นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาเคลื่อนไหวโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุคดีหมิ่นประมาทยิ่งพูดยิ่งผิด โดยเฉพาะปิดปากทางการเมือง แนะรัฐบาลอย่านำเรื่องวัคซีนโควิดเป็นเครื่องกำหนดความเหลื่อมล้ำ
จากกรณี นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และทนายความนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายเสกสกล อัตถาวงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เข้าแจ้งความกล่าวโทษต่อนายสุทธิพงศ์ หลังจากที่ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กผู้หญิงคนหนึ่งที่ขณะนี้ทางต้นโพสต์ได้ลบไปแล้ว แต่นายสุทธิพงศ์ได้ก๊อปปี้ข้อความมาโพสต์ และยังไม่ได้ทำการลบออก เมื่อตรวจสอบพบว่านายสุทธิพงศ์ได้เขียนเพิ่มเติมว่าเป็นวัคซีนเจ้านาย และได้มีการเขียนระบุว่าเป็นการผูกขาดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเมื่อใครได้ยิน ได้อ่าน หรือได้ฟัง ก็รู้ว่าพูดถึงใคร ซึ่งต้องมองที่เจตนา และมีการพาดพิงข้อความในลักษณะนี้หลายครั้ง เป็นการดูหมิ่นให้ร้าย ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน ม.112 และอย่าง “เปลวสีเงิน” คอลัมนิสต์ชื่อดังออกมาวิเคราะห์ว่าเป็นการหมิ่นสถาบันชัดเจน วันนี้จึงได้รวบรวมหลักฐานมาร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อเอาผิดในมาตรา 112 และเอาผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3)
ต่อมา นายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือฮาร์ท นักร้องชื่อดัง วอนรัฐบาล-แรมโบ้อีสาน อย่าฟ้องตนเลย ไม่มีเงินจ้างทนายแล้ว! มาคุยกันดีๆ อีกไม่นานก็เป็นฝุ่น พร้อมยื่นข้อเสนอแต่งเพลงโควิดวัคซีนให้ชาวบ้านฟังเพื่อที่จะคลายทุกข์คลายโศก
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันในเรื่องของคดีหมิ่นประมาท "ยิ่งพูดจริง ยิ่งผิด" โดยยกประเด็นของ “ฮาร์ท สุทธิพงศ์” มาประกอบด้วย โดยระบุข้อความว่า
“คดีหมิ่นประมาท "ยิ่งพูดจริง ยิ่งผิด"
โบราณเขาบอก "กินขี้หมาดีกว่ามีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล"
ตอนนี้ ข้อหาหมิ่นประมาท มักบวกตามด้วย ข้อหานำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ พ่วงกันมาเป็นแพกข้อหาคู่ ให้เสียวไส้เฉียดคุกเฉียดตะราง หากศาลตัดสินว่าผิด มีสิทธิ์ย้ายสำมะโนครัวไปนอนคุก จึงต้องมีการประนีประนอม เพราะเป็นคดีที่สามารถยอมความกันได้ นักการเมือง หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงมักใช้ข้อหานี้ "ปิดปาก" ประชาชนทั่วไป ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะในโพสต์ หรือคอมเมนต์ต่างๆ นานาในสื่อโซเชียล โดนกันมานักต่อนักแล้ว
ผมเป็นผู้ที่โดนคดีหมิ่นประมาทเป็นประจำ เคยโดนเรียงกันเป็นตับนับสิบคดีตั้งแต่ 20 ปีก่อน บางคดีขึ้นโรงขึ้นศาลให้ตัดสินถึงฎีกา บางคดีเจรจาประนีประนอมยอมความกัน และบางคดีแลกกันหมัดต่อหมัด ฟ้องมาฟ้องกลับ ให้ไปพิสูจน์ถึงชั้นศาล น้อยครั้งที่ผมได้เป็นโจทก์ฟ้องคนอื่น ส่วนมากโดนฟ้องตกเป็นจำเลยทั้งนั้น แต่กระบวนการทางกฎหมายใช้เวลามาก ศาลจะรับฟ้องหรือไม่? หากรับฟ้อง ไหนจะนัดตรวจพยานหลักฐาน นัดสืบพยาน กว่าจะตัดสินกินเวลาถึงหลายปี
แพ้ชนะก็ต้องมีฝ่ายใดไปยื่นอุทธรณ์ ฎีกาอีก กว่าคดีจะสิ้นสุด คนก็ลืมกันหมดแล้วว่าฟ้องกันเรื่องอะไร? แท้จริงแล้วจุดประสงค์ของการฟ้องคือ “ขู่ให้เงียบปาก” แต่เป็นวิธีที่ได้ผลกับบางคน มีฝ่ายที่ยืดอกอย่างผู้ชนะ ส่วนอีกฝ่ายต้องขอโทษขอโพยว่าล้อเล่น เข้าใจผิดไป เพราะหากโจทก์เอาจริง สู้แพ้อาจเดินคอตกเข้าคุก หรือศาลอาจเมตตาให้รอลงอาญาแทน จึงต้องใช้เวลารักษาแผลใจ รอให้หายโกรธแล้วไกล่เกลี่ย หรืออาจท้ารบ สู้กันให้ถึงใจพระเดชพระคุณ
อันที่จริง คดีหมิ่นประมาทเมืองนอกเมืองนาเขาถือเป็นคดีแพ่ง ไม่ได้เป็นคดีอาญาถึงขนาดติดคุกติดตะรางเสียอนาคต แต่ประเทศไทยระบบอำนาจนิยมมีโทษจำคุกเป็นของแถม ในระยะหลังๆ คดีหมิ่นประมาทมักติดคุกจริง ไม่รอลงอาญา มีให้เห็นบ่อยๆ ต้องเข้าไปนอนในซังเต เพราะคำพูดมันในอารมณ์ ณ ขณะนั้น ไหนจะต้องไปเสียเงินจ้างทนาย เสียเวลาทำมาหากิน แล้วยังติดคุกอีก ชาวบ้านธรรมดาจึงไม่อยากมีเรื่องมีราว ยอมความขอโทษขอโพยกันไปดีกว่า
ศาลมีศูนย์ไกล่เกลี่ยคดี หากคู่ความเห็นว่าสามารถยอมความตามเงื่อนไขที่เจรจาตกลงกันได้ เรื่องเป็นอันจบ แฮปปี้เอนดิ้ง เพราะว่าเอาจริงๆ ศาลก็ไม่อยากมาเสียเวลากับคดีรกศาล แค่คดีที่มีอยู่ก็เต็มศาลแล้ว ยอมความกันดีกว่าเสียเวลาศาลมานั่งสืบพยานในคดีที่เรียกกันว่าคดี "มโนสาเร่" แบบนี้ แต่หากไม่ยอมความกัน มีผู้แจ้งความผ่านพนักงานสอบสวนโรงพักจะต้องพิมพ์มือ มีประวัติขึ้นที่ตำรวจอีก เมื่อตำรวจเห็นว่ามีมูลส่งอัยการ หากอัยการเห็นด้วยไปฟ้องศาลต่อ หรือจะนำคดีไปร้องศาลเองโดยตรง เพราะเห็นว่าเร็วกว่า ก็เป็นเทคนิคทางกฎหมายของแต่ละคนแต่ละสถานการณ์
ตอนนี้มีพวกนักการเมืองขี้ฟ้องอยากเอาใจประจบนาย ประเภท "นายไม่ต้องเดี๋ยวผมจัดให้" เสนอตัวไปฟ้องแทนให้เห็นกันอยู่
ประชาชนคนทั่วไปที่ถูกฟ้องย่อมหวั่นไหวอย่างที่บอก นักกฎหมายรู้กันว่าคดีหมิ่นประมาทนั้น "ยิ่งพูดจริง ยิ่งผิด" แต่ชาวบ้านไม่รู้ เผลอพูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพราะคิดว่าที่พูดไปเป็นความจริง โดยเฉพาะเรื่องที่อ่อนไหว ทำให้เสียคะแนน เสียหน้า ก็จะมีพวกรู้ทาง หน้าที่การงานตัวเองไม่มีให้ทำหรือทำไม่เป็น ถนัดแต่เรื่องเลีย "ถูกครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับนาย" เสนอหน้าเดินไปฟ้องให้เป็นข่าว ให้นายเห็นว่า
"เออ อย่างน้อยเลี้ยงมันไว้ มีประโยชน์ดีกว่าหมาเสียหน่อย ตรงที่ไม่เอาแต่เลียเป็นอย่างเดียว" หากชาวบ้านพูดความจริง โดยเฉพาะคนที่มีตัวตนในสังคม พูดแล้วมีคนฟัง สื่อเอาไปลงข่าวกระจายต่อ โดนประเคนด้วยคดี "หมิ่นประมาท" ปิดปาก ก็จะหงอยสงบปากสงบคำลงไป อย่างนี้ชาวบ้านจะทำยังไง?
ในฐานะผู้ที่เคยโดนคดีหมิ่นประมาทผ่านมาเป็นสิบๆ คดีแล้ว ขอเตือนว่า หากไม่พร้อมจะมีคดีต้องระมัดระวัง อยู่เมืองไทยเรื่องทำนองนี้ไม่ได้เป็นแบบสุภาษิตไทยที่ว่า "คนล้มอย่าข้าม" แต่กลับเป็น "คนล้มต้องกระทืบซ้ำ" หากสู้ ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่พูดไปคือ "ความจริงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน สังคม ประเทศชาติ" ไม่ใช่มีอคติเรื่องส่วนตัว หรือว่ากล่าวโดยไม่มีเหตุผลรองรับ
สมัยหนึ่งสิบกว่าปีก่อน ผมเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ถูกหัวหน้าพรรคผมเอง นายบรรหาร ศิลปอาชา มังกรการเมือง ฟ้องหมิ่นประมาท ผมชนะทั้งศาลชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ เพราะสิ่งที่ผมพูดเป็น "เรื่องจริง" ที่ท่านบอกว่าจะไม่ร่วมรัฐบาล แต่ต่อมาหลังเลือกตั้ง ดันประชุมพรรคแล้วเปลี่ยนใจไปร่วมรัฐบาลเสียฉิบ ด้วยประโยคคลาสสิก "ยอมเสียสัจจะเพื่อชาติ"
ท่านบรรหารกรุณาฟ้องผม เพราะเห็นว่าตำหนิท่านในเรื่องจุดยืน ขนาดขึ้นป้ายบิลบอร์ดบนทางด่วนด่าว่า "ไร้สัจจะไปร่วมรัฐบาล" รวมทั้งเอารูปท่านไปนั่งตำหนิหน้าพรรคชาติไทย ปรากฏว่าศาลยกฟ้องผมทั้งชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า ท่านเป็นบุคคลสาธารณะ แม้สิ่งที่ผมพูดจะใช้คำรุนแรงไปบ้าง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตใจ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน รัฐธรรมนูญพึงรองรับสิทธิให้ทำได้
อีกทั้งยังมีคดีหมิ่นประมาทที่บรรดาตำรวจใหญ่ฟ้องผมเรื่อง "บ่อนการพนัน" ที่ผมเอามาเปิดเผยต่อสาธารณชน หาว่าผมทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณข้าราชการ บางครั้งทนายผมยุ่งมาศาลไม่ทันเพราะติดคดีอื่น ผมยังขออนุญาตศาลซักพยานด้วยตัวเองก็มี แต่ก็เอาตัวรอดได้ เพราะศาลเชื่อในพยานหลักฐาน และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมของผม หรือก็มีบางคดีที่ผมไม่อยากสู้ให้เสียเวลา เจรจายอมความประนีประนอมให้เรื่องจบ เพราะเข้าสุภาษิตผมที่ว่า "สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ" เลยยอมรับ ขอโทษขอโพยโจทก์ เลิกแล้วต่อกัน ที่เล่าให้ฟังจากประสบการณ์เพราะเห็นว่า ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐได้ หากสิ่งที่พูดเป็นประโยชน์ต่อสังคมสาธารณชนคนไทยเท่านั้น เป็นหนทางรอดทางเดียว
ไม่ใช่นึกคะนองปากพาดพิงไป แต่ไม่อยากมีคดี แล้วมาสำนึกทีหลัง เปิดช่องให้พวกหุ่นไล่กาเอาไปฟ้อง เพื่อให้คนถูกฟ้องร้องโหยหวนว่า "มาดีกันเถอะ จะร้องเพลงให้ฟัง" อย่างนี้เสียฟอร์ม ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว โดยเฉพาะเรื่อง "วัคซีน" ที่รัฐแบ่งแยกเป็น 2 ประเภท ที่เรียกว่า "วัคซีนที่รัฐจัดให้" กับ "วัคซีนทางเลือก"
ทั้งที่จริงแล้ว เมื่อรัฐบาลเชื่อฟังผมนำเรื่องวัคซีนเป็น "วาระแห่งชาติ" อย่างที่ผมพูดมาก่อนหน้านี้ รัฐบาลช่วยเชื่ออีกหน่อยเถอะว่า ขอให้มีวัคซีนเพียงประเภทเดียวคือ "วัคซีนแห่งชาติ" รวมเอาวัคซีนทุกชนิดที่หาได้ ไม่ว่ายี่ห้อไหน ฉีดให้ประชาชนคนไทยอย่างเสมอภาคทุกชนชั้นโดยไม่แบ่งแยก อย่าให้วัคซีนกลายเป็นเครื่องกำหนดความเหลื่อมล้ำ คนรวยมีทางเลือก ใช้ "วัคซีนทางเลือก" คนจนไม่มีทางเลือก ใช้ "วัคซีนที่รัฐจัดให้" ไปทำให้เป็น "วัคซีนมากเรื่อง" แบบนี้ทำไม? มีประเทศไหนเขาทำ ช่วยยกตัวอย่างมาสักประเทศในโลกเถอะครับ ในเมื่อวัคซีนเป็นเรื่องสุขภาพความจำเป็นของคนไทยทุกคน ที่ผมพูดไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม หามีอคติส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น นี่คงไม่มาฟ้องผมอีกคนนะครับ”