สาวเผยอุทาหรณ์ หลังซื้อผักจากตลาดคนขายเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผักทูน แต่คือบอนโหราซึ่งมีพิษ ไม่สามารถกินได้ หากกินจะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร อักเสบ คันปาก คันคอ แสบร้อน เพดานบวมพองเป็นตุ่มน้ำใส อาการอาจรุนแรงจนกระทั่งกลืนอาหารไม่ได้ พูดลำบาก ไม่มีเสียง และอาจทำให้หายใจลำบากได้
เมื่อวันที่ 5 พ.ค.เฟซบุ๊ก “Ning LadyNoir” ได้โพสต์อุทาหรณ์หลังตนเองได้รับประทานพืชพิษ ที่มีลักษณะคล้ายผักที่เรียกว่า “คูน” หรือทางภาคอีสานเรียกว่า “ทูน” ภาคเหนือเรียกว่า “ตูน” ส่วนทางภาคใต้ เรียกว่า “ออดิบ” แต่คือบอนชนิดหนึ่งซึ่งมีพิษทำให้เกิดอาการป่วย โดยระบุข้อความพร้อมเผยอาการว่า “เตือนใจตัวเองผักบอน น้องสาวซื้อบอนมานึกว่าเป็นทูน คนขายก็บอกทูน เมื่อคืนหนิงกินส้มตำไปแล้วกินผักตามไปนิดเดียว คำแรกและคำเดียว ปรากฏว่า กินบอนซึ่งมีพิษรุนแรงมาก คันแสบร้อนตามปากและคอแฟนและน้องสาวให้บ้วนปากกินนมกินไอติมก็ไม่ดีขึ้น แฟนเลยพาไปหาหมอเพราะปากเริ่มชาปากบวมหายใจติดขัด ความดันขึ้น 140 อ้วกไป 5 รอบ หมอเลยฉีดยาแก้แพ้ให้นอนพัก 30 นาที ตอนนี้อาการทุกอย่างปกติดีแล้ว เหลือปากและคอยังคัน เวลากินอะไรลงไปเจ็บคอ บอนกับทูนเหมือนกันมากเกือบได้ออกข่าวหน้า 1”
ทั้งนี้ พืชดังกล่าวนั้น มีลักษณะการเรียกแตกต่างออกไปหลายแบบ อย่างภาคใต้ เรียก โชน ออดิบ ออกดิบ ภาคกลาง เรียก คูน ภาคเหนือ เรียก กระดาดขาว หรือตูน เป็นไม้ล้มลุกอยู่ในวงศ์ Araceae และอยู่ในสกุล Colocasia เช่นเดียวกับบอน เป็นผักชนิดหนึ่ง ซึ่งลักษณะคล้ายบอน ชาวบ้านจะปลูกไว้กินริมรั้ว หรือข้างบ้าน ชอบขึ้นบริเวณที่มีน้ำแฉะ นำมาทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน ส่วนมากจะใช้แกงส้ม และยำ ส่วนบอนโหรา ภาคใต้ เรียก โหรา หรือ เอาะลาย ภาคกลาง เรียก กระดาดดา ภาคเหนือ เรียก บึมปื้อ มีรูปร่างหน้าตาคล้ายออดิบมาก แต่ไม่สามารถกินได้ เพราะมีพิษที่เรียกว่า Calcium Oxalate ลักษณะผลึกเป็นรูปเข็ม ไม่ละลายน้ำ (bundle of the needle like crystals ; raphides) ส่วนที่มีผลึกมาก คือ น้ำยางใสจากทุกส่วนของต้น โดยเฉพาะลำต้น และใบ
ส่วนข้อแตกต่างของออดิบ กับบอนโหรา ออดิบสามารถกินได้ ลำต้นมีลักษณะใบสีเขียวอ่อน มีขนาดเล็ก และบาง รูปร่างคล้ายลูกศรก้านใบสีขาวนวล ก้านใบห่างริมขอบใบ ลำต้นสีเขียวอ่อน มีแป้งเคลือบ ด้าน บอนโหรากินไม่ได้ ลำต้นมีลักษณะใบสีเขียวเข้ม มีขนาดใหญ่ และหนา รูปร่างคล้ายตาลปัตร ก้านใบสีเขียวเข้ม ก้านใบติดริมขอบใบ ลำต้นสีเขียวเข้ม
ด้าน อาการหลังรับประทานบอนโหราที่มีพิษ หากสัมผัสจะทำให้เกิดการระคาย เคือง เป็น ผื่น คัน ผิวหนังบวมแดง ปวดแสบปวดร้อน ต่อมาจะอักเสบบวมและพองเป็นตุ่มน้ำใส หากเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ อาจทำให้ตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้ หากรับประทาน จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานส่วนของพืชที่มีน้ำยาง จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกในปากและลำคอ ทางเดินอาหารอักเสบ คันปาก คันคอ แสบร้อน เพดานบวมพองเป็นตุ่มน้ำใส อาการอาจรุนแรงจนกระทั่งกลืนอาหารไม่ได้ พูดลำบาก ไม่มีเสียง และอาจทำให้หายใจลำบากได้
ซึ่งวิธีการรักษา หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเจอพิษบอนโหรา หากสัมผัสน้ำยาง ให้ล้างออกโดยใช้น้ำสบู่ชะล้างหลายๆ ครั้ง แล้วนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และหากน้ำยางเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง อาจหยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ แล้วนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที หรือหากรับประทานส่วนของพืชที่มีน้ำยาง ให้ล้างปาก โดยการดื่มน้ำมากๆ ดื่มนมเย็น ไอศกรีม ให้รับประทานอาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม และโจ๊ก อมและดื่มสารละลาย Aluminium magnesium hydroxide (ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร) 30 มล. ทุก 2 ชั่วโมง และควรงดรับประทานอาหารรสจัด จนอาการทุเลาลง โดยควรเฝ้าระวังการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน ที่สำคัญ ไม่ควรทำให้อาเจียน เพราะจะทำให้สารพิษสัมผัสกับเยื่อบุปาก และลำคออีกครั้ง