มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ฯ เผยภาพความแตกต่างของปอดผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน ชี้ ผู้ได้รับวัคซีน ส่วนใหญ่เชื้อจะอยู่เฉพาะบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน แต่รายที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และมีโรคประจำตัว ปอดจะจัดการควบคุมเชื้อไม่ได้ เกิดการอักเสบ ปอดจะรับออกซิเจนได้น้อยจนคนไข้เสียชีวิตจาก “ปอดวาย”
วันนี้ (13 พ.ค.) เพจ “มูลนิธิรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ASH THAILAND” เผยภาพจาก ดร.สุมิตร เค ดับบี้ หัวหน้าศูนย์การฉีดวัคซีนนานาชาติ ของสภาเทศบาลกรุงนิวเดลี ได้โพสต์ภาพถ่ายคอมพิวเตอร์ของปอดที่ได้รับวัคชีนแล้วติดเชื้อโควิดอีก (ด้านซ้าย) เปรียบเทียบกับปอดของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด (ด้านขวา) โดยภาพจากคอมพิวเตอร์ของปอดที่ไม่มีการอักเสบจะโปร่งและใส ส่วนภาพคอมพิวเตอร์ปอดอักเสบจะเป็นฝ้าขาว เนื่องจากมีน้ำเหลืองจากการอักเสบ และมีเม็ดเลือดขาวมาออกันอยู่ในปอดมาก ทำให้ปอดดูเป็นฝ้าทึบโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ เข้าสู่ร่างกายทางทางเดินหายใจส่วนบนคือ จมูก ลำคอ หลอดลมลงสู่ปอด
โดยไวรัสเริ่มต้นทำให้เกิดการอักเสบโพรงจมูก ลำคอที่เราเอาเชื้อจากบริเวณนี้ไปตรวจ ถ้าร่างกายแข็งแรง หรือมีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่เชื้อจะอยู่เฉพาะบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีที่ลงสู่ปอดบ้าง แต่ปอดจัดการได้ แต่รายที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ โรคปอด เชื้อที่ลงสู่ปอด ปอดจัดการควบคุมเชื้อไม่ได้ เกิดการอักเสบของปอด รายที่อักเสบมากปอดจะรับออกซิเจนได้น้อยลง ทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลง ถ้ามีโรคหัวใจอยู่ด้วยก็ทำให้หัวใจขาดเลือด (ออกซิเจน) หัวใจวาย
ถ้าคนที่หัวใจหรืออวัยวะอื่นๆ ยังดี แต่หากปอดอักเสบจากไวรัสมาก หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรก ปอดจะรับออกซิเจนได้น้อยลงๆ จนแม้จะให้ออกซิเจน ใช้เครื่องช่วยหายใจ แม้จะใช้เครื่องที่ดีเพียงไร ออกซิเจนในเลือดก็จะไม่เพิ่มขึ้น จนคนไข้เสียชีวิตจาก “ปอดวาย”