xs
xsm
sm
md
lg

โซเชียลฯ โวย “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ห้ามนัดรับ-ส่งของข้ามเขตชำระเงิน หลังเจอผู้ค้าหัวใสนัดรับของตามสถานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รถไฟฟ้าบีทีเอสขอความร่วมมือไม่อนุญาตให้รับส่งของข้ามเขตชำระเงิน หลังผู้โดยสารร้องเรียน เจอพลังโซเชียลฯ ด่าตามระเบียบ หาว่าขี้งก ไร้น้ำใจ ถ้าคนลืมของจะทำยังไง พบที่ผ่านมา มีผู้ค้าออนไลน์บางรายหัวใส อาศัยจังหวะอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ 120 นาที นัดรับส่งสินค้าตามแนวสถานี

วันนี้ (15 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส โพสต์ข้อความขอความร่วมมือ ไม่รับ-ส่งของข้ามเขตชำระเงิน ระบุว่า มีผู้โดยสารส่งเรื่อง และแจ้งมาถามแอดมินว่า “มีการนัดรับ-ส่งของบริเวณประตูทางเข้า-ออกสถานี” ทำได้หรือไม่ วันนี้จึงขอความร่วมมือผู้โดยสารทุกคน ว่า บีทีเอสไม่อนุญาตให้มีการ รับ-ส่ง ของข้ามเขตชำระเงิน หากต้องการส่งของ หรือรับของ สามารถแตะบัตร เข้า-ออก ให้อยู่ในเขตเดียวกัน สะดวกในการพูดคุย และไม่เป็นการกีดขวางผู้โดยสารท่านอื่นด้วย

เรื่องนี้ทำให้ในโลกโซเชียลฯ ต่างแสดงความคิดเห็นตำหนิรถไฟฟ้าบีทีเอสถึงมาตรการดังกล่าว ระบุว่า

“จุดที่เขารับส่งเป็นมุมหนึ่งของสถานี (จุดอับ) ไม่ได้ยืนกีดขวางทางเดินหรือเปล่าครับ? และการแตะเข้า-ออกไปส่งของไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา มีแต่เพิ่มภาระให้ประชาชนจ่ายเพิ่ม และ BTS ได้ผลประโยชน์ เรื่องนี้อยู่ที่น้ำใจครับ”

“ถ้าคนส่งของเค้าใช้วิธีอื่นในการส่ง คุณก็ไม่ได้ค่าเดินทางเลย นี่ได้ค่าเดินทางจากคนส่งของแล้ว คิดเล็กคิดน้อยไปหน่อยมั้ย คนเดินทางเพื่อส่งของไม่ถึง 0.1% เลยมั้ง แล้วยื่นให้กันก็ริมรั้วกั้น ไม่ใช่ทางเข้าออกแตะบัตร เอาเวลาคิดอะไรแบบนี้ ไปคิดหาเทคนิคการทวงหนี้นายกฯ เถอะ”

“คือมันไม่มีตัวเลือกให้ประชาชนอ่าเนอะ คือจะออกกฎอะไรมาก็ได้ เพราะอย่างไงประชาชนก็ต้องใช้ ผู้บริหารคงคิดแบบนี้”

“ของในภาพชิ้นเล็กมากเลยนะ ไม่เสียเวลาคนอื่นด้วย ต่อแถวเติมบัตรยังนานกว่า เธอเค็มเกินไปนะเอาดีๆ”

“มันจะกีดขวางยังไงคะ เค้าไม่ได้มายืนรับส่งกันตรงที่แตะบัตรนะเท่าที่เห็นๆ มา ถ้ามันเกะกะหรืออะไร เจ้าหน้าที่เดินไปบอกดีๆ ก็ได้นะ แล้วอีกอย่างถ้าไม่ใช่การซื้อขาย แต่เช่นลืมของแล้วให้คนอื่นนำมาให้ล่ะค่ะ ต้องเสียเงินข้ามเขตกันเลยเหรอ ค่าโดยสารก็แพง ห้องน้ำก็ไม่มีอำนวยความสะดวก เรื่องแค่นี้ก็ยังจะห้ามอีก ไร้สาระเหลือเกิน ดูย้อนแย้งกับคำว่าเป็นห่วงนะคะ”

“มันมีผลอะไรกับการเดินรถหรือการทำธุรกิจของ BTS เหรอคะ? ขอเหตุผลแบบ make sense บางทีกลับบ้านแต่แวะเอาของไปให้เพื่อนที่สถานีทางผ่านอันนี้ต้องแตะบัตรออกมาหรือให้เพื่อนซื้อบัตรเพื่อเข้ามาเอาของเลยหรือคะ? แค่รับส่งของอะค่ะ...ที BTS เสียครึ่งค่อนวันยังทำได้แค่คืนค่าโดยสารเลยค่ะ ต้องการอะไรจากผู้โดยสารเหรอคะ? ค่าบริการปกติก็แพงมากพอแล้ว”

“เจอมากับตัว แค่ส่งของแป๊บ รปภ. วิ่งมาเหมือนมีใครตาย ทำหน้าตาเหมือนคนโรคประสาท ที่ทำแบบนี้ กลัวไม่ได้ตังค์หรือไง ห่วยแตกขึ้นทุกวัน”

“อันนี้ไม่เห็นด้วยค่ะ ดูไม่มีเหตุผลอะไรสนับสนุนเลย ลองไปคิดทบทวนดูใหม่นะ แอดมิน”

“ปกตินัดเจอลูกค้าส่งของบริเวณที่ไม่ใช่ทางเดินเข้าออก ไม่ขวางใครด้วย ได้ไหมครับ”

“ก็ไม่ได้ลงสถานีนี้ จะแตะบัตรออกไปให้เสียเงินเพิ่มทำไม ก็แค่แวะเอาของมาส่ง คนมารับก็มารอ ยื่นให้กันก็จบ แยกย้าย จะทำให้เสียเงินซับซ้อนเพื่ออะไร ให้ฝาก พนง.บีทีเอส บริการสักหน่อย ก็ดีนะ จิตใจจะเอาแต่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเดียวเลยใช่ไหม”

“เค้ายืนยื่นของให้ไม่เกิน 2 นาที มันไม่น่าจะไปเกะกะมั้ย BTS ควรไปเพิ่งรูทางแตะบัตรเพิ่มให้มากขึ้นกว่าเดิม มันน่าจะมีประโยชน์มากกว่ามั้ย โพสต์ยังไงให้ทัวร์ลงมาด่า”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ที่ผ่านมา รถไฟฟ้าบีทีเอส ออกระเบียบการใช้บริการไว้ว่า ผู้โดยสารที่แตะบัตรโดยสารเข้ามาในระบบเดินทางแล้ว มีเวลาอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 120 นาที หากเกินกว่า 120 นาที จะถูกปรับในอัตราค่าโดยสารสูงสุด (59 บาท) ที่ผ่านมา โดยมักจะมีบรรดาพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ อาศัยจังหวะตรงนี้ใช้วิธีนัดรับส่งสินค้ากับลูกค้าตามแนวสถานีรถไฟฟ้า โดยส่งสินค้าข้ามเขตชำระเงิน เพื่อประหยัดค่าส่งพัสดุ สังเกตได้จากคำว่า “นัดรับ BTS” ในการประกาศขายสินค้า




กำลังโหลดความคิดเห็น