“สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย” ล่ารายชื่อไปให้ถึงภาครัฐ หลังมีคำสั่งห้ามรวมตัวกันเกิน 20 คน ส่งผลให้กองถ่ายต้องหยุดถ่ายโดยปริยาย วอนขอผ่อนปรนไม่เกิน 50 คน และเร่งให้รัฐบาลหาวัคซีนมาฉีดให้กับบุคลากรในธุรกิจภาพยนตร์และสื่อวิดีทัศน์ที่อยู่นอกเหนือจาก ม.33
จากกรณี เว็บไซต์ราชกิจจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) มีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน รวมกลุ่มสังสรรค์ งานเลี้ยงรื่นเริง และห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีบุคคลรวมกันเกินกว่า 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 ก.ค. เพจ “สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย” ออกมาล่าชื่อ ขอผ่อนปรนให้เปิดกองถ่ายทำได้ เนื่องจาก คำสั่งห้ามรวมตัวกันเกิน 20 คนนั้น ทำให้ไม่สามารถเปิดกองได้ โดยได้มีการระบุข้อความว่า
“เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ รวมถึงการประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อออกคําสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคระบาด ซึ่งรวมถึงนโยบายการห้ามรวมตัวเกิน ๒๐ คน นโยบายเหล่านี้สร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจกองถ่ายเป็นอย่างมาก แม้ว่าทางผู้ประกอบการธุรกิจกองถ่ายภาพยนตร์และวิดีทัศน์ได้ร่วมหารือกับทางกระทรวงวัฒนธรรมและกรมควบคุมโรค จนออกเป็นมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาในกองถ่าย มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนนโยบายจากทางภาครัฐ และ ศบค. อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสับสน และเกิดปัญหาการอนุญาตการถ่ายทำจากทางเขตและอำเภอทั่วประเทศ ส่งผลให้กิจการกองถ่ายทั้งหมดต้องหยุดชะงักลง ทั้งที่มีมาตรการควบคุมการระบาดของโรคที่รัดกุมอยู่แล้ว
ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ การระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ นั้น เป็นสถานการณ์ต่อเนื่องมาจากปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึงความหละหลวมของรัฐบาลในการวางแผนสถานการณ์ล่วงหน้า และความล้มเหลวในการฉีดวัคซีนให้ทันแก่เวลา ทําให้สถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มว่าจะกินเวลาต่อไปอีกหลายเดือน อีกทั้งทางกลุ่มผู้ประกอบการเองก็ต้องการนโยบายที่จะช่วยฟื้นฟูสภาพคล่องของธุรกิจ ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้ประกอบการไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยื่นข้อเรียกร้องให้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกําหนด ๓ ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของธุรกิจกองถ่าย ดังต่อไปนี้
1. อนุญาตให้ธุรกิจกองถ่ายสามารถปฏิบัติงานได้ ตามข้อกำหนดของ ศบค. โดยมีทีมงานจำนวนไม่เกิน ๕๐ คน และให้สำนักงานเขตและอำเภอพิจารณาอนุญาตการถ่ายทำ โดยใช้ผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาของทีมงานทุกคนภายในระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมง
2. ขอให้ทางภาครัฐส่งหนังสือเวียนแจ้งถึงข้อกำหนดนี้ให้กับศาลากลางจังหวัด สำนักงานเขต และที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด เพื่อให้รับทราบตรงกันว่า ธุรกิจกองถ่ายภาพยนตร์ เป็นธุรกิจที่ได้รับการผ่อนปรนภายใต้มาตรการควบคุมโรคดังกล่าว
3. ขอให้ทางภาครัฐจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในธุรกิจภาพยนตร์และสื่อวิดีทัศน์ที่อยู่นอกเหนือจาก ม.๓๓ โดยทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อให้
4. หากทางภาครัฐต้องการปรับเปลี่ยนมาตรการกองถ่าย เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา ขอให้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมและชัดเจน โดยมีสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมหารือด้วย”