ปัญหาชื่อสถานที่หรือพื้นที่ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน อาจทำให้สังคมเกิดความสับสนขึ้นมาบ้าง เนื่องจากชื่อสถานที่ต่างๆ แต่ละอย่างมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน ทำให้บางครั้งชื่อของสถานที่หรือพื้นที่นั้น ไปปรากฎอยู่ในพื้นที่ ซึ่งคิดว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่แห่งนั้น อาจจะสร้างความสับสนในการทำธุรกรรมบางอย่างไปบ้าง
รายงาน
จากกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ออกมาแถลงข่าวสถานการณ์ประจำวัน ระบุว่า มีคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ คือ "ห้างสรรพสินค้าเขตลาดพร้าว" พบผลเป็นบวก 23 ราย ทำให้บรรดาห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าที่อยู่บนทำเลลาดพร้าว ต่างออกมาปฏิเสธ ท้ายที่สุด ศบค. จึงต้องระบุสถานที่กันแบบตรงๆ ว่าเป็น "ห้างสรรพสินค้าโฮมโปร" เอกมัยรามอินทรา ซึ่งบนถนนประดิษฐ์มนูญธรรม แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าวจริง
ว่ากันด้วย เขตลาดพร้าว พบว่าไม่มีถนนลาดพร้าวตัดผ่าน เพราะถนนลาดพร้าวจากห้าแยกลาดพร้าวถึงแยกบางกะปิ พาดผ่านพื้นที่ 4 เขต คือ เขตจตุจักร ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงสะพานข้ามคลองน้ำแก้ว (ซอยลาดพร้าว 35), เขตห้วยขวาง ตั้งแต่สะพานข้ามคลองน้ำแก้ว ถึงสะพานข้ามคลองบางซื่อ (ซอยลาดพร้าว 43/1), เขตวังทองหลาง ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางซื่อ ถึงถนนลาดพร้าว 101 และเขตบางกะปิ ตั้งแต่แยกถนนลาดพร้าว 101 ถึงแยกบางกะปิ
ถนนลาดพร้าว เดิมคือถนนสายกรุงเทพ-บางกะปิ ก่อสร้างในสมัยปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2488 เป็นถนนดินลูกรังตัดมาจนถึงสามแยกสะพานคลองแสนแสบ เกิดการตั้งถิ่นฐานของชุมชนขึ้นตามรายทาง ต่อมามีการก่อสร้างเป็นทางหลวงแผ่นดิน และได้รับการกำหนดเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3185 และเปลี่ยนเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 336 ภายหลังกรมทางหลวงได้ยกให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล ปัจจุบันมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง
ส่วน เขตลาดพร้าว แยกการปกครองออกจากเขตบางกะปิมาตั้งแต่ปี 2532 มีเนื้อที่ 30.476 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 แขวง คือแขวงลาดพร้าว และแขวงจรเข้บัว โดยมีเส้นแบ่งเขตนับจากทิศเหนือลงมาคือ คลองลาดพร้าว จากปากคลองหลุมไฝ ผ่านถนนประเสริฐมนูญกิจ ถนนเสนานิคม 1 ถึงปากคลองน้ำแก้ว ทิศใต้ จากปากคลองน้ำแก้ว ถึงถนนโชคชัย 4 ก่อนจะลงมาฝั่งซอยเลขคู่ ถึงถนนสังคมสงเคราะห์ และเส้นแบ่งเขตจะอยู่บนถนนสังคมสงเคราะห์ ถึงถนนประดิษฐ์มนูญธรรม
เมื่อนับจากทิศตะวันออกขึ้นไป คือ ถนนประดิษฐ์มนูญธรรม วัดจากปากทางถนนสังคมสงเคราะห์ (เลยถนนลาดพร้าวมาประมาณ 1 กิโลเมตร) ผ่านเซ็นทรัลอีสต์วิลล์ เดอะคริสตัล ถนนประเสริฐมนูญกิจ ถึงสะพานข้ามคลองบางขวด จากนั้นเส้นแบ่งเขตการปกครองจะอยู่ที่คลองบางขวด คลองโคกคราม คลองสามขา คลองหลุมไฝไปถึงปากคลองบริเวณคลองลาดพร้าว โดยสำนักงานเขตลาดพร้าวตั้งอยู่บนถนนนาคนิวาส ต้องเข้าไปทางซอยลาดพร้าว 71 อีก 2 กิโลเมตร
ตัวอย่างต่อมา คือ ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางกะปิ ตั้งอยู่ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2500 หรือเมื่อ 64 ปีก่อน รวมทั้งยังมีธนาคารกสิกรไทย สาขาสุขุมวิท 33 (บางกะปิ) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2499 และยังเคยมีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบางกะปิ (สุขุมวิท 45) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2511 แต่ได้ยุบสาขาไปเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2561 หรือเมื่อประมาณ 3 ปีก่อนนี้เอง
ย่านดังกล่าวเดิมคือ ทุ่งบางกะปิ สมัยนั้นในอดีตเคยเป็นทุ่งนามาก่อน นายเหม เวชกร เคยขยายความไว้ในคำแนะนำท้ายหนังสือแผลเก่า ฉบับพิมพ์ครั้งแรกไว้ว่า คลองบางกะปิ เป็นคลองเล็ก ๆ ตัดจากคลองใหญ่สระประทุม ตัดผ่านทุ่งบางกะปิไปจนตลอดคลองแสนแสบ ต่อมามีชุมชนมาตั้งรกรากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อใช้อาศัยเป็นที่หลบภัยจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตร กระทั่งขยายตัวเจริญมากขึ้น กลายเป็นแหล่งที่พักอาศัยราคาแพงในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เขตบางกะปิที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน เดิมมีชื่อเรียกว่า บางกบี่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดกบฏที่เมืองนครจำปาศักดิ์และเมืองหลวงพระบาง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพไปปราบจนสำเร็จ และได้กวาดต้อนผู้คนตามหัวเมืองรายทางมาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมคลองแสนแสบและคลองกุ่ม เมื่อมีผู้คนหนาแน่นมากขึ้น จึงได้รับการจัดตั้งเป็น อำเภอบางกะปิ ขึ้นอยู่กับจังหวัดพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 ได้แบ่งตำบลบางกะปิ ตำบลห้วยขวาง จัดตั้งเป็นอำเภอพญาไท
กระทั่งในปี พ.ศ. 2515 ได้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรี เป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และ กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ อำเภอบางกะปิจึงเปลี่ยนฐานะเป็น เขตบางกะปิ แบ่งออกเป็น 9 แขวง แต่ได้โอนแขวงสามเสนนอกไปขึ้นกับเขตห้วยขวาง แยกเขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม และเขตวังทองหลาง เหลือพื้นที่เพียง 28.523 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยแขวงคลองจั่น และแขวงหัวหมาก นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี พ.ศ. 2516 ได้นำพื้นที่แขวงห้วยขวางและแขวงบางกะปิ จัดตั้งเป็น เขตห้วยขวาง โดยมีแขวงดินแดงและแขวงสามเสนนอกมารวมกัน ภายหลังแขวงดินแดงได้แยกตัวออกมาเป็น เขตดินแดง ต่างหากอีกด้วย
อ่านประกอบ : บางกะปิย้ายบาง จากถนนสุขุมวิทไปอยู่คลองจั่น!! เปิดตำนานพื้นที่กรุงเทพฯเป็นป่าชุ่มน้ำมาก่อน! ตัวอย่างที่น่าฉงนอีกอย่าง เขตบางเขน พบว่าบางสถานที่ไม่ได้อยู่ในเขตบางเขน เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน อยู่ในพื้นที่เขตจตุจักร ขณะที่ ตลาดบางเขน ใกล้แยกเสนานิคม อยู่ในพื้นที่เขตจตุจักร แขวงตลาดบางเขน อยู่ในเขตหลักสี่ หากย้อนกลับไปในอดีต เดิมคือ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 เดิมทิศตะวันตกของอำเภอมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี โดยใช้แนวคลองบางเขน และคลองเปรมประชากรเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัด
แต่ในปี พ.ศ. 2475 ทางราชการได้โอนพื้นที่ ต.ทุ่งสองห้อง อ.ปากเกร็ด และหมู่ 1-3 ต.ลาดโตนด อ.เมืองนนทบุรี มาอยู่ในท้องที่ปกครองของอำเภอบางเขน โดยมีคลองประปาที่ขุดขึ้นแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2456 เป็นเส้นแบ่งจังหวัดระหว่างพระนครกับนนทบุรี อย่างไรก็ตาม ยังมี ต.บางเขน อ.เมืองนนทบุรี โดยมีแนวเขตถัดจาก ต.สวนใหญ่ ไปตามคลองบางเขน ผ่านคลองประปา แล้วขนานไปกับคลองประปา ถึงรอยต่อกับ ต.ท่าทราย โดยมีสถานที่สำคัญคือ ห้างเดอะมอลล์งามวงศ์วาน
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ วัดสายไหม ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี สมัยก่อนหม่อมราชวงศ์หญิงน้อยและหม่อมหลวงนุ่ม ถวายที่ดิน 7 ไร่ 35 ตารางวา ริมคลองหกวาสายล่าง ฝั่งเหนือ เพื่อสร้างวัด เมื่อปี พ.ศ. 2441 อยู่ในพื้นที่ ต.สายไหม อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ต่อมา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์ ให้โอน ต.สายไหม ขึ้นกับ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร เพื่อประโยชน์แก่การปกครองและราชการทหาร
กระทั่งจังหวัดพระนครถูกยุบรวมกับจังหวัดธนบุรี เปลี่ยนฐานะเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี กลายมาเป็นกรุงเทพมหานคร ตำบลสายไหม กลายเป็น แขวงสายไหม เขตบางเขน แล้วแยกตัวออกเป็น เขตสายไหม ในปี 2540 ปัจจุบัน คลองหกวาสายล่างเป็นเส้นแบ่งการปกครองระหว่างเขตสายไหม กรุงเทพฯ กับ อ.ลำลูกกา ปทุมธานี สังเกตได้จากฝั่งตรงข้ามของวัดสายไหม คือ โรงเรียนสายไหม และ สน.สายไหม แต่สำนักงานเขตสายไหม ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนสุขาภิบาล 5 ตรงข้ามตลาดออเงิน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ สน.บางคอแหลม ตั้งอยู่ในซอยเดียวกับ สน.ราษฎร์บูรณะ ถนนราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ ทั้งที่ สำนักงานเขตบางคอแหลม ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 3 ซอย 7 อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เดิมเคยเป็นพื้นที่ จังหวัดพระประแดง ประกอบด้วย 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระประแดง อำเภอบ้านทะวาย อำเภอพระโขนง และอำเภอราษฎร์บูรณะ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2487 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงยุบจังหวัดพระประแดงลง
โดยแบ่งอำเภอพระประแดงไปขึ้นตรงกับจังหวัดสมุทรปราการ อำเภอบ้านทะวายและอำเภอพระโขนงไปขึ้นตรงกับจังหวัดพระนคร ส่วนอำเภอราษฎร์บูรณะให้ยุบรวมเข้ากับจังหวัดธนบุรี ภายหลังอำเภอบ้านทะวายได้แบ่งออกเป็นเขตยานนาวา เขตบางคอแหลม และเขตสาทรในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม กรมตำรวจในขณะนั้นได้แบ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล จากเดิมแบ่งเป็นกองบังคับการตำรวจนครบาลเหนือ กองบังคับการตำรวจนครบาลใต้ และกองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี ให้แบ่งออกเป็น กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 แต่ยุคนั้นกำหนดเขตอำนาจรับผิดชอบและพื้นที่การปกครองไว้แต่เฉพาะทางบกเท่านั้น ทำให้พื้นที่ทางน้ำตามแนวร่องน้ำลึกฝั่งกรุงเทพฯ ช่วงตั้งแต่เสาหินหลักเขตท่าเรือกรุงเทพ ใกล้วัดแจงร้อน ไปจนถึงแนวหลักแบ่งเขตระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดสมุทรปราการ ตรงบริเวณวัดโยธินประดิษฐ์ (วัดบางวัว) ไม่มีหน่วยงานใดมีอำนาจรับผิดชอบงานด้านสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้น
ต่อมาวันที่ 12 มี.ค. 2546 ได้มีประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจการรับผิดชอบ และพื้นที่การปกครองของ สถานีตำรวจนครบาลบางคอแหลม ในสังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาล 8 แต่ภายหลังในปี 2555 ได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบขึ้นมาใหม่ กินพื้นที่ทางน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่แนวรั้วเหล็กสะพานกรุงเทพด้านเหนือ ถึงปลายถนนสาธุประดิษฐ์ฟากใต้ จากนั้นกินพื้นที่ทางน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาถึงปากคลองวัดแจงร้อน รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับ จ.สมุทรปราการ (พื้นที่ทางบกเป็นของ สน.ราษฎร์บูรณะ)
ส่วนพื้นที่ทางบก เริ่มต้นจากปากคลองบางปะกอกฝั่งเหนือ ถึงถนนราษฎร์บูรณะ ขนานไปทางถนนราษฎร์บูรณะฝั่งตะวันออก ถึงคลองบางปะแก้ว ขนานไปกับคลองบางปะแก้วฝั่งเหนือ ถึงถนนสุขสวัสดิ์ ขนานไปกับถนนสุขสวัสดิ์ฝั่งตะวันออก ถึงสะพานข้ามคลองดาวคะนอง ขนานไปกับคลองดาวคะนอง ถึงปากคลองด้านแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นกินพื้นที่ทางน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงแนวรั้วเหล็กสะพานกรุงเทพด้านเหนือ (พื้นที่ทางบกเป็นของ สน.บุคคโล)
ส่วนอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าฉงน คือ สถานีตำรวจนครบาลบางเสาธง ที่บางคนอาจสับสนกับ สภ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ แต่โรงพักแห่งนี้ตั้งอยู่ริมคลองบางเชือกหนัง ซอยบางแวก 2 ติดกับวัดปากน้ำฝั่งใต้ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ก่อตั้งปีใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่ได้เริ่มสร้างอาคารแบบโบราณ ในปี พ.ศ. 2472 โดยพื้นที่รับผิดชอบเดิม ทิศเหนือตั้งแต่ถนนสุภาพบุรุษ คลองบางพรหม ยาวไปถึงคลองบางขุนศรี ส่วนทิศใต้ตั้งแต่คลองบางไผ่ คลองราชมนตรี คลองบางแวก ถึงคลองบางกอกใหญ่
ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ร.ต.ต.ขุนวิจารณ์ กิจชอบ หัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจนครบาลศาลาแดง ขออนุมัติกรมตำรวจซื้อที่ดินบริเวณหมู่ที่ 6 แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพฯ กระทั่งปี พ.ศ. 2520 ตั้งเป็น สถานีตำรวจนครบาลศาลาแดง แยกจาก สน.บางเสาธงต่างหาก โดยชื่อของ สน.ศาลาแดง ที่บางคนอาจสับสนกับสี่แยกศาลาแดง ถนนสีลมตัดกับถนนพระราม 4 แต่ความจริงก็คือ ตั้งมาจาก วัดศาลาแดง ริมคลองทวีวัฒนา ถนนทวีวัฒนา แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพฯ โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบแยกจาก สน.บางเสาธง ต่างหาก โดยมีถนนกาญจนาภิเษกเป็นเส้นแบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบ
ตัวอย่างสุดท้าย คือ ที่ทำการไปรษณีย์บางแค อยู่ในเขตภาษีเจริญ แต่ที่ทำการไปรษณีย์ภาษีเจริญ อยู่ในเขตบางแค ย้อนกลับไปในอดีต มีการขุดคลองภาษีเจริญ เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับคลองบางกอกใหญ่ ในปี พ.ศ. 2415 กระทั่งมีผู้คนย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมคลองมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2442 ทางราชการจึงได้จัดตั้งอำเภอภาษีเจริญ ขึ้นตรงกับจังหวัดธนบุรี และในปี พ.ศ. 2498 กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งสุขาภิบาลบางแค ครอบคลุมเกือบทั้งอำเภอภาษีเจริญ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ได้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรี เป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และกรุงเทพมหานครตามลำดับ ทำให้กลายมาเป็นเขตภาษีเจริญ ต่อมากรุงเทพมหานครได้จัดตั้งสำนักงานเขตภาษีเจริญ สาขา 1 ดูแลแขวงบางแค บางแคเหนือ และบางไผ่ แล้วยกฐานะตั้งเป็นเขตบางแค
ที่ทำการไปรษณีย์ภาษีเจริญ ถนนเพขรเกษม ระหว่างพุทธมณฑล สาย 2 และสาย 3 เดิมตั้งอยู่ที่ทางทิศตะวันตกของเขตภาษีเจริญ แต่ในปี พ.ศ. 2540 อยู่ในพื้นที่แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพฯ ภายหลัง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ตั้งที่ทำการไปรษณีย์เพิ่มเติม ได้แก่ ไปรษณีย์บางแค (10161) ปัจจุบันตั้งอยู่ที่อาคารพาณิชย์ ถนนพุทธมณฑล สาย 1 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ
ไปรษณีย์หนองแขม (10162) ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยสยาม (10163) ศูนย์ไปรษณีย์รับฝากเพชรเกษม 81 (10164) ไปรษณีย์ซีคอนบางแค (10165) นอกจากนี้ได้จัดตั้งเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ (คปณ.) สังกัดไปรษณีย์ภาษีเจริญ ได้แก่ คปณ.สำเพ็ง 2, คปณ.จุดบริการด่วนมหานครเดอะมอลล์บางแค และ คปณ.เจ้าสัว 69