ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เผยภาพสะเทือนใจ ลูกฉลามหัวค้อนวางขายในตลาดเพียงโลละ 100 บาท ล่าสุด ทช.แจง เห็นชอบให้ฉลามหัวค้อนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว รอประกาศเป็นกฎกระทรวง
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” โพสต์ภาพลูกฉลามขายอยู่หลายตัวในตลาดใกล้กรุง ราคาเพียงกิโลกรัมละ 100 บาท แต่ตัวที่สำคัญมากคือลูกฉลามหัวค้อน ซึ่งเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันเป็นสัตว์คุ้มครอง
ต่อมา วันที่ 26 มิถุนายน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันฉลามทั่วโลกถูกจับได้จากการประมงมากกว่า 100 ล้านตัว หรือเฉลี่ยที่ 190 ตัวต่อนาที ในจำนวนทั้งหมดนี้มากกว่า 70 ล้านตัว หรือประมาณร้อยละ 75 เป็น ฉลามที่ถูกจับเพื่อตัดเอาครีบไปขาย
อธิบดี ทช.กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีการทำประมงปลาฉลามโดยตรง เนื่องจากปลากลุ่มนี้ไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย และถูกจัดเป็นเพียงสัตว์น้ำพลอยจับได้ (bycatch) โดยมีสัดส่วนที่จับได้ น้อยกว่าร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับผลจับสัตว์น้ำทั้งหมดที่ได้จากการประมงทะเล และส่วนใหญ่ถูกจับได้โดยเครื่องมืออวนลาก โดยเฉพาะอวนลากแผ่นตะเฆ่
“การสำรวจรวบรวมข้อมูลชนิดพันธุ์ของฉลามในน่านน้ำไทยโดยกรมประมง ในปี 2563 พบว่า มีทั้งหมด 87 ชนิด มากกว่า 75% เป็นชนิดพันธุ์ที่หายาก (Rare species) หรือชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) โดยพบในทะเลอันดามันมากถึง 80 ชนิด ส่วนอ่าวไทยพบเพียง 53 ชนิด มีการแพร่กระจายตามแหล่งที่อยู่อาศัยตั้งแต่ในแม่น้ำไปจนถึงเขตทะเลลึก และมีบางชนิดที่มีรายงานว่าไม่พบในเขตทะเลไทยมานานแล้ว ได้แก่ ปลาฉลามหนู(Carcharhinus obsolerus) และปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii)
กลุ่มปลาฉลามที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง ได้แก่ กลุ่มปลาฉลามหัวค้อน และฉลามเสือดาว กลุ่มปลาฉลามหัวค้อน 4 ชนิด ได้แก่ ปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii) (Thailand Red Data) ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน (Sphyrna lewini) ปลาฉลามหัวค้อนยักษ์ (Sphyrna mokarran) และปลาฉลามหัวค้อนเรียบ/ปลาฉลามหัวค้อนดำ (Sphyrna zygaena)” นายโสภณ กล่าว