xs
xsm
sm
md
lg

บางกะปิย้ายบาง จากถนนสุขุมวิทไปอยู่คลองจั่น!! เปิดตำนานพื้นที่กรุงเทพฯเป็นป่าชุ่มน้ำมาก่อน!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

เรือเมล์ขาวของบริษัทนายเลิศ
เมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อน ถ้าพูดถึงบางกะปิ คนสมัยนั้นจะรู้กันดีว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของคนรวย ของฝรั่ง มีคฤหาสน์หลังงามๆทันสมัย เรียงรายอยู่สองฟากถนนลาดยางที่มีคูน้ำอยู่ทั้งสองข้าง เริ่มตั้งแต่ทางรถไฟตรงสุดถนนเพลินจิตไปจนถึงพระโขนง

ก็ที่เขาเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า “ถนนสุขุมวิท” นี่แหละ

แต่ตอนนี้ถ้าพูดกันถึงบางกะปิ คนทั่วไปจะรู้กันว่าอยู่ปลายถนนลาดพร้าว แถวที่เขาเรียกกันว่าคลองจั่น ซึ่งที่ว่าการเขตบางกะปิก็อยู่แถวนั้น เป็นการยืนยันว่าบางกะปิอยู่ตรงนั้นแน่

หากใครหลงยุคไปบอกว่า “บางกะปิอยู่แถวถนนสุขุมวิท” เดี๋ยวก็ต้องทะเลาะกันตายกับนิวเยนเนอเรชั่น ที่รู้จักแต่บางกะปิที่อยู่คลองจั่น เดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ ก็อยู่ตรงนั้น

เรื่องนี้เลยต้องให้ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางกะปิ มาช่วยยืนยัน ตอนนี้ก็ยังอยู่ที่เก่าเหมือนแรกตั้ง คือเลขที่ ๑๘๒ ถนนสุขุมวิท ใกล้ๆกับซอยนานา อยู่ในเขตคลองเตย ส่วนอีกฝั่งของถนนสุขุมวิท แยกออกไปเป็นเขตวัฒนาเมื่อปี ๒๕๔๑ มานี่เอง ไม่ได้ย้ายตามบางไปด้วย

ส่วนธนาคารกรุงเทพ สาขาที่อยู่ห่างที่ว่าการเขตบางกะปิไปร้อยกว่าเมตร กลับได้ชื่อว่า ธนาคารกรุงเทพ สาขาคลองจั่นไปฉิบ

ความจริงแต่ก่อนนั้นบางกะปิเป็นทุ่งกว้าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งหลวง ที่มีอาณาบริเวณ
ตั้งแต่ใต้กรุงศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพฯ ส่วนด้านตะวันตกตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาจนไปจดแม่น้ำนครนายก ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีหนองบึงอยู่ทั่วไป มีป่าละเมาะ พงหญ้า พงแขม สลับกัน อยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง ๑-๒ เมตร ในฤดูน้ำเหนือหลาก น้ำจะบ่าเข้าท่วมทุ่งแห่งนี้ปีละ ๓-๔ เดือนทุกปี และขังอยู่ตามหนองบึง แต่ก็ยังมีที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงกระจายอยู่ทั่วไป พืชที่ขึ้นอยู่ก็ต้องปรับตัวให้ทนต่อสภาพน้ำท่วมและดินเปรี้ยว คือค่อนข้างเป็นกรด สภาพป่าจัดอยู่ในประเภท “ป่าบึง” (Swamp forest) เป็นแหล่งธรรมชาติที่มีลักษณะเฉพาะของประเทศ และเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าหลายชนิด รวมทั้งเสือ ช้าง กระทิง เก้ง กวาง เนื้อทราย และเนื้อสมัน กวางเขางามที่สุด ซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นมีอยู่ในย่านนี้แห่งเดียวในโลก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการคล้องช้างกัน ก็คล้องในบริเวณนี้ ช้างจากดงพญาไฟและเขาใหญ่ก็ลงมาหากินถึงบริเวณนี้ด้วย ทั้งยังเป็นที่อยู่ของนกน้ำนานาชนิด ในเขตทุ่งหลวงนี้ไม่มีผู้คนเข้าไปอยู่อาศัยนอกจากชายขอบ

ทุ่งหลวงเริ่มเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อไทยทำสงครามยืดเยื้อถึง ๑๔ ปี เพื่อขจัดอิทธิพลของญวนที่เข้ายึดครองเขมร และเพื่อให้การขนส่งเสบียง ยุทธปัจจัย ตลอดจนกำลังพลสะดวกขึ้น ในปี ๒๓๘๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง โดยขุดต่อจากคลองตันที่เชื่อมคลองหัวหมาก คลองบางกะปิ คลองมหานาคอยู่แล้ว ผ่าทุ่งหลวงไปออกแม่น้ำบางปะกงที่บางขนาก เมืองฉะเชิงเทรา มีความยาว ๕๓.๕๒ กิโลเมตร เรียกว่า “คลองแสนแสบ”

เมื่อขจัดอิทธิพลญวนออกจากเขมรได้แล้ว คลองนี้จึงถูกใช้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ทำให้การเดินทางจากบางกอกไปเมืองแปดริ้วและเมืองปราจีนสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก ต่อมาจึงมีผู้คนอพยพมาอยู่ตามแนวชายคลอง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงเปิดประเทศทำสัญญาทางการค้ากับบรรดาชาติตะวันตกหลายชาติ ทำให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกจนผลิตไม่พอขาย และขายกันจนคนไทยแทบไม่มีข้าวกิน รัฐบาลจึงสนับสนุนให้ราษฎรบุกเบิกที่ดินทำเป็นนาข้าว ขยายขึ้นไปทางเหนือและตะวันออกของกรุงเทพฯ อันเป็นบริเวณทุ่งหลวงซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทุ่งหลวงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อจะขยายพื้นที่ทำนาออกไปให้กว้างใหญ่ไพศาล ทั้งยังไม่ต้องใช้เงินหลวง โดยให้บริษัทเอกชนขุดคลองผันน้ำเข้าไปในพื้นที่ซึ่งเหมาะแก่การทำนา ตอบแทนค่าขุดเป็นที่ดินสองฝั่งคลองที่ขุดฝั่งละ ๔๐ เส้น หรือ ๑,๖๐๐ เมตร สำหรับคลอง ๘ วา ส่วนคลอง ๖ วา ฝั่งละ ๓๐ เส้น และคลอง ๕ วา ฝั่งละ ๒๕ เส้น เพื่อจัดสรรให้ราษฎรที่เรียกว่า “คนช่วยค่าขุดคลอง” เข้าทำกิน

ซึ่งก็คือคลองทั้งหลายในย่านรังสิตขณะนี้

บริษัทได้เริ่มขุดคลองในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๓๓ แล้วเสร็จในปี ๒๔๔๐ ใช้เวลาถึง ๗ ปี พระราชทานชื่อว่า “คลองรังสิตประยูรศักดิ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) พระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.เนื่อง สนิทวงศ์ พระธิดาในพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ซึ่งพระองค์เจ้าสายฯก็คือผู้เสนอโครงการนี้และขุดคลองทั้งหมด ต่อมาได้เรียกกันสั้นๆว่า “คลองรังสิต” ทั้งทุ่งหลวงในย่านคลองรังสิต ก็เรียกว่า “ทุ่งหลวงรังสิต” ให้ต่างจากทุ่งหลวงย่านคลองที่ขุดในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเรียกว่า “ทุ่งหลวงแสนแสบ”

การอพยพของผู้คนเข้ามาอยู่ในบริเวณทุ่งหลวงนี้ ได้เริ่มขึ้นแถบคลองแสนแสบในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก่อน จนในราวปี ๒๔๓๘ เมื่อขุดคลองรังสิตสายหลักเสร็จ ระหว่างขุดคลองซอยแยกออก ๒ ด้าน ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นในระบบชลประทาน จึงอพยพเข้ามาอยู่ทุ่งรังสิตกันมาก ด้วยแรงจูงใจจากราคาข้าวส่งออก ประกอบกับมีการเลิกทาส จึงมีการผลักดันให้ทาสที่ได้รับอิสระเข้าไปทำงานในพื้นที่เกษตรใหม่ในย่านนี้ ทำให้ทุ่งรังสิตมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ มีผลผลิตราว ๑๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี หรือร้อยละ ๑๐ ของผลผลิตข้าวในภาคกลาง มีคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้ง ไทย จีน มอญ ลาว และมลายู ส่วนศาสนาก็มีทั้งพุทธ อิสลาม และคริสต์ ปะปนกัน

ทุ่งหลวงอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า จึงค่อยๆกลับกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคน และเรียกชื่อต่างๆกันไปตามย่าน เป็น ทุ่งรังสิต ทุ่งบางกะปิ ทุ่งพญาไท ทุ่งส้มป่อย ทุ่งสามเสน ทุ่งปทุมวัน ทุ่งหัวลำโพง ทุ่งศาลาแดง จนถึงทุ่งพระโขนง

ส่วนทุ่งบางกะปินั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ ครอบคลุมทั้งย่านคลองจั่นและย่านที่เป็นต้นทางของถนนสุขุมวิทด้วย ถูกบุกเบิกเป็นนาด้วยกัน แต่กรุงเทพฯขยายเมืองมาทางย่านถนนสุขุมวิทก่อน คนสมัยก่อนจึงรู้จักแต่ทุ่งบางกะปิในย่านนี้ ส่วนทุ่งบางกะปิด้านคลองจั่นยังเป็นทุ่งนานอกเมือง

ผู้ที่บุกเบิกนำความรุ่งเรืองมาสู่ทุ่งบางกะปิย่านถนนสุขุมวิทรายแรก ก็คือ “โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย” ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๗ โดยคณะมิชชันนารีอเมริกัน ในชื่อ “โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง” ตั้งอยู่ในบริเวณวังหลังซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงเรียนประจำ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เด็กผู้หญิงได้มีโอกาสเรียนหนังสือเหมือนเด็กผู้ชาย จึงนำวิชาเย็บปักถักร้อยมาสอนก่อน ต่อมาก็สอนให้อ่านเขียนหนังสือ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป โดยเฉพาะในครอบครัวของพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง จนต้องปฏิเสธการรับนักเรียนทุกปีเพราะล้นห้อง และบริเวณโรงเรียนก็ขยายไม่ออก ต่อมาในปี ๒๔๕๗ แหม่มโคล ซึ่งเป็นครูใหญ่ ได้มาซื้อที่ ๒๕ ไร่ในทุ่งบางกะปิ เลยสถานทูตอังกฤษออกไป และยังไม่มีชุมชนในย่านนั้น การคมนาคมก็มีแต่ทางคลองแสนแสบ ที่มาซื้อไกลถึงที่นี่ก็เพราะมีผู้มายัดเยียดขายให้ คณะมิชชันนารีก็ไม่ชอบที่ แหม่มโคลเลยใช้เงินส่วนตัวซื้อไว้ เพราะเห็นว่าจะขยายโรงเรียนได้เต็มที่

ในที่สุดโรงเรียนกุลสตรีวังหลังก็คับแคบเกินกว่าจะอยู่ที่เก่าได้ ในปี ๒๔๕๘ รับนักเรียนไว้ถึง ๑๒๐ คน จึงคิดย้ายไปที่ใหม่ที่แหม่มโคลซื้อไว้ ถึงไกลก็คงไม่มีปัญหามากนัก เพราะเป็นโรงเรียนประจำไม่ได้ไปมาทุกวัน จึงได้ซื้อเพิ่มขยายออกไปอีก เริ่มลงมือสร้างตึกแรกในปี ๒๔๖๒ และเปิดสอนในปี ๒๔๖๔ โดยขนย้ายจากวังหลังมาทางเรือ พร้อมกับขอพระราชทานถนนจาก ร.๖ ทรงพระกรุณารับสั่งถามด้วยว่า จะให้ถนนห่างจากโรงเรียนแค่ไหน ตอนนั้นมีผู้เสนอตั้งชื่อถนนที่ต่อจากถนนเพลินจิตตรงทางรถไฟมาถึงปากซอยวัฒนา ว่า “ถนนแหม่มโคล” แต่เจ้าของชื่อปฏิเสธ ต่อมาจึงมีการปรับปรุงถนนเส้นนี้ต่อไปจนถึงสมุทรปราการ ได้ชื่อว่า ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ” เปิดใช้ในวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๗๙ และมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนสุขุมวิท” ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๓ เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) อธิบดีกรมทาง

โรงเรียนกุลสตรีวังหลังทำให้มีผู้ย้ายบ้านตามมาอยู่ย่านนี้ด้วย โดยเฉพาะผู้ปกครองนักเรียน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัฒนาวิทยาลัย” ในปี ๒๔๖๖ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๕

ส่วนอีกรายที่มาสร้างความสดใสให้ทุ่งบางกะปิย่านสุขุมวิท ก็คือ บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ผู้บุกเบิกภาพยนตร์ไทยเสียงในฟิล์ม ซึ่งย้ายโรงถ่ายจากย่านสะพานขาว มหานาค หนีเสียงรบกวนขณะถ่ายทำภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม มาอยู่ใกล้ปากซอยวัฒนาที่เงียบสงบ สร้างโรงถ่ายขนาดใหญ่ขึ้นที่นี่ สั่งอุปกรณ์การถ่ายทำเช่นเดียวกับฮอลลีวูดมาใช้ และยังสร้างสวนดอกไม้และบ่อน้ำให้เป็นที่พักผ่อนของดาราระหว่างรอการถ่ายทำ บางครั้งก็ใช้เป็นฉากถ่ายทำกลางแจ้งด้วย ทำให้มีคนมาเยี่ยมโรงถ่ายจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ส่วนทุ่งบางกะปิย่านคลองแสนแสบจากคลองหนองจอกออกไป ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่นเดียวกัน ขณะที่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามขุดคลองรังสิต ทางคลองแสนแสบราษฎรก็บุกเบิกที่ทำกินของตัวเหมือนกัน จากการสำรวจในปี ๒๔๓๑ บริเวณทุ่งแสนแสบต่อกับตอนใต้ของทุ่งรังสิตยังปรากฏว่ามีช้างป่าอาศัยอยู่ แม้มีคนอยู่บ้างแต่ก็บางตา ต่อมาอีก ๗ ปีใน พ.ศ.๒๔๓๘ เมื่อไปสำรวจพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง กลับพบว่าพื้นที่กลายเป็นชุมชนที่อยู่ของชาวบ้าน และแหล่งเพาะปลูกไปแล้ว ส่วนช้างป่าถูกขับไล่ออกไปจนไม่เหลือ

พร้อมกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงสร้างเมืองธัญญบุรีขึ้นที่ทุ่งรังสิตในปี ๒๔๔๕ ในปีเดียวกันนั้นก็โปรดให้รวมอำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอหนองจอก และอำเภอเจียรดับ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตหนองจอก ตั้งขึ้นเป็นเมืองใหม่ พระราชทานามว่า “เมืองมีนบุรี” หมายถึง “เมืองปลา” ให้เคียงคู่กับ “เมืองข้าว” คือธัญญบุรี

ต่อมาในปี ๒๔๗๔ สมัยรัชกาลที่ ๗ โปรดให้ยุบเมืองมีนบุรีลงเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดพระนคร และในปี ๒๕๔๐ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้แยก ๕ แขวงด้านเหนือของเขตมีนบุรี ออกไปตั้งเป็น “เขตคลองสามวา” ทำให้พื้นที่ของเขตมีนบุรีเหลือ ๖๐ ตารางกิโลเมตรเศษ

คลองรังสิตเป็นคลองส่งน้ำเข้านา ห้ามเรือยนต์ผ่าน หรือผ่านได้ก็ต้องเบาเครื่องที่สุด แต่คลองแสนแสบซึ่งขยายความกว้างของคลองออกไปเป็น ๒๕ เมตร และมีคลองซอยออกไปมากกว่า ๕๐ คลอง เช่น คลองจั่น คลองกุ่ม คลองสามวา คลองหัวหมาก ใช้เพื่อการคมนาคมมากกว่า โดยเฉพาะคลองแสนแสบ เป็นเส้นทางตรงระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองแปดริ้ว มีเรือเมล์รับ-ส่งสินค้าและผู้โดยสารโดยบริษัทนายเลิศ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เรือขาว” วิ่งประจำ และได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะปรากฏว่าบริษัทนายเลิศมีเรือวิ่งอยู่ในคลองแสนแสบมากกว่า ๓๐ ลำ และยังมีเรือขนสินค้าโดยเฉพาะอีก ๒ บริษัท คือบริษัทแหลมทองกับบริษัทประเวศ ใช้เรือต่อขนาดใหญ่บรรทุกสินค้า แล้วลากจูงเป็นขบวน ส่วนตามรายทางก็มีตลาดเกิดขึ้นริมคลองหลายแห่ง เช่น ตลาดประตูน้ำเฉลิมโลก ตลาดคลองตัน ตลาดวัดตึก ตลาดบางกะปิ ตลาดบางเตย ตลาดหลอแหล ตลาดบางชัน ตลาดมีนบุรี ตลาดคู้ ตลาดเจียรดับ และตลาดหนองจอก เป็นต้น ทั้งในคลองยังมีพ่อค้าเร่นำสินค้าใส่เรือไปขาย ส่วนคนที่จะเดินทางใกล้ๆก็มีเรือแจวรับจ้าง ชุมชนริมคลองแสนแสบจึงคึกคักมีชีวิตชีวา มีมัสยิดและวัดอยู่ติดกันก็มี เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ในน้ำก็อุดมไปด้วยปลา ท่านผู้เฒ่าผู้แก่ของย่านนี้เล่าว่า แต่ก่อนหาปลากรายขนาด ๑๐ กิโลในคลอง ง่ายกว่าหาซื้อปลานิลในตลาดตอนนี้เสียอีก

สรุปว่า บางกะปิที่ย่านคลองจั่น ไม่ได้ย้ายบางมาจากถนนสุขุมวิท ต่างก็อยู่ในทุ่งบางกะปิด้วยกัน เพียงแต่ดังคนละยุค คนที่อายุ ๗๐ ปีขึ้นไปรู้จักแต่บางกะปิที่ถนนสุขุมวิท ส่วนบางกะปิย่านคลองจั่นมาเริ่มดังเมื่อมีถนนลาดพร้าวและถนนรามคำแหงตัดเข้าไป มีการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี ๒๕๐๙ หลังจากเสร็จงานก็ใช้สถานที่นี้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกับที่จัดงานแสดงสินค้าไทยก็เป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ครั้งแรกด้วย และใช้ย่านคลองจั่นเป็นที่ตั้งสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันพร้อมหมู่บ้านนักกีฬา และสวนพฤกษชาติ เสร็จงานการเคหะก็จัดการขายบ้านนักกีฬาให้ประชาชน กลายเป็นเคหะชุมชนคลองจั่นในปัจจุบัน

เมื่อตอนที่จัดงานแสดงสินค้า บริเวณนี้ยังเป็นทุ่ง ไม่มีการคมนาคมสาธารณะ รัฐบาลต้องไปขอร้องให้บริษัทรถเมล์ทั้งหลายช่วยเปิดเดินรถสายชั่วคราวให้ประชาชนไปชมงาน แต่เดี๋ยวนี้ทั้งบางกะปิที่ถนนสุขุมวิทกับบางกะปิที่คลองจั่นมีเหมือนกันอยู่อย่าง ที่รถติดวินาศสันตโรด้วยกันทั้งคู่
แผนผังงานแสดงสินค้านานาชาติ ก่อนเป็นมหาวิทยาลัยรามคำแหง
.  ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางกะปิ ที่ถนนสุขุมวิทในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น