xs
xsm
sm
md
lg

“ผศ.ดร.วรัชญ์” ระบุต้องยอมรับความจริง ชีวิตจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม แนะรับข้อมูลข่าวสารด้วยสติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ปรึกษา ศบค.โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ดึงสติคนไทยต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับโควิด-19 คนไทยจะไม่มีทางกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเดิม และจะอยู่กับเราอย่างน้อยอีก 1 ปี เตือนรับข้อมูลข่าวสารด้วยสติ

วันนี้ (2 ก.ค.) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค. ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Warat Karuchit” ในหัวข้อ “ตั้งความหวังที่เป็นจริง” โดยได้ระบุข้อความว่า

“เราทุกคน หวังว่าโควิดจะหายไปจากโลกนี้ หวังว่าเราจะได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม เหมือนก่อนโควิด
แต่ความเป็นจริงคือ

- โควิดจะอยู่กับเราต่อไปจนถึงอย่างน้อยปีหน้า และต่อๆ ไปก็จะยังกลับมาเรื่อยๆ แม้ว่าอาจจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ก็ยังไม่มีอะไรรับประกันได้

- การที่เราจะใช้มาตรการกดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลง อาจตามมาด้วยความทุกข์เข็ญของปากท้องของผู้คนจำนวนมากเช่นกัน แต่ถ้าให้เสรีภาพในการทำมาหากินตามปกติ ก็จะเกิดความเสี่ยงต่อการรวมตัวและแพร่ระบาดอีก

- นับจนถึงวันนี้ ยังไม่มีประเทศไหนที่ได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนก่อนโควิดจริงๆ เลยแม้แต่ประเทศเดียว ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนไปเท่าไหร่ก็ตาม จะมีก็แค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ และควรทำ อาจเริ่มต้นจากการ set expectation หรือตั้งความหวังที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เช่น

- ยอมรับว่าเราต้องอยู่ร่วมกับโควิดไปอีกอย่างน้อยหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น คงไม่ต้องรอว่าเมื่อไหร่เราจะได้กลับมาทำอะไรเหมือนเดิม แต่คิดล่วงหน้าไปเลยว่าเราจะทำอย่างไร เปลี่ยนแปลงตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่กับโควิดให้ได้ และหวังว่าสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงนั้น จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยได้

- รับรู้ว่าสงครามครั้งนี้มีศึกสองด้าน คือสุขภาพกับเศรษฐกิจ ถ้าเลือกดูแลด้านหนึ่งเป็นพิเศษ อีกด้านก็จะแย่ ประเทศส่วนใหญ่ในช่วงแรกก็จะเน้นสุขภาพ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สุดท้ายก็ต้องกลับมาสู่ทางสายกลาง ซึ่งไม่มีทางที่จะกดยอดให้ต่ำมากๆ ได้ เพราะว่าจะเปิดช่องให้ทำมาหากิน ดำเนินชีวิตกันไปเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นความหวังของเราคือ การสามารถอยู่ร่วมกับโควิดไปได้โดยไม่มีความเสี่ยงมากเกินไป โดยที่ยังทำมาหากิน ใช้ชีวิตตามเดิมได้เท่าที่จะทำได้ บวกกับการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่มาจากการปรับตัวของเรา

- รับรู้ว่ายอดผู้ติดเชื้อ เป็นระลอก มีขึ้นมีลง ขาขึ้นจะดูน่ากลัว เราก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ไม่ว่าจะยอดจะขึ้นไปสูงอย่างไร ก็จะต้องมีจุดที่ตกลงมา เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ ความหวังของเราคือ ทำอย่างไรให้การระบาดนั้นสั้นที่สุด ผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด (ซึ่งเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด)

- รับรู้ว่าในวิกฤต จะมีความวุ่นวายสับสน เหมือนในภาวะสงคราม โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลข่าวสาร และก็ไม่ใช่ทุกสื่อมวลชนที่จะเป็นที่พึ่งได้ แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดหวังว่าการสื่อสารจะต้องเป็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด ตราบใดที่ทุกคนจะพูดจะเขียนอะไร ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ก็มีช่องทางให้ทำได้ทั้งสิ้น หรือจะหวังให้ทุกสื่อทุกคนสื่อสารด้วยจริยธรรมก็คงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น นอกจากเราควรจะคาดหวังข้อมูลที่ดี มีประโยชน์จากทางการแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญก็คือที่แต่ละคนควรจะหวังพึ่ง ก็คือสติของเราเองในการแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้นในทุกๆ วัน ไม่เช่นนั้นเราก็จะตกเป็นเหยื่อเองได้

เรื่องมาตรการต่างๆ ของรัฐ เป็นสิ่งที่เราทุกคนในฐานะประชาชนมีสิทธิเรียกร้องและแสดงความคิดเห็น ซึ่งผมก็เชื่อว่าสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ คงไม่มีประเทศใดต้องการให้เกิดความเสียหายหรือใครเสียชีวิต และอยากจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด ซึ่งก็คงไม่สามารถจะเป็นที่พอใจของทุกคนได้ และก็คงไม่มีประเทศไหนที่สามารถดูแลทุกคนได้ทุกวันตลอดไป

แต่อย่างน้อย ถ้าเราเริ่มต้นจากการตั้งความหวังที่เป็นจริง เราอาจจะเริ่มมองว่า เป้าหมายของเรา ไม่ใช่การกลับไปสู่อดีตที่เคยทำ เพราะมันอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่อาจจะเป็น การยอมรับความจริงว่าชีวิตของเราคงไม่ได้กลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว และเราจะทำอย่างไรให้มันดีที่สุด ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ท่านครับ”

กำลังโหลดความคิดเห็น