ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เผยกรณีโรงงานกิ่งแก้วระเบิด อาจถึงจุดเปลี่ยนที่โรงงานอันตรายควรย้ายออกจากพื้นที่เมือง แนะต้องกำหนดพื้นที่เสี่ยงที่มีโรงงานทำสารเคมี หรือแนวที่ท่อก๊าซพาดผ่านให้ทราบ และสำนักงานเขตต้องขึ้นทะเบียนโรงงานทุกประเภท
วันนี้ (5 ก.ค.) เฟซบุ๊ก “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ Suchatvee Suwansawat” ของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โพสต์ข้อความถึงกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีระเบิดภายในบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ตั้งอยู่เลขที่ 87 หมู่ 15 ซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แรงอัดทำให้บ้านเรือนและโรงงานที่อยู่โดยรอบรัศมี 500 เมตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ระบุว่า “กรุงเทพฯ ไม่เคยไกลจากภัยพิบัติ พี่เอ้มีคำตอบ เพราะการป้องกัน #จะทำก็ทำได้
อีกครั้ง เช้ามืดวันนี้ โรงงานระเบิดกลางพื้นที่ชุมชนถนนกิ่งแก้ว ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และเส้นทางบางนาสายหลักเข้ากรุงเทพฯ ไฟไหม้รุนแรง และปล่อยก๊าซมลพิษ สร้างความเสียหายรุนแรงต่อสุขภาพคนเมือง เมื่อปลายปีที่แล้ว ท่อก๊าซระเบิดแถวขอบกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ กลางวันแสกๆ มีผู้เสียชีวิต บ้านเรือนหลายหลังถูกเผาวอดวาย พี่เอ้ ในฐานะนายกสภาวิศวกร (และชาวบ้านคนหนึ่งที่มีครอบครัว) ขอเสนอ
1. การกำหนดพื้นที่เสี่ยงที่มีโรงงานทำสารเคมี หรือบรรจุสารเคมีใน กทม. หรือแนวที่ท่อก๊าซพาดผ่าน ให้ชาวบ้านได้รับรู้รับทราบและได้พึงระวัง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุได้มีการป้องกันตน และการเตรียมการอพยพได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งหน่วยงานดับเพลิงของ กทม.ในพื้นที่เสี่ยงที่มีโรงงานเคมี จะต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีแก่นักดับเพลิง ให้พร้อม!
2. อาจถึงจุดเปลี่ยนที่โรงงานอันตรายควรย้ายออกจากพื้นที่เมือง แน่นอนโรงงานเขาอาจมาก่อน ชุมชนเมืองขยายตามมาเอง แต่รัฐและเมืองในต่างประเทศได้เสนอความช่วยเหลือทางภาษีและอื่นๆ หากโรงงานเต็มใจย้าย (ที่จริง ขายที่ก็กำไรอภิมหาศาล แล้วนำกำไรไปขยายโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมได้!)
3. สำนักงานเขต ต้องขึ้นทะเบียนโรงงานทุกประเภท เพื่อจำแนกประเภทเสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย (ทุกโรงงานมีความเสี่ยง) เพื่อตรวจสอบประเมินทุก 6 เดือน และให้โรงงานส่งรายงานการประเมินตนเอง แบบนี้ได้ความกระตือรือร้น ความเสี่ยงต่อชาวบ้านลดน้อยลงทันที!
4. ต้องรายงานมลพิษ และสารก่อมะเร็งในอากาศ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อประชาชนได้ป้องกันสุขภาพตนเองและครอบครัว เพราะสารดะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากเพลิงไหม้เม็ดพลาสติกอันตรายถึงชีวิต
5. ถึงเวลาพัฒนานวัตกรรมการควบคุมเพลิงสารพิษ เพราะในอดีตเกิดความสูญเสียของนักดับเพลิงจำนวนมาก เพราะฉีดน้ำช่วยลดความร้อนเท่านั้น มิได้มีผลยับยั้งเพลิงจากสารเคมีที่ต้องใช้โฟม
ระเบิดใน กทม.แบบนี้เราเจอมาตั้งแต่เด็ก ไม่อยากให้ลูกหลานเราต้องพบเจอต่อๆ ไปครับ #ระเบิดกิ่งแก้ว #โรงงานกิ่งแก้วระเบิด”