“สมหมาย ภาษี” อดีต รมว.คลัง ด้อยค่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เค้าลางความล้มเหลว คนนั่งหอคอยงาช้างคิด หยันแบบนี้เปิดประเทศ 120 วันไหวเหรอ เจอผู้ประกอบการภูเก็ตโต้กลับ ถามรัฐบาลไหนเตรียมงาน มีแต่คนในจังหวัดที่ทำกันเอง คนที่มาเที่ยวก็เคารพกติกา ถามจะปล่อยให้หละหลวมเหมือนกรุงเทพฯ เหรอ ย้ำถ้าโจมตีรัฐบาลอย่าเอาภูเก็ตเป็นเครื่องมือ
วันนี้ (15 ก.ค.) นายสมหมาย ภาษี อายุ 77 ปี อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Sommai Phasee - - สมหมาย ภาษี” หัวข้อ “เค้าลางความล้มเหลวของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ระบุว่า “ก่อนที่จะเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ใช้เวลาเตรียมงานเตรียมการไม่น้อยกว่าสามเดือน ต่างก็ได้ร่วมแรง ร่วมใจ และร่วมคิด เพื่อทำให้โครงการนี้เกิดให้ได้ การปั้นโครงการนี้ขึ้นมาทุกภาคส่วนล้วนเข้าใจดีว่าไม่ใช่การทดลอง แต่เป็นการส่งเสริมและผลักดันร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นโครงการนำร่องในการพลิกผันการท่องเที่ยวให้ฟื้นกลับมา เพื่อจะได้นำไปทำในจุดเป้าหมายการท่องเที่ยวอื่นอีก ซึ่งผ่านไปแค่หนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ทางฝั่งเกาะสมุยก็เริ่มรับลูกที่จะเปิดโครงการสมุยพลัสโมเดล (Samui Plus) ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะรวมพื้นที่ของเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าที่สวยงามทางฝั่งตะวันออกเข้าด้วยกัน
หลังจากมีการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมาแล้ว ผมได้รับคำถามจากเพื่อนๆ หลายคนว่า ภูเก็ตจะฟื้นแล้วใช่ไหม น่าอิจฉาจังที่ภูเก็ตมีทิวทัศน์และธรรมชาติที่สวยงาม สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ก่อนใครอื่น เมื่อผมถามเพื่อนกลับไปว่ารู้ได้อย่างไรว่าโครงการนี้จะดี ก็ได้รับคำตอบว่าก็ฟังข่าวจากสื่อส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งจากข่าวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ขยันออกข่าวด้วย
ถ้าโครงการนี้จะได้ผลดีจริงอย่างที่เพื่อนผมเข้าใจ และถ้าโครงการนี้จะดีจริงตามที่การท่องเที่ยวได้ออกข่าว ผมคงจะไม่เขียนบทความชิ้นนี้ออกมาแน่ โดยที่ผมเองเป็นคนภูเก็ตที่ได้สัมผัสกับการท่องเที่ยวที่ภูเก็ตมาไม่น้อยกว่า 40 ปีแล้ว จึงได้กลิ่นของความไม่น่าจะผลิดอกออกผลอย่างที่ภาครัฐได้วาดฝันไว้
ตรงกันข้าม สิ่งที่ผมได้มองลึกลงไปแม้ว่ายังเป็นขั้นเพิ่งเริ่มต้นของโครงการก็ตาม แต่เห็นได้ชัดว่าความสำเร็จที่ผู้นั่งอยู่ในหอคอยงาช้างคาดคิด และที่นักธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวคาดหวัง จะไม่เป็นไปตามนั้นอย่างแน่นอน เพราะเหตุใดหรือ โปรดติดตามผมไปอีกหน่อยครับ
ประการแรก หน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวมีแนวความคิดที่เป็นลบต่อการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวคือ ได้วางกรอบความคิดที่จะป้องกันการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวอย่างรัดกุมมากเกินไป โดยได้กำหนดให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับใบอนุญาตให้เข้าภูเก็ตที่เรียกว่า Certificate of Entry หรือ COE แล้ว และได้เข้าพักที่โรงแรมแล้ว จะต้องผ่านระบบตรวจสอบและการติดตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมากมาย อย่างเช่นระบบ Daily Scan Sandbox ที่ต้อง Scan QR Code รายวันกับโรงแรมที่พักเพื่อส่งข้อมูลเข้าระบบของหน่วยงานการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากทำให้นักท่องเที่ยวรำคาญแล้ว นักท่องเที่ยวสูงวัยสองคนตายายที่มาเที่ยวกันแต่ละปีจำนวนมากก็จะทำไม่ได้หรือรับไม่ได้ คนธรรมดาอย่างผมจึงไม่เข้าใจว่าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นี้ ประเทศไทยต้องการที่จะจูงใจให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอยากมาเที่ยวไทยเหมือนเดิม หรือว่าเราต้องการให้นักท่องเที่ยวเขามาอ้อนวอนขอมาเที่ยวบ้านเรา
ไม่เพียงแต่แนวคิดที่เป็นลบเท่านั้น การกระทำที่เป็นลบก็มีออกมา ที่สำคัญคือ การกำหนดโดย ศบค.ให้มีการตรวจการติดเชื้อที่เรียกกว่า RT-PCR (Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction) กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาภูเก็ตถึง 3 ครั้งในช่วงที่ต้องอยู่ที่ภูเก็ตอย่างน้อย 14 วัน ครั้งแรกตรวจเมื่อเข้าสนามบินภูเก็ตซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น นักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าตรวจ 2,400 บาท ครั้งที่สองหลังอยู่มา 5-6 คืน ตรวจที่ศูนย์ของโรงพยาบาลใกล้โรงแรมที่พัก ต้องจ่าย 2,800 บาท ครั้งที่สามหลังอยู่มา 12-13 คืน ตรวจที่เดียวกับครั้งที่สอง ต้องจ่าย 2,800 บาท รวมที่นักท่องเที่ยวต้องจ่ายสำหรับการตรวจ 3 ครั้ง 8,000 บาทต่อคน ถ้า ศบค.เข้าใจนักท่องเที่ยวดี การตรวจเช็ก 2 ครั้งหลังนี้น่าจะทำเพียงครั้งเดียวก็พอ
นักท่องเที่ยวเจอแบบนี้ส่วนหนึ่งต้องเปลี่ยนแผนการเดินทาง เพราะเขาผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 โดส ทำไมต้องตรวจมากครั้งอย่างนี้ และค่าตรวจก็แพงเกินเหตุ ไม่ทราบว่าผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทราบไหมว่าค่าเครื่องบินจากเมือง Perth ประเทศออสเตรเลียมาภูเก็ต ราคาไม่เกิน 11,000 บาท และทราบไหมว่าช่วงนี้โรงแรมระดับ 4 ดาวที่ภูเก็ตคิดค่าห้องพักไม่ถึง 2,800 บาทต่อคืน ทุกอย่างราคาถูกหมด แล้วทำไมมากำหนดให้การตรวจเช็กโควิดของโรงพยาบาลโก่งราคาสูงเกินเหตุกว่าเท่าตัว
ประการที่สอง นักท่องเที่ยวที่ชอบมาเที่ยวเมืองไทยนอกจากจีน ซึ่งประเทศเขายังไม่ยอมให้คนของเขาออกมาเที่ยวในช่วงนี้ จะมีที่สำคัญคือจากประเทศแถบยุโรปและออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นหลัก ซึ่งประเทศเหล่านี้ขณะนี้เขาแทบเลิกใส่มาสก์กันแล้ว เขากำลังผ่านขั้นตอนของการอยู่ร่วมกับโควิดได้แล้ว แต่สำหรับประเทศไทยทุกคนยังต้องใส่มาสก์ โดยยังมีคนติดเชื้อโควิดรายวันและคนตายเพราะโควิดสูงอยู่ ขณะนี้ประเทศไทยมีคนติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ในอันดับที่ 60 ของโลก และตัวเลขคนติดเชื้อรายวันยิ่งสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก นักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อเห็นตัวเลขนี้เขาก็จะฝ่อ ผู้บริหารประเทศและหน่วยงานที่รับผิดชอบการท่องเที่ยวคิดได้อย่างไรว่านักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยวเมืองไทยกันนักกันหนา
จากเหตุที่กล่าวข้างต้น เมื่อมาดูตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตในช่วง 14 วัน ตั้งแต่เปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ตามตัวเลขทางการมีแค่ประมาณ 5,400 คน ใช้ห้องพักประมาณ 37,800 คืน (Room night) (คิดจากจำนวนคนหาร 2 คูณด้วย 14 คืน) แต่จากยอดจองห้องพักในเดือนกรกฎาคมทั้งเดือนที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเปิดเผยจะมีถึง 149,096 คืน ยอดจองห้องพักที่ขายได้จริงในครึ่งเดือนจึงมีแค่ 25.4 % ของยอดเป้าหมายทั้งเดือน อย่างนี้จะเปิดประเทศใน 120 วัน ไหวหรือลุง
ไม่อยากจะสรุปว่า ได้เกิดเค้าลางของความล้มเหลวของโครงการนำร่องที่ชื่อภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นี้เลย ถ้าโครงการนี้ไม่ได้ผลก็จงอย่าคิดถึงเรื่องการพลิกฟื้นของการท่องเที่ยวในปลายปีนี้ให้เสียเวลา ใคร่ขอเตือนด้วยความรักต่อสมาคมท่องเที่ยวที่ดูแลเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ที่ได้เตรียมพร้อมจะเปิดโครงการสมุยพลัสโมเดลในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ขอให้ไตร่ตรองกันให้ดีก่อนทำ
ณ วันนี้ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งมวลขอให้อดทนไว้และทำใจให้ได้ อย่างน้อยควรดูกันให้ครบ 120 วันเสียก่อนอย่าผลีผลาม เพราะการแก้ไขการระบาดของโควิด-19 จะไม่ดีขึ้นในเร็ววัน เพราะความไม่โปร่งใสและเพี้ยนๆ ในการจัดหาวัคซีนโดยรัฐบาลตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้กำลังถูกตีแผ่ว่ามีเรื่องความไม่ชอบมาพากลเข้ามาเกี่ยวข้อง จนกระทั่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้เขียนบทความออกมาชัดเจนเร็วๆ นี้ ระบุว่ารัฐบาลบริหารโควิดผิดพลาด รวมทั้งละเลยและล้มเหลว ต้องตั้งกรรมการอิสระระดับชาติสอบหาผู้รับผิดชอบ
ส่วนด้านการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยังไร้ผลและประชาชนทั่วไปรับไม่ได้ การผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจของการจ้างงานก็จะไม่ได้ผลดังที่ได้ชี้ให้เห็นแล้ว ขณะที่การก่อม็อบเพื่อขับไล่ผู้นำของรัฐบาลก็มีทีท่าว่าจะมีแต่รุนแรงขึ้นจนเอาไม่อยู่ สรุปแล้วเหตุการณ์ทุกเรื่องได้ผูกปมให้เห็นว่ารัฐบาลถึงขั้นล้มเหลวแล้ว (Failed Government) อีกไม่นานประชาชนคงได้เห็นความไม่ชอบธรรมทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมแน่นอน”
ปรากฏว่ามีคนที่แสดงความไม่เห็นด้วย เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Nat Hautavanija (แนท เหาตะวานิช) โพสต์ข้อความว่า “คนเขียนไม่ได้ไปดูมาตรการประเทศอื่นนะคะ นี่เรามาอิตาลี อยู่บ้านญาติ ก็ต้องเช็กชื่อทุกวันทางโทรศัพท์ รายงานอาการทุกวัน ตรวจโควิดก่อนขึ้นเครื่องแล้วก็ตอนครบ 10 วัน ทั้งหมด 2 ครั้ง ราคาต่อครั้งก็ประมาณนี้แหละ (ลูก 6 ขวบก็ต้องตรวจ) เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวยุโรปเขาชินกับมาตรการแบบนี้ค่ะ ไม่ต้องเป็นห่วง”
เฟซบุ๊ก Sumonman Waiyakitjakarn ของ น.ส.สุมลมาญ ไวยกิจการ สมาชิกชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิงป่าตอง คอมเมนต์ว่า “ตอบโต้ อดีต รมต.คลัง แบบบรรทัดต่อบรรทัด คุณคะ ภาครัฐที่คุณบอกว่ามาช่วยภาคเอกชนเตรียมงานนี่รัฐบาลไหนหรอคะ เพราะดิฉันเห็นมีแต่คณะทำงานจังหวัดที่เป็นข้าราชการประจำจังหวัดภูเก็ตและภาคเอกชน ที่สร้างสรรค์ความคิดเปิดเมืองด้วย Phuket Sandbox Model นี้
อีกอย่างนะคะ คุณรับข้อมูลข่าวสารมาจากไหนว่าจะมีทิศทางที่ดีหรือไม่ดี คุณบอกว่า คุณสัมผัสการท่องเที่ยวภูเก็ตไม่น้อยกว่า 40 ปีแล้ว แล้วทำไมคุณจึงคิดไม่ออกว่าภูเก็ตมีอะไรที่จะดึงดูดให้ชาวต่างชาติกลับมา ทำไมต้องมีการเปิดเมืองรับชาวต่างชาติและชาวไทยที่อยู่ต่างชาติ ทำไมคิดไม่ออกว่าภูเก็ตจะกลับมาฟื้นตัวด้วยวิธีไหน
คุณบอกว่า ภูเก็ตมีแนวคิดรัดกุมเกี่ยวกับการควบคุมโรคมากเกินไป แล้วคุณจะให้ภูเก็ตหละหลวมเหมือนกรุงเทพฯ และพื้นที่รอบๆ ตัวคุณงั้นเหรอ เพราะภูเก็ตเปิดรับคนที่พร้อมจะมาก่อน คนที่ต้องการจะมาภูเก็ตไม่ว่าจะปลายทางคือภูเก็ตหรือภูเก็ตแค่ทางผ่านก็ตาม ใครไม่พร้อม เขาเคารพกติกา ไม่ต้องไปคิดแทนเขาหรอกค่ะ ทั่วโลกตอนนี้ยังคงมีไวรัสระบาดอย่างไม่หยุด แม้จะมีวัคซีนแล้วก็ตาม อย่างกรุงเทพฯ ตอนนี้เอาให้อยู่ก่อน แล้วค่อยมาตำหนิว่าภูเก็ตรัดกุมการเข้ามาของคนมากเกินไป แนวคิดไหนที่คุณกล่าวว่าลบ เพราะดิฉันเห็นแค่ความคิดของคุณที่ตรรกะวิบัติ มีอคติ หรืออิจฉาภูเก็ต จึงคิดลบกับภูเก็ต แทนที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์หรือติเพื่อก่อสิ่งที่ดี
ก่อนคุณจะวิจารณ์ Phuket Sandbox Model คุณควรจะศึกษารายละเอียดมากกว่านี้ และรับทราบเงื่อนไขมากกว่านี้แล้วค่อยวิจารณ์ให้เสียหาย คุณนั่นแหละที่กำลังเขียนให้ภูเก็ตเกิดความเสียหาย สร้างความเข้าใจผิด เหมือนที่คุณรับข้อมูลผิดๆ มา โรงพยาบาลตรวจคัดกรองโรคโควิด หากเป็นเอกชน เขาตรวจราคานี้ทั่วประเทศตั้งแต่ไม่มี Phuket Sandbox แล้ว โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน และต่างชาติส่วนใหญ่เขาก็ไม่ไปเบียดเสียดรอที่โรงพยาบาลรัฐ บางคนเรียกมาให้ตรวจที่โรงแรมแล้วยอมจ่ายเพิ่มด้วยซ้ำไป ไหนบอกว่าอยู่กับการท่องเที่ยวมานาน แล้วทำไมไม่เข้าใจพฤติกรรมชาวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทย
อีกอย่างหนึ่งที่คุณควรทราบ นักท่องเที่ยวที่มาอยู่ในปัจจุบันเป็นยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และเขามีความสุขและดีใจที่มี Phuket Sandbox Model ที่คุณบอกว่ามีการติดเชื้อจำนวนมากและตายรายวัน น่าจะไม่ใช่ภูเก็ต แต่เป็นรอบๆ บ้านคุณมากกว่านะ
เป้าหมายของรัฐบาลเป็นอย่างไร ดิฉันไม่สนใจ แต่ภูเก็ตมีเป้าหมายชัดกว่า ดังนั้น ถ้าคิดจะโจมตีรัฐบาล อย่าเอาภูเก็ตลงไปเป็นเครื่องมือ
คำว่า “เค้าลางของความล้มเหลว” มาจากปากคุณ ซึ่งเป็นการกล่าวทำลายภาพลักษณ์ภูเก็ตอย่างมาก แต่ความจริงสวนทางโดยสิ้นเชิง เพราะ #ภูเก็ตสบายดี นักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตอย่างปกติ และอยู่ดีทุกวัน
Phuket Sandbox model มีเป้าหมายและการวางแผนที่กำหนดชัดเจน คนภูเก็ตร่วมมือกันทำมาโดยตลอด ปัจจุบันภูเก็ตมีการจ้างงาน ผู้คนมีรายได้ และคนต่างจังหวัดส่วนหนึ่งเริ่มมาหางานทำ นั่นเป็นนิมิตหมายอันดีของการเริ่มต้นการกลับมาของธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต
ดิฉันแนะนำให้คุณคัดกรองโรคแล้วมาดู Phuket Sandbox ด้วยตนเอง อย่ามีนิสัยนั่งเทียนเขียนวิจารณ์คนอื่น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิก็ควรเขียอะไรที่มีวุฒิภาวะมากกว่านี้
#อย่าแก่พร้าวเฒ่าลอกอ #หยุดวิจารณ์หากไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด #SafePhuket”
นอกจากนี้ ยังคอมเมนต์ต่อว่า “มีคนบอกว่าคุณคือคนภูเก็ต ดิฉันว่าคุณไม่ใช่คนภูเก็ตหรอก ถ้าเป็นคนภูเก็ตจะไม่เขียนอะไรแบบนี้” และคำว่า “ลุง ปลดเกษียณไปแล้ว ดิฉันในนามคนภูเก็ต ดิฉันแนะนำให้ลุงอยู่เงียบๆ ภูเก็ตยังคงเดินหน้าอย่างเป็นปกติ และบริหารจัดการตามแนวทางภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่กำหนดมาอย่างรอบคอบก่อนจะตัดสินใจดำเนินการ ไม่ว่าบทความนี้มีเจตนาอย่างไร ดิฉันในนามคนภูเก็ต ไม่พึงพอใจสักเท่าไหร่ต่อการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นความจริง เหมือนจงใจโจมตีภูเก็ต”