเหนือเรียกเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงาก เห็ดระโงกตีนตัน และเห็ดไข่ตายซาก (ฮาก) เป็นต้น รูปร่างทั่วไปจะคล้ายคลึงมากกับเห็ดที่กินได้ โดยเฉพาะเห็ดอ่อนที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ หรือดอกยังบานไม่เต็มที่ สารพิษที่พบในเห็ดสกุลนี้ที่สำคัญและมีพิษรุนแรงมากที่สุด คือ อะมาท๊อกซิน (Amanitin) และฟาโลท็อกซิน (Phalloidins) เป็นสารพิษที่ไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน อาการอาจเกิดตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง หลังจากกินเห็ดชนิดนี้ แต่โดยส่วนใหญ่มักเกิดอาการค่อนข้างช้า คือ ประมาณ 6-12 ชั่วโมง ทำให้กว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เห็ดก็ถูกดูดซึมไปจากทางเดินอาหารเกือบหมดแล้ว การล้างท้องจึงมักไม่ค่อยได้ผล อาการแรกๆ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ โดยจะแสดงอาการประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่จะตรวจพบเอนไซม์ตับสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาเกิดภาวะตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง อาการจะรุนแรงมากขึ้น มีระบบเลือด หายใจ และอวัยวะภายในล้มเหลวและเสียชิวิตจากภาวะตับหรือไตวาย ภายในระยะเวลา 4-16 วัน หลังการกินเห็ดพิษชนิดนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น