xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 11-17 ก.ค.2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1. โควิดคร่าชีวิตนักธุรกิจดัง “ณรงค์ โชควัฒนา” ด้าน “บิ๊กตู่” เตรียมยกระดับการล็อกดาวน์ หลังผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตพุ่ง!

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุด ทะลุหมื่นรายต่อวัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตทะลุหลักร้อย โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,656 ราย เสียชีวิต 80 คน, วันที่ 13 ก.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,685 ราย เสียชีวิต 56 คน, วันที่ 14 ก.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,317 ราย เสียชีวิต 87 คน, วันที่ 15 ก.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,186 ราย เสียชีวิต 98 คน, วันที่ 16 ก.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,692 ราย เสียชีวิต 67 คน ล่าสุด (17 ก.ค.) ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,082 ราย เสียชีวิต 141 คน

ทั้งนี้ โควิดได้คร่าชีวิตนักธุรกิจดัง คือ ดร.ณรงค์ โชควัฒนา ผู้บริหารเครือสหพัฒน์ ในวัย 77 ปี โดยเสียชีวิตวันที่ 17 ก.ค. สำหรับ ดร.ณรงค์ จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ณรงค์ เป็นนักวิชาการและนักธุรกิจอิสระ งานด้านสังคม เป็นประธานกลุ่มเศรษฐกิจ มูลนิธิ คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฯลฯ

หลังข่าวการเสียชีวิตของ ดร.ณรงค์ ได้มีบุคคลหลายแวดวงเขียนไว้อาลัยต่อการจากไปของ ดร.ณรงค์ เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า "บ้านนี้เมืองนี้สูญเสียคนดี คนเก่ง คนคิดนอกกรอบนอกความเคยชินเดิม ๆ ไปอีกคนแล้วเมื่อคืนนี้ เพราะโควิด-19 ได้เคยร่วมงานกับท่านทั้งในช่วงเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2449-2551 ชุดเดียวกับคุณสมชาย สกุลสุรรัตน์ ที่เดินทางล่วงหน้าไปก่อนเมื่อ 10 วันก่อน และในวงต่อสู้อีกหลายประเด็นในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ยากครับที่คนในวงการธุรกิจทุนใหญ่อย่างท่านจะคิดเห็นเพื่อคนยากไร้อย่างเต็มกำลังสติปัญญา สู่สุคติสู่ภพภูมิที่ดีครับคุณณรงค์ โชควัฒนา"

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า "ด้วยคารวะและอาลัย
แด่ณรงค์ โชควัฒนา นายทุนผู้รักความเป็นธรรม ...ครั้งสุดท้ายที่เห็น ท่านยังแข็งแรงและแสดงความคิดเรื่องมาตรการรับมือกับโรคโควิด-19 อย่างน่ารับฟังมาก นึกไม่ถึงว่า จู่ๆ ท่านจะจากไปด้วยด้วยโรคระบาดที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น สังคมไทยจึงไม่เพียงสูญเสียพลเมืองตื่นรู้ผู้มีศักยภาพในการต่อสู้กับภัยโควิดเท่านั้น แต่ยังสูญเสียนายทุนผู้รักการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะและรักความเป็นธรรมเป็นชีวิตจิตใจ"

ด้านครอบครัวตระกูล "โชควัฒนา" ได้เขียนไว้อาลัยต่อการจากไปของ ดร.ณรงค์ โชควัฒนา ตอนหนึ่งว่า "ณรงค์ โชควัฒนา นักสู้เพื่อความยุติธรรม ...คุณณรงค์เป็นคนชอบหาความรู้และทดลองสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ...ตลอดชีวิตคุณณรงค์ ได้ทำงานเพื่อสังคม มีความตั้งใจที่จะพัฒนาสมุนไพรไทยให้เป็นยารักษาโรค และช่วยเหลือเกษตรกร จึงไปเรียนหลักสูตรแพทย์แผนไทย คุณณรงค์เป็นนักสู้ อดทน และทำงานหนักเพื่อผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน ในชีวิตมีแต่ให้ ทั้งสอน ทั้งช่วย เพื่อให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่รักของพนักงานเป็นอย่างมาก..."

ด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ส่งสัญญาณว่า หลังจากนี้จะมีการยกระดับการล็อกดาวน์ให้เข้มงวดมากขึ้น หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดยังไม่ลดลง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยระบุว่า "หลังจากที่ผมได้ประกาศยกระดับการควบคุมสถานการณ์ใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิวและจำกัดการเดินทาง ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. วันนี้ ผมได้เรียกประชุม ศบค.เป็นวาระพิเศษ โดยได้เชิญคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และความจำเป็นในการปรับแผนการ"

"หากยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น สถานการณ์อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก จนมีผลร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุข ที่ประชุมจึงมีมติว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางของประชาชนให้มากที่สุด และเพิ่มการปิดสถานที่ต่างๆให้เหลือเท่าที่จำเป็น รวมทั้งการออกกฎการทำงานที่บ้านอย่างสูงสุด ซึ่งคณะแพทย์ที่ปรึกษาจะทำการปรึกษาหารืออย่างละเอียดรอบคอบ โดยศึกษาจากรูปแบบการล็อกดาวน์ในประเทศต่างๆ เพื่อทำเป็นมาตรการเสนอต่อ ศบค. อย่างเร่งด่วน เพื่อดำเนินการโดยเร็วที่สุด"

"ผมขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม และจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ได้เตรียมความพร้อมในการยกระดับการควบคุมการเดินทางที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดในแต่ละจังหวัด โดยให้คงความเข้มงวด แต่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุด้วยว่า "ในการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นนี้ ย่อมมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมแผนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไว้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการคลังของประเทศ…”
พล.อ.ประยุทธ์ ยังทิ้งท้ายด้วยว่า "ผมขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนร่วมกันตระหนักถึงความจำเป็นที่เราอาจจะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมากขึ้นในเร็วๆ นี้ และอาจจะทำให้เราได้รับผลกระทบ ได้รับความไม่สะดวกในหลายๆ อย่าง แต่ขอให้พี่น้องประชาชนทุกท่านได้เข้าใจว่า ทุกมาตรการที่ออกมา มาจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งทางด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ และผมเชื่อว่า หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันได้อย่างเต็มที่ ประเทศไทยจะต้องฝ่าวิกฤตนี้ไปได้โดยเร็วที่สุด"

ล่าสุด (17 ก.ค.) มีรายงานว่า ได้มีการประชุมด่วน ศปก.ศบค. พิจารณาการเพิ่มมาตรการควบคุมโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหลักหมื่น และผู้เสียชีวิตทะลุหลักร้อย โดยที่ประชุมมีการเสนอแนะมาตรการลดการเคลื่อนที่ให้มากขึ้น และมีการเสนอให้ปิดกิจกรรม กิจการที่เสี่ยงทุกอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยกเว้นการขนส่งสินค้า การขายอาหาร ยา วัคซีน การสื่อสาร และสาธารณูปโภค

ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวสะพัดว่า ศบค.เตรียมยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 เข้มงวดเทียบเท่าเมื่อเดือน เม.ย.2563 โดยงดการเดินทางข้ามจังหวัด ปิดสถานที่เสี่ยง เคอร์ฟิวทั่วประเทศ โดยอาจจะเริ่มวันจันทร์ที่ 19 ก.ค.นี้ โดยกิจการที่จะยังเปิดได้ตามปกติ คือ โรงพยายาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านอาหารในส่วนที่ไม่ใช่สถานบันเทิง หรือสถานบริการ และแผงจำหน่ายอาหาร ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้าส่วนแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แแผนกสินค้าเบ็ดเตล็ด ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ตลาดและตลาดนัดส่วนอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงรส อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์และสินค้าเบ็ดเตล็ด แก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส การให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้ำ รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามประกาศและความชัดเจนจาก ศบค.อีกครั้งว่าจะเหมือนกับที่มีกระแสข่าวหรือไม่

2.รัฐบาลทุ่มงบ 4.2 หมื่นล้านเยียวยาผลกระทบล็อกดาวน์ 10 จังหวัด ลดค่าน้ำ-ไฟให้ ปชช.ทั่วประเทศ!


หลังจาก ศบค.ได้ใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการล็อกดาวน์ 6 จังหวัดกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และยกระดับควบคุมการแพร่ระบาดใน 10 จังหวัด ซึ่งรวมถึงสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. เช่น ห้ามนั่งกินในร้านอาหาร, ปิดห้างสรรพสินค้า เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาเก็ต ร้านอาหารเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยา และเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารรวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังใช้มาตรการเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. ฯลฯ

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการล็อกดาวน์ดังกล่าวแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันเดียวกันได้เห็นชอบมาตรการต่างๆ แล้ว ได้แก่ 1. มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม

กลุ่มที่ 1 : 9 หมวดกิจการ (เพิ่มเติมจากเดิม 4 หมวด) ประกอบด้วย 1) ก่อสร้าง 2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3) ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4) กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ 5) ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์ 6) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9) ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร

กลุ่มที่ 2 : 5 กิจการของถุงเงิน (เพิ่มเติมจากเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ประกอบด้วย 1) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 2) ร้าน OTOP 3) ร้านค้าทั่วไป 4) ร้านค้าบริการ 5) กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)

สำหรับระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา คือ 1 เดือน (อาจมีการขยายต่อตามสถานการณ์) ภายใต้กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยการเยียวยาจะแบ่งตามกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1.ลูกจ้าง ม.33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท 2.นายจ้าง ม.33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน

3. สำหรับผู้ประกันตนตาม ม.39 และ ม.40 รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ 5,000 บาทต่อคน 4. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance) ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)

5. ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2

6. ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)

7. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2

8. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “ไม่มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)

2. มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน สำหรับประชาชนทั่วประเทศ ภายใต้กรอบวงเงิน 12,000 ล้านบาท ได้แก่ 2.1 ค่าไฟฟ้า ให้มีการลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ ก.ค. และ ส.ค. 2564

สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก ส่วนบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้คิดดังนี้ 1) หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือน ก.พ. 64 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง 2) หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือน ก.พ. 64 หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 3) หากใช้ 501 - 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ. 64 ในอัตราร้อยละ 50

หากใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ. 64 ในอัตราร้อยละ 70 ทั้งนี้ ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับกิจการขนาดเล็ก ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก ส่วนกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ให้ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564

2.2 ค่าน้ำประปา ลดร้อยละ 10 สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ระยะเวลา 2 เดือน (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ ก.ค.และ ส.ค. 2564

3. มาตรการความช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนด้านอื่นๆ ได้แก่ 3.1 มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา โดย ครม. เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัด เพื่อกำหนดแนวทางลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในภาคเรียนที่ 1/2564 และให้จัดทำโครงการที่รัฐร่วมสมทบส่วนลดบางส่วนให้แก่สถานศึกษา ให้เสนอ ครม. ภายใน 1 สัปดาห์ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางการเงินแก่สถานศึกษาเอกชนด้วย

3.2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หารือกับธนาคารพาณิชย์ ดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง และกำหนดมาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือประชาชนสำหรับผู้ให้บริการนอกระบบการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำหนดมาตรการจริงจังสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชนด้วย และให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุด้วยว่า “การเยียวยาในครั้งนี้ แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณพอสมควร แต่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และมีความจำเป็น เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนได้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ผมขอให้พวกเราทุกคนไม่ยอมแพ้ต่อช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผมและรัฐบาลจะหาทางช่วยทุกท่านให้ได้มากที่สุด และจะไม่มีวันยอมแพ้ต่อสงครามครั้งนี้ ไม่ลดละเลิกล้มความพยายาม ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือปัญหาใดๆ และจะสู้จนกว่าเราจะเอาชนะได้ครับ"

3. ศาลปกครอง สั่งคุ้มครองชั่วคราว “พล.ต.อ.วิระชัย” ปมถูกสั่งสำรองราชการ ส่งผลกลับเข้าทำงานเหมือนเดิม จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา!



จากกรณีที่ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ถูก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งสำรองราชการ หลังถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และถูกร้องทุกข์ดำเนินคดี กรณีถูกกล่าวหาดักฟัง เผยแพร่ข้อมูลการสนทนา ระหว่าง พล.ต.อ.วิระชัย กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เมื่อต้นปี 2563 จากกรณีที่คนร้ายยิงรถ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ9) และต่อมา พล.ต.อ.วิระชัย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งสำรองราชการ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยหลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการแล้ว พล.ต.อ.จักรทิพย์ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เพื่อให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามนัยมาตรา 51 (1) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 แทน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า เมื่อ พล.ต.อ.วิระชัย ได้รับคำสั่งให้สำรองราชการแล้ว พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะไม่สามารถเสนอชื่อ พล.ต.อ.วิระชัย ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้ เพราะ พล.ต.อ.วิระชัย ถูกสำรองราชการอยู่

ดังนั้นจึงเห็นว่า พฤติการณ์ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางการปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ 2539 และกรณีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการนี้ ไม่ใช่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลโดยไม่มีทางแก้ไข การสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการ จึงไม่อยู่ในข้อยกเว้นของ มาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ คำสั่งสำรองราชการของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลทำให้ประกาศของนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจ (พล.ต.อ.วิระชัย) พ้นจากตำแหน่ง น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

จึงมีเหตุอันสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ผลของคำสั่งศาลปกครองกลางทำให้ พล.ต.อ.วิระชัย กลับมาดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามเดิมนับตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ออกคำสั่งสำรองราชการ จึงเสมือนว่าไม่เคยมีคำสั่งสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย มาก่อน และเสมือนว่าไม่เคยมีประกาศสำนัก นายกมนตรี ที่ให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษามาก่อนแต่อย่างใด

ด้าน พล.ต.อ.วิระชัย ได้เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามเดิมเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมยืนยันว่า ไม่โกรธใครที่ตนถูกสั่งสำรองราชการและพ้นจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก่อนหน้านี้

4. ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด "เชาวนะ" เลขาธิการศาล รธน.กับพวก ทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์ เตรียมชงศาลอาญาคดีทุจริตดำเนินคดี!



เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล โฆษกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ได้พิจารณาคดีข้อกล่าวหากรณีเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาเกี่ยวกับการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ จำนวน 281 เครื่องของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มูลค่า 13 ล้านบาทเศษ

โดยพิจารณาแล้วพบว่า มีพฤติการณ์ช่วยล็อกสเปกให้เอกชน เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคา จึงมีมติชี้มูลความผิดนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยี และบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญา 3 บริษัท ซึ่งประกอบด้วย ผู้จัดการบริษัท กรรมการบริษัท และผู้เกี่ยวข้องรวมหลายราย ตามฐานความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 และผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

สำหรับ มาตรา 151 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท

ขณะที่มาตรา 157 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะมีการสรุปสำนวนและแถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง ก่อนส่งสำนวนไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อนายเชาวนะ เพื่อสอบถามถึงกรณีถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ตลอดทั้งวันไม่สามารถติดต่อนายเชาวนะได้เลย ทั้งช่องทางโทรศัพท์และทางไลน์

5. "สินมั่นคง" ประกาศยกเลิกประกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบ อ้างโควิดระบาดรุนแรง พร้อมคืนเบี้ยลูกค้า ด้าน คปภ. ขู่ฟัน ชี้ เอาเปรียบ ปชช.!



เมื่อวันที่ 16 ก.ค. บริษัท สินมั่นคง ประกันภัย ได้ออกประกาศแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ และจะคืนเงินให้ลูกค้า โดยให้เหตุผลว่า "สืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง จึงนับเป็นภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขในระดับที่ท้าทายจนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์จะพัฒนาไปสู่จุดใด ส่งผลให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต้องบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ"

"บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จึงมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแบบ เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in 1 ตามแบบและข้อความ หมวดที่ 2 เงื่อนไขทั่วไป และข้อกำหนด ช้อ 2.4.3 และข้อ 2.5.1 โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยข้างต้นสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งฉบับ เมื่อล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันได้รับหนังสือเป็นต้นไป และบริษัทฯ จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ใด้รับมาแล้วแก่ผู้เอาประกันให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่กรมธรรมประกันภัยสิ้นผลบังคับ โดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน"

"การตัดสินใจดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยความห่วงใยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทบทวนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจ และการกำหนดทางเลือกและแนวทาง ที่จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้ความคุ้มครองและดูแลลูกค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดของบริษัทฯ ได้อย่างดีที่สุดและยั่งยืนในระยะยาว สินมั่นคงประกันภัยขออภัยลูกค้าเป็นอย่างสูงที่ได้แจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด"

ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า คปภ.ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย แจ้งบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ เพราะถือว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชนผู้ทำประกันกับสินมั่นคงไปก่อนหน้านี้ และการกระทำดังกล่าวทางสินมั่นคงไม่เคยแจ้ง คปภ.ในฐานะนายทะเบียนแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ หากทางสินมั่นคงไม่ยกเลิกประกาศดังกล่าว ทาง คปภ.ในฐานะนายทะเบียน จะใช้มาตรการหนัก ซึ่งเป็นอำนาจทางกฎหมาย คือการออกคำสั่งให้สินมั่นคง ต้องรับการเคลมประกันในส่วนของกรมธรรม์แบบเจอ จ่าย จบ ตามสัญญาทุกกรณี เพราะการออกกรมธรรม์แบบเจอ จ่าย จบ ทางบริษัทฯ จะต้องประเมินแล้วว่า สามารถดำเนินการได้แต่แรก ส่วนที่ทางสินมั่นคงจะไม่รับการประกันกับลูกค้ารายใหม่ ก็เป็นสิทธิ์ทำได้ แต่ต้องไม่ใช่การยกเลิกรายเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น