xs
xsm
sm
md
lg

“เพจการแพทย์” ยก 9 สาเหตุ เทียบกรณีหมดสติของ “คริสเตียน อีริกเซน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ “1412 Cardiology” เผยถึงความเป็นไปได้ 9 ข้อ ที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้กองกลางทีมชาติเดนมาร์ก หมดสติวูบกลางสนามระหว่างแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ยกเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ที่มีอาการคล้ายกัน

จากเหตุการเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอลโยรู 2020 ระหว่าง เดนมาร์ก พบกับ ฟินแลนด์ ในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม ปรากฏว่า คริสเตียน อีริกเซน กองกลาง จากสโมสรอินเตอร์ มิลาน และทีมชาติเดนมาร์ก วัย 29 ปี ล้มทรุดกลางสนาม ต่อมา สมาคมลูกหนังของเดนมาร์ก ออกแถลงการณ์สั้นๆ ถึงอาการของ อีริกเซน โดยยืนยันว่า เจ้าตัวปลอดภัยแล้ว หลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล “คริสเตียน อีริกเซน ฟื้นแล้วและอยู่ในระหว่างการตรวจเพิ่มเติม”

โดย อีริกเซน ถูกสงสัยว่า เกิดจากหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งตามรายงานระบุว่า หัวใจหยุดของ อีริกเซน หยุดเต้น 5 นาที ก่อนถูกหามออก

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. เพจ “1412 Cardiology” ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเผยถึงลักษณะอาการที่เกิดขึ้นเช่นนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุและเพื่อเป็นอุทาหรณ์ โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า

“กรณีของ คริสเตียน อีริกเซน เกิดจากอะไรต้องรอการวินิจฉัยจากทีมแพทย์ โพสต์นี้เป็นความรู้สำหรับกรณีอื่นๆ ในอนาคตที่เป็นลักษณะแบบนี้นะครับ

การล้มหมดสติไปทันทีเหมือนหลอดไฟขาด จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีอาการอะไรนำมาก่อน กรณีแบบที่เกิดกับ คริสเตียน อีริกเซน นักกีฬาอาชีพที่แข็งแรงมากและน่าจะตรวจคัดกรองหัวใจและหลอดเลือดมาอย่างละเอียดพอสมควร วอร์มร่างกายก่อนและลงเล่นไปได้ซักระยะนึง ขณะวิ่งมารับบอลที่ทุ่มจากเส้นข้างสนามแล้วล้มดับไปเลยแบบนี้ ไม่รู้สึกตัว จนทีมแพทย์ต้อง CPR มีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายอย่าง

1. ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอดฉับพลันในปริมาณที่มากจนทำให้เลือดกลับเข้าหัวใจห้องซ้ายได้จำกัดประกอบกับแรงดันในหัวใจข้างขวาสูงมากจำกัดการทำงานของหัวใจห้องซ้าย การออกแรงที่ร่างกายต้องใช้เลือดในปริมาณสูง เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอทำให้หมดสติได้

2. หลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และแสดงอาการด้วยหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะรุนแรง ซึ่งเกิดได้นะครับในนักกีฬาหรือคนอายุน้อย

3. ทางเดินหลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด โดยเฉพาะรายที่หลอดเลือดหัวใจวิ่งพาดผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงร่างกายและหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงปอด เวลาออกกำลังแรงดันที่สูงขึ้นในหลอดเลือดแดงใหญ่ทั้งสองบีบรัดหลอดเลือดหัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน และแสดงอาการด้วยหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะรุนแรง แต่ส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการมาก่อนหน้านี้แล้วไม่น่าเกิดกับนักกีฬาอาชีพ

4. โรคหัวใจแต่กำเนิดบางชนิดที่มีพังผืดในผนังหัวใจชักนำให้เกิดการเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่างรุนแรงจนหมดสติฉับพลันได้ขณะออกแรง ที่พบบ่อยในกลุ่มโรคนี้ ได้แก่ Hypertrophic Cardiomyopathy หรือ Arrhythmogenic Right Ventricular Cardiomyopathy ทั้งสองโรคนี้มักจะตรวจพบตั้งแต่ตอนตรวจคัดกรอง

5. โรคพันธุกรรมไฟฟ้าหัวใจ ที่เกิดการเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่างรุนแรงจนหมดสติฉับพลันได้ขณะออกแรง ที่พบบ่อยในกลุ่มโรคนี้ ได้แก่ LQT1 และ CPVT

6. โรคหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะที่เกิดในโครงสร้างหัวใจปกติที่สัมพันธ์กับการออกแรงและทำให้หมดสติได้ ได้แก่ AP-mediated tachycardia, PPM VT, RVOT/LVOT VT และ Purkinje-related VT

7. Reflex Syncope ที่สัมพันธ์กับการออกกำลัง ปกติเราจะพบหลังออกกำลังทันที แต่สามารถเกิดได้ในการเล่นกีฬาที่เร่งระดับการออกกำลังเป็นช่วงๆ และผ่อน หากพักผ่อนไม่พอ ร่างกายขาดน้ำ อาจกระตุ้นให้เกิดง่ายขึ้น กลุ่มนี้มักจะฟื้นได้เองในเวลาไม่เกิน 1 นาที และไม่ต้อง CPR

8. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส ยา หรือ วัคซีนโควิด กระตุ้นหรือชักนำให้เกิดหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะรุนแรงได้

9. การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดบางชนิดในปริมาณมากก่อนการแข่งขัน”



กำลังโหลดความคิดเห็น