xs
xsm
sm
md
lg

“แค่ข้ามแม่น้ำโกลก” สาเหตุโควิด-19 “สายพันธุ์แอฟริกา” เข้าไทยที่ตากใบ หวั่นไม่ได้มีแค่จุดเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรณีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พบวิธีข้ามไป-มาผ่านช่องทางธรรมชาติ "ข้ามแม่น้ำโกลก" ยาวกว่า 100 กิโลเมตร ไม่ผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมืองตามกฎหมาย


รายงานพิเศษ

จากข้อมูลจนถึงเช้าวันที่ 24 พ.ค. 2564 ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 83 คน และเมื่อนำผู้ติดเชื้อ 10 คน ไปตรวจ ก็พบว่า มี 3 คน ได้รับเชื้อสายพันธุ์แอฟริกา ซึ่งถือเป็นการพบการระบาดครั้งแรกของสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย (นอกสถานที่กักกันโรคที่รัฐจัดเตรียมไว้ หรือ State Quarantine)

จนมีคำถามว่า ในเมื่อประเทศไทยปิดพรมแดนอย่างเข้มงวด และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องถูกกักตัวก่อนเข้าประเทศ เหตุใดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาจึงหลุดเข้ามาได้

ข้อมูลจากการสอบสวนโรค ระบุว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกา 3 คน มาจากลุ่มผู้ถูกตรวจ 10 คน ในครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวนี้ มี 3 คน ที่เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีการระบาดของสายพันธุ์นี้อยู่แล้ว

ผู้ติดเชื้อรายหนึ่งในครอบครัวนี้ เป็นชาย อายุ 32 ปี ได้สัมผัสใกล้ชิดกับ 3 คน ที่มาจากมาเลเซีย คือ ภรรยาซึ่งเป็นชาวมาเลเซีย แม่ของเขา และลูกของเขา ทั้ง 3 คนเดินทางมาจากมาเลเซียตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. และชายคนนี้เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 26 เม.ย. ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อในวันที่ 4 พ.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ครอบครัวเดินทางกลับไปที่มาเลเซียแล้ว

จากนั้นแม่ของเขาก็ป่วยอยู่ที่มาเลเซีย และกลับมารักษาที่ประเทศไทยอีกจนหายป่วยแล้ว ทางสาธารณสุขจึงใช้ผู้ติดเชื้อ 10 คน ที่มาจากครอบครัวนี้มาตรวจหาสายพันธุ์ และพบว่ามี 3 คน ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกา โดยจะตรวจชายวัย 32 ปี คนนี้อีกครั้งในวันนี้ (24 พ.ค.)

ที่น่าสนใจคือ วิธีการเดินทางของครอบครัวที่มาจากมาเลเซีย ซึ่งมาโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ คือ นั่งเรือข้ามแม่น้ำโกลกจากรัฐกลันตันในมาเลเซีย มาที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยไม่ผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมืองตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่ต้องกักตัวใน State Quarantine และเดินทางกลับไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ก็ใช้ช่องทางธรรมชาติอีกเช่นกัน

กลายเป็นคำถามอีกข้อหนึ่งว่า การข้ามแดนโดยใช้แม่น้ำโกลก ระหว่าง จ.นราธิวาส กับประเทศมาเลเซีย มีมากน้อยแค่ไหน

ย้อนไปดูข่าวในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา วันที่ 19 เม.ย. เจ้าหน้าที่จับกุมแรงงานไทย 44 คน ที่ริมแม่น้ำโกลก ใต้สะพานข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ที่ลักลอบเข้าไทย เพราะไปทำงานโดยไม่มีหนังสือเดินทาง

หมายความว่า ใช้วิธีการเดียวกันในการข้ามไปทำงานที่มาเลเซีย 

เมื่อมาดูภูมิลำเนา ยังพบข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะ 44 คนนี้ จะกลับไปทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นชาวปัตตานี 30 คน ยะลา 6 คน นราธิวาส 6 คน สงขลา 1 คน และนครศรีธรรมราช 1 คน

อ่านข่าว : จับ 44 แรงงานชาวไทยลักลอบข้ามแดนที่แม่น้ำโก-ลก เผยสาเหตุไร้หนังสือเดินทาง 

11 มี.ค. มีการจับคนไทย 23 คน ในรูปแบบเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน มีทั้งชาวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

และตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย ทั้งทหาร และตำรวจตระเวนชายแดน ได้สั่งให้ตรวจตราจุดอ่อนไหวในการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด เพราะเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักในมาเลเซีย ทำให้ทางการมาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ ค้าขายไม่ได้ และไม่สามารถเดินทางข้ามรัฐได้อีกด้วย

จึงอาจมีแรงงานไทยจำนวนมากที่ต้องการกลับภูมิลำเนา แต่ไม่สามารถทำตามกฎหมายได้ เพราะไม่มีหนังสือเดินทาง เนื่องจากออกจากประเทศไปอย่างไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก


หากดูในแผนที่ จะพบว่า แม่น้ำโกลก ถูกใช้เป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทย-มาเลเซีย ถึงประมาณ 100 กิโลเมตร ตั้งแต่ อ.แว้ง, อ.สุไหงโกโลก จนมาถึงปากแม่น้ำออกสู่ทะเลที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

แหล่งข่าวใน จ.นราธิวาส ให้ข้อมูลว่า การเดินทางข้ามไปมาระหว่างไทย-มาเลเซีย โดยข้ามแม่น้ำโกลก มีหลายรูปแบบ

รูปแบบที่ 1 คือ รูปแบบที่ปรากฏในข่าว เป็นกลุ่มแรงงานไทย ที่ส่วนใหญ่ข้ามไปทำงานร้านอาหารในมาเลเซีย เพราะอาหารไทยเป็นที่นิยม แต่เมื่อแรงงานกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ในมาเลเซียเป็นเวลานาน จึงไม่ได้ขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) อย่างถูกต้อง และต้องใช้วิธีลักลอบเข้ามาเลเซีย เพราะหากเข้าเมืองตามช่องทางปกติ ก็จะไม่สามารถอยู่ทำงานระยะยาวได้
ดังนั้น เมื่อจะกลับมาประเทศไทยเพื่อเยี่ยมญาติ หรือมาในเทศกาลสำคัญก็ต้องใช้วิธีลักลอบเข้าเมืองกลับมาเช่นกัน

ส่วนเรือที่ใช้สำหรับการข้ามแดนรูปแบบนี้ มีข้อมูลว่า เป็นเรือจ้างของชาวมาเลเซีย เพราะเรือของทางฝั่งไทย ไม่กล้ารับจ้าง มีราคาในการข้ามเที่ยวละ 500 ริงกิต (3,500 – 5,000 บาท ตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน)

กลุ่มแรกนี้กลับเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับครอบครัวของผู้ติดเชื้อ

รูปแบบที่ 2 คือกลุ่มที่ข้ามไปมา “ทุกวัน” เพราะประกอบอาชีพรับจ้างอยู่ในฝั่งมาเลเซีย กลุ่มนี้เดิมทีทำงานแบบไปเช้า-เย็นกลับ มีเรือเป็นของตัวเอง มีบ้านคนสนิทหรือญาติที่สามารถจอดเรือในบ้านได้เลยอยู่ที่ฝั่งมาเลเซีย พวกเขามีรายได้หลักอยู่ที่งานในฝั่งมาเลเซีย จึงต้องข้ามไปมาบ่อยๆ โดยไม่ใช้ช่องทางตามกฎหมายเช่นกัน เพราะไม่มี Work Permit และไม่ต้องการถูกกักตัวนานๆ ในระหว่างการข้ามแดน

ส่วนในช่วงโควิด-19 ซึ่งมีตำรวจตระเวนชายแดนตรวจตราพื้นที่ริมแม่น้ำโกลกเข้มงวด ก็จะเลือกข้ามแดนในเวลากลางคืน ใช้วิธีพายเรือโดยไม่ติดเครื่องยนต์เพื่อไม่ให้มีเสียง

รูปแบบที่ 3 คือ กลุ่มลักลอบขนของเถื่อน หรือสินค้าหนีภาษี ไม่ว่าจะเป็นขนม ช็อกโกแลต ถั่ว บุหรี่ รวมทั้งน้ำมันเถื่อน โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินเปลี่ยนแปลง จาก 1 ริงกิต = 10 บาท เหลือเพียง 7 บาท ทำให้การนำของจากมาเลเซียมาขายในไทยยิ่งได้กำไรมากขึ้น

แต่แหล่งข่าวยืนยันว่า ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เป็นช่วงที่การขนของหนีภาษีข้ามมาทางเรือเช่นนี้ทำได้ยากขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่วางกำลังเยอะขึ้น และแทบจะไม่พบเห็น

เมื่อพิจารณาข้อมูลที่ได้จากแหล่งข่าวในพื้นที่ จ.นราธิวาส จะเห็นได้ว่า การข้ามแดนจากมาเลเซียมาไทยผ่านแม่น้ำโกลก โดยไม่เข้าสู่ระบบตรวจคนเข้าเมือง ไม่ผ่านการกักตัวตามมาตรการของรัฐ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะทุกวันในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา

ดังนั้น เมื่อตรวจพบเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาในพื้นที่ และมั่นใจแล้วว่าเชื้อถูกพามาโดยคนที่เดินทางมาจากมาเลเซีย นั่นหมายความว่า นอกจากการปิดล็อกพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ ซึ่งทำอยู่แล้ว 

รัฐอาจยังต้องหาข้อมูลเชิงลึกอย่างเร่งด่วนว่า พื้นที่ใดอีกบ้างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผู้เดินทางมาจากประเทศมาเลเซียด้วยการลักลอบเข้าเมืองในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา 

เพราะอาจกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกา ที่ต้องใช้มาตรการตรวจเชิงรุกเข้าไปปฏัติการทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น