xs
xsm
sm
md
lg

วิกิพีเดียแจง ใครไม่ได้ล็อกอินแก้ข้อมูลเลขไอพีจะโชว์ หลังหนุ่มแก้ข้อมูลหมอยงโดนรวบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกิพีเดียภาษาไทยแจงตราบใดที่เข้าแก้ไขวิกิพีเดียโดยไม่ได้ล็อกอิน เลขที่อยู่ไอพีของเครื่องมือจะแสดงอยู่ในหน้าประวัติการแก้ไข ใครๆ ก็ดูได้ แนะให้สมัครบัญชีวิกิพีเดียเพื่อแก้ไขได้ แต่ไม่สนับสนุนให้ก่อกวน โจมตี หรือสร้างข้อมูลไร้อ้างอิง

วันนี้ (14 ก.ค.) จากกรณีที่ตำรวจ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) จับกุมนายสรดิษ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี ซึ่งจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ยังไม่ประกอบอาชีพ ใช้เวลาว่างทำเพลงใต้ดินลงยูทูป หลังสืบทราบว่าเป็นผู้ก่อเหตุแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า “เป็นเซลส์ขาย Sinovac ให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” บนเว็บไซต์วิกิพีเดีย ทำให้ นพ.ยงได้รับความเสียหาย กระทั่งได้มอบอำนาจให้ นางโศรยา ประสิทธิ์สมสกุล เจ้าหน้าที่หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ เข้าแจ้งความต่อ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา จับกุมได้ที่บ้านหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านพฤกษ์ลดา 1 ซอยอนามัยงามเจริญ 33 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เมื่อบ่ายวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา

อ่านประกอบ : แม่เอือม! ลูกปลอมข้อมูลหมอยงในวิกิพีเดียชูสามนิ้ว ถามกลับ “อยากให้มันมีปัญหามากกว่านี้ใช่ไหม”
รวบหนุ่มวิศวะป้ายแดง ม.ดัง แก้ไขโปรไฟล์ “หมอยง” ในวิกิพีเดีย ใส่ร้ายเป็นเซลส์ขายวัคซีนซิโนแวคให้รัฐบาล
เฟซบุ๊ก “วิกิพีเดีย” เพจทางการของชุมชนวิกิพีเดียภาษาไทย โพสต์ข้อความระบุว่า จากกรณีบุคคลผู้เข้ามาแก้ไขบทความบนวิกิพีเดียถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมด้วยความผิดฐาน “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” หลังเข้ามาเพิ่มข้อมูลหมิ่นประมาทและขาดอ้างอิงบนวิกิพีเดียภาษาไทย จึงทำให้หลายๆ คนสงสัยว่าการติดตามตัวผู้แก้ไขนั้นเป็นไปได้ง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ? ทางวิกิพีเดียภาษาไทยจึงอยากใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงเกี่ยวกับการเปิดเผยเลขที่อยู่ไอพี (ไอพีแอดเดรส; IP address) ของผู้แก้ไขบนวิกิพีเดีย

ตราบใดก็ตามที่คุณเข้าแก้ไขวิกิพีเดียโดยไม่ได้เข้าสู่ระบบด้วยบัญชีผู้ใช้ เลขที่อยู่ไอพีของเครื่องมือจะแสดงอยู่ในหน้าประวัติการแก้ไข ซึ่งใครๆ ก็สามารถเข้าไปดูได้ และในกรณีเดียวกันนี้ ผู้แก้ไขคนดังกล่าวไม่ได้เข้าสู่ระบบ จึงทำให้ในประวัติการแก้ไขหน้าแสดงเลขที่อยู่ไอพีในประวัติของหน้าซึ่งใครๆ ก็สามารถเข้าไปดูได้ ส่วนนี้ทำให้เป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายจะนำข้อมูลสาธารณะตรงนี้ไปใช้ขอหมายศาลเพื่อแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อหาว่าไอพีมาจากไหน และตรวจสอบจนเจออุปกรณ์ที่ใช้แก้ไข ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้อยู่นอกขอบเขตการดูแลของวิกิพีเดีย

อย่างไรก็ตาม เพื่อคงความเป็นนิรนาม (annonymous) บนอินเทอร์เน็ตและวิกิพีเดีย เราได้แนะนำให้คุณสมัครบัญชีวิกิพีเดียเพื่อแก้ไข ซึ่งจะช่วยปกปิดรหัสไอพีของผู้แก้ไขได้ แต่นี่ไม่ใช่เพื่อให้มาก่อกวนนะ!

ย้ำ! อีก! ครั้ง! เราไม่สนับสนุนให้คุณก่อกวน โจมตี หรือสร้างข้อมูลไร้อ้างอิงบนวิกิพีเดีย ไม่ว่าจะลงชื่อเข้าใช้หรือไม่ก็ตาม”


กำลังโหลดความคิดเห็น