กรมสรรพสามิต-กรมศุลกากรยัน “ผ้าอนามัยแบบสอด” ไม่เสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย 30% เสียแค่แวต 7% การประกาศให้เป็น “เครื่องสำอาง” เพื่อควบคุมคุณภาพตามกฎหมายสาธารณสุขเท่านั้น ด้าน “รองโฆษกรัฐบาล” แจงจัดเป็นเครื่องสำอางตั้งแต่ปี 2528 แต่หลุดนิยามไปในปี 2558 ครั้งนี้จึงออกกฎกระทรวงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย
วันนี้ (22 ก.ค. 64) จากกรณีราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอาง ทำให้ชาวเน็ตนำไปปั่นกระแสวิจารณ์รัฐบาลแบบผิดๆ ว่าจะทำให้ต้องเก็บภาษีเพิ่มเป็น 30%
ล่าสุด นายลวรรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า กรมสรรพสามิตไม่มีนโนบายการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยตามที่เป็นข่าว และไม่เคยมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงรายการเดียว คือ น้ำหอม ในอัตราภาษีตามมูลค่า 8%
ทั้งนี้ ปัจจุบันผ้าอนามัยเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% เท่านั้น ไม่ได้เสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยหรือมีเพดานการจัดเก็บภาษี 30% ตามที่เป็นข่าว เพราะสินค้าผ้าอนามัยไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่สตรีต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ถ้าไม่มีใช้ ก็ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าส่งผลกระทบก็ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย
ขณะที่ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอางว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี แต่เพื่อเป็นการควบคุมตามกฎหมายของสาธารณสุข โดยในส่วนของกรมศุลกากรยืนยันว่าไม่มีนโยบายเพิ่มอัตราภาษีสินค้าผ้าอนามัยแบบสอดแต่อย่างใด ที่สำคัญ หากมีการนำเข้าโดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ก็จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอีกด้วย
ทางด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ว่า ... ยืนยัน ผ้าอนามัย เป็นสินค้าควบคุม ไม่ขึ้นภาษี
ชี้แจง ประกาศราชกิจจาฯ ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง ดังนี้
1. ปัจจุบันมีผ้าอนามัย 2 ชนิด คือ ผ้าอนามัยใช้ภายนอก และชนิดสอด ทั้ง 2 ชนิดถูกจัดเป็นเครื่องสำอางตั้งแต่ปี 2528 เพราะเข้ากับนิยามเครื่องสำอาง คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ฯลฯ
2. ปี 2558 มีการแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องสำอางใหม่ มีการแก้ไขนิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ทำให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” หลุดจากคำนิยามของเครื่องสำอาง แต่ผ้าอนามัยใช้ภายนอกยังเป็นเครื่องสำอาง
3. จึงเป็นเหตุผลให้ต้องออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอด เป็นเครื่องสำอาง
4. ผ้าอนามัยเป็น 1 ในรายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือถึง 30% ภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ