xs
xsm
sm
md
lg

โควิดกระทบสื่อ “บางกอกโพสต์” ประกาศให้พนักงานลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โควิด-19 กระทบวงการสื่อไม่หยุด ล่าสุด เครือบางกอกโพสต์ประกาศนโยบาย ลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 3 เดือน ขอความร่วมมือให้ลาตั้งแต่ 2-4 วัน ตามเงินเดือนและค่าตำแหน่ง และจะหักค่าจ้างอัตโนมัติ ระบุที่ผ่านมา ขาดทุนสะสมกว่า 1.5 พันล้าน และยังขาดทุนต่อเนื่องอีกเดือนละ 15 ล้านบาท

วันนี้ (28 มิ.ย.) รายงานข่าวจากแวดวงสื่อมวลชน ระบุว่า บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสื่อในเครือบางกอกโพสต์ ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ นิตยสารแอล และนิตยสารฟอร์บส์ ฉบับภาษาไทย ออกประกาศนโยบายการลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (1 กรกฎาคม 2564 - 30 กันยายน 2564) ระบุว่า จากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 5,400 รายต่อวัน รวมถึงภาวะตกต่ำของสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งระบบ ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสะสมรวมมากกว่า 1,500 ล้านบาท และปัจจุบันยังขาดทุนต่อเนื่องอีกประมาณ 15 ล้านบาท ทุกเดือน คณะกรรมการบริหาร จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องขอความร่วมมือจากพนักงาน ดังนี้

- พนักงานทุกคนที่มีเงินเดือน + Position Allowance (ค่าตำแหน่ง) รวมกันตั้งแต่ 71,000 บาท หรือมากกว่า ลาแบบไม่รับค่าจ้าง 4 วัน ต่อเดือน

- พนักงานทุกคนที่มีเงินเดือน + Position Allowance รวมกันตั้งแต่ 30,001-70,999 บาท ลาแบบไม่รับค่าจ้าง 3 วัน ต่อเดือน

- พนักงานทุกคนที่มีเงินเดือน + Position Allowance รวมกันตั้งแต่ 25,001-30,000 บาท ลาแบบไม่รับค่าจ้าง 2 วัน ต่อเดือน

- การลาแบบไม่รับค่าจ้าง ขอให้ดำเนินการผ่านระบบ E-Leave Online เพื่อขออนุมัติล่วงหน้าจากหัวหน้างาน การลาแบบไม่รับค่าจ้าง ไม่สามารถสะสมหรือเลื่อนวันลาไปในเดือนถัดไปได้

- การลาแบบไม่รับค่าจ้าง บริษัทฯ จะใช้วิธีหักค่าจ้าง (เงินเดือน+ค่าตำแหน่ง) โดยอัตโนมัติตามนโยบายนี้

- ผู้บริหาร และหัวหน้างานในแต่ละฝ่ายต้องดำเนินการติดตาม ตรวจสอบการลาแบบไม่รับค่าจ้างของพนักงานในฝ่ายให้ถูกต้อง และครบถ้วน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทฯ

- พนักงานใหม่ทุกคนที่อยู่ในช่วงทดลองงาน 119 วัน ไม่อยู่ภายใต้นโยบายการลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้างนี้ (นโยบายนี้ไม่มีผลย้อนหลัง และไม่ยกเว้นให้พนักงานใหม่ที่มีการขยายระยะเวลาทดลองงาน)

- พนักงานสายส่ง และ/หรือพนักงานฟรีแลนซ์ ที่สัญญาจ้างเป็นลักษณะจ้างทำของ ไม่ใช่พนักงานประจำ ไม่อยู่ภายใต้นโยบายการลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้างนี้

บริษัทฯ ขอขอบคุณพนักงานทุกท่านในความร่วมมือในวิกฤตของบริษัทฯ ในครั้งนี้ด้วย

ประกาศ ณ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564

นายวิทธณุ ชุ่มสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล”




กำลังโหลดความคิดเห็น