xs
xsm
sm
md
lg

ความจนกับการเป็นหนี้เป็นทุกข์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า จึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! คนจนไม่มีทรัพย์เป็นของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

คนจนกู้หนี้แล้ว ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็ถูกเขาทวง แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนถูกทวงไม่ให้เขา ก็ถูกเขาตามตัว แม้การถูกตามตัว ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม คนจนถูกตามตัวไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ แม้การถูกจองจำ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้ นี่คือพุทธพจน์ ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย

จากพุทธพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความจนกับการเป็นหนี้เป็นของคู่กัน โดยที่ความจนเป็นเหตุ และการเป็นหนี้เป็นผล

ความจนและการเป็นหนี้ได้เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์นานนับพันปีมาแล้ว และยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ทั้งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งในจำนวนของผู้เป็นหนี้ และความรุนแรงในการทวงหนี้ด้วย

ในปัจจุบันคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน รวมไปถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย ส่วนใหญ่เป็นหนี้อันเนื่องมาจากรายได้ไม่พอจ่ายในการซื้อหาสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต และหนี้ที่คนเหล่านี้มีทั้งในระบบและนอกระบบ รวมไปถึงหนี้จากการซื้อของในระบบเงินผ่อนในหลายรูปแบบ

ดังนั้น เมื่อถึงวันรับเงินเดือนหรือค่าจ้าง เงินที่ได้รับส่วนหนึ่งจะนำไปใช้หนี้ ส่วนที่เหลือจึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในแต่ละเดือนจึงต้องเป็นหนี้ ในบางรายถึงกับต้องกู้หนี้ใหม่เพื่อใช้หนี้เก่า จึงกลายเป็นดินพอกหางหมูไม่มีวันจะหมดหนี้

ด้วยเหตุนี้ คนไทยในวันนี้ส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นอาชญากรจำเป็นในคดีลักเล็กขโมยน้อย รวมไปถึงการขายยาเสพติดรายย่อยเพิ่มขึ้นทุกวัน และเมื่อรวมอาชญากรจำเป็นอันเกิดจากความยากจนเข้ากัน อาชญากรโดยสันดานซึ่งมีอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ก็จะทำความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในสังคมมีน้อยลง

อีกประการหนึ่ง การเป็นหนี้ของผู้คนในสังคมที่ถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยม มิได้จำกัดอยู่ในกลุ่มของคนจน เฉกเช่นในพุทธกาลเท่านั้น แต่คนรวยที่ยังมีความต้องการจะรวยเพิ่ม ก็เป็นหนี้ด้วยการกู้เงินมาลงทุนทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไร

แต่การเป็นหนี้ของคนรวย มีทั้งส่วนที่ต่างกันและเหมือนกัน การเป็นหนี้ของคนจนสรุปเป็นประเด็นดังต่อไปนี้

หนี้ของคนจนส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ และต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าหนี้ในระบบ และเป็นดอกเบี้ยรายวันหรือรายเดือนร้อยละ 10-20 จึงยากที่จะจ่ายได้ครบตามกำหนด จึงทำให้เกิดการทวงหนี้ในรูปแบบโหดร้ายเกิดขึ้นบ่อยๆ

ส่วนการเป็นหนี้ของคนรวย เกิดจากความต้องการจะนำเงินมาลงทุนประกอบธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร และส่วนใหญ่กู้จากสถาบันการเงิน โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับการกู้นอกระบบของคนจน และเป็นดอกเบี้ยรายปีมิใช่รายวันหรือรายเดือน เฉกเช่นที่คนจนกู้

ดังนั้น ถ้าธุรกิจที่กู้เงินมาดำเนินการไปได้ตามแผนที่วางไว้ ก็จะไม่มีปัญหาในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืน เมื่อเป็นเช่นนี้คนรวยจึงไม่เป็นทุกข์ นี่คือสิ่งที่ต่างกัน

แต่ถ้าธุรกิจขาดทุน ไม่มีรายได้มาจ่ายดอกเบี้ย และเงินกู้คืน ผู้กู้จะถูกฟ้องร้องทำให้เป็นทุกข์ นี่คือส่วนที่เหมือนกับคนจน

ทุกวันนี้ นอกจากคนไทยจะเดือดร้อนอันเกิดจากความจน และการเป็นหนี้ซึ่งเป็นความทุกข์ทางตรงแล้ว คนไทยทุกคนทั้งจนและรวย จะเป็นทุกข์ทางอ้อมจากการที่ประเทศเป็นหนี้ อันเกิดจากการที่รัฐบาลได้กู้มาเพื่อบริหารประเทศสะสมติดต่อกันมาหลายปี จะเห็นได้จากการทำงบประมาณขาดดุลติดต่อกันมาหลายปี และวันนี้หนี้ในส่วนของประเทศสูงเกือบจะถึง 60% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเพดานของการก่อหนี้ที่กำหนดไว้ และหนี้จำนวนนี้คนไทยทุกคนจะต้องแบกรับโดยการจ่ายภาษีเพื่อนำไปใช้หนี้คืน


กำลังโหลดความคิดเห็น