ที่ปรึกษา ศบค. ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเผยถึงพฤติกรรมการเปรียบเทียบวัคซีน ระบุ ดีทุกตัวแล้วแต่ความพอใจของแต่ละคน ทุกยี่ห้อได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ย้ำรีบฉีด รีบเปิดประเทศ
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค.โพสต์เฟซบุ๊ก “Warat Karuchit” แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการนำวัคซีนโควิด-19 แต่ละบริษัทมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพ โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า
“เลิกเปรียบเทียบเพื่อหาวัคซีนที่ดีที่สุดกันเถอะครับ”
ในภาษาอังกฤษ มีคำว่า Give and Take
ในภาษาไทย มีคำว่า ได้อย่างเสียอย่าง
หลายอย่างในโลกนี้ คงไม่มีอะไรที่ดีไปหมดทุกอย่างสำหรับทุกคน
ในความคิดเห็นผม เรื่องวัคซีนโควิด ก็อาจจะคล้ายกัน
Sinovac ช้าแต่ชัวร์ กระตุ้นภูมิน้อยสุด แต่เป็นเทคโนโลยีเดิม ผลข้างเคียงน้อยสุด และไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบระยะยาว
AstraZeneca (และน่าจะ J&J ด้วย) กระตุ้นภูมิได้ดี ไม่ต้องกังวลผลกระทบระยะยาว แต่มีผลข้างเคียงระยะสั้นที่เห็นได้ชัด และเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากกว่า และมีความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
Pfizer (และน่าจะ Moderna ด้วย) กระตุ้นภูมิได้มากที่สุด ป้องกันสายพันธุ์ต่างๆ ได้ดีที่สุด แต่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่มีการรับรองผลกระทบระยะยาวต่อร่างกาย และมีความเสี่ยงเกิดอาการกับหัวใจ
เหมือนทุกๆ อย่าง จุดเด่น ก็คงต้องแลกมากับอะไรบางอย่างเสมอ เหมือนมีซูเปอร์แมน ก็ต้องมีคริปโตไนต์ เพื่อให้เกิดสมดุล
ดังนั้นสำหรับผม ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนอะไร มันก็ต้อง “แลก” กับอะไรบางอย่าง
ถ้าคุณฉีด Sinovac คุณได้ความสบายใจว่าไม่มีผลข้างเคียง ไม่นอนซมวันสองวัน และไม่มีผลระยะยาวกับร่างกาย แต่ก็ต้อง “แลก” กับการตระหนักว่าวัคซีนที่คุณฉีดไป อาจป้องกันคุณไม่ได้ 100% จากโควิด คุณยังต้องระมัดระวัง ใส่มาสก์เหมือนเดิม และอาจต้องฉีดซ้ำเข็ม 3 (ซึ่งผมเอง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยหลายคนก็ฉีด Sinovac)
ถ้าคุณฉีด AstraZeneca คุณได้ความสบายใจในระดับการป้องกันที่ค่อนข้างสูงต่อหลายสายพันธุ์ และไม่ต้องกังวลผลระยะยาว แต่ต้อง “แลก” กับความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงระยะสั้น (ซึ่งถ้าคุณมีผลน้อยหรือไม่มี ก็เท่ากับว่ามีโอกาสได้ภูมิที่สูงกว่าคนที่ฉีด Sinovac)
ถ้าคุณ (รอ) ฉีด Pfizer/Moderna คุณได้ความสบายใจในการป้องกันการติดเชื้อที่สูงกว่ายี่ห้ออื่น ต่อหลายสายพันธุ์ แต่ต้อง “แลก” กับความเสี่ยงต่ออาการทางหัวใจ และผลกระทบระยะยาว ดังนั้น การเถียงกันว่าวัคซีนตัวไหน “ดี” กว่ากัน จึงเป็นเรื่องที่คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะแต่ละคนมี priority ที่ต่างกัน บางคนอยากได้การป้องกันเป็นหลัก และไม่ห่วงผลในอนาคต เพื่อใช้ชีวิตแบบเดิมได้ บางคนบอกว่าอยากได้อะไรแบบเดิมๆ และเขายินดีจะใส่แมสก์และระวังต่อไป หรือบางคนบอกตัวไหนก็ได้ที่ได้เร็วที่สุดเพราะทุกตัวป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้
คำว่า “ดี” จึงขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของแต่ละคน ไม่ใช่แค่เรื่องประสิทธิภาพการป้องกันอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นสิทธิของแต่ละคน เช่น วันนี้ไทยมี Sinovac, AstraZeneca (และ Sinopharm + วัคซีนอื่นที่จะตามมา) ถ้าฉีดเร่งฉีดให้ประเทศไทยได้ 60-70% ภายในสิ้นปีนี้ และเปิดประเทศได้ (อย่างระมัดระวัง) จะ “ดีกว่า” การรอ Pfizer/Moderna มาฉีดให้ได้ครบ 60-70% และเปิดประเทศในปีหน้าไหมครับ
คุณจะคิดอย่างไร ก็เป็นสิทธิส่วนตัว แต่ผมคิดว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับส่วนรวม ก็คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อหยุดวงจรการระบาด การรอวัคซีนที่ต้องการ เท่ากับทุกๆวันที่รอยังมีความเสี่ยงเต็มๆ เพราะถ้าไม่ฉีดก็ = 0 Protection การปฏิเสธการฉีด เท่ากับคุณไม่ได้มีส่วนช่วยส่วนรวมในการลดความเสี่ยง และวัคซีนไม่ใช่สิ่งที่เลือกได้ครั้งเดียว ยังไงต้องฉีดทุกปีเป็นอย่างน้อย เพราะ ณ ตอนนี้ วัคซีนทุกตัว อยู่ในระยะทดลองเพื่อการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งนั้น ยังต้องมีอีกหลายเวอร์ชั่นครับ และการฉีดก็เปลี่ยนยี่ห้อได้ ซึ่งรัฐก็พยายามจะจัดหาทางเลือกมาให้เพิ่มขึ้น ถ้าได้ฉีดวันนี้ ก็คือ ป้องกันตัวเองและช่วยสังคมวันนี้ (หรือในอีกไม่กี่วัน) คุณจะฉีดฟรีกับวัคซีนของรัฐ และไปเพิ่มตัวที่คุณต้องการก็ยังได้เลย ซึ่งเผลอๆป่านนั้นมีวัคซีนใหม่ที่อาจจะ “ดีกว่า” ตัวที่คุณรอก็เป็นได้
ดังนั้น ผมว่าหยุดวาทกรรมการเปรียบเทียบวัคซีนกันเถอะครับ แต่ละตัวก็มีเด่นมีด้อย มีความเสี่ยงต่างกันไป ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าวัคซีนทุกตัวป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้เกือบ 100% (รวมถึงสายพันธุ์ต่างๆ ด้วย) โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค การใส่มาสก์ อยู่ห่าง ล้างมือ ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศควบคุมสถานการณ์ และช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกว่าการมามัวเสียเวลาหาคำตอบว่าวัคซีนตัวไหนดีที่สุดครับ เพราะสุดท้ายแล้วมันอาจจะไม่มีคำตอบและเสียเวลาไปเปล่าๆ ครับ