xs
xsm
sm
md
lg

อาลัย “เลิศ อัศเวศน์” นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 รวมอายุได้ 100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเลิศ อัศเวศน์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย วัย 100 ปี ถึงแก่กรรมจากการติดเชื้อโควิด-19 และได้มีพิธีฌาปณกิจที่วัดเทพลีลา เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญในวงการหนังสือพิมพ์ เป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชน

วันนี้ (3 พ.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประกาศแสดงความอาลัยต่อจากการจากไปของนายเลิศ อัศเวศน์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย วัย 100 ปี ถึงแก่กรรมจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยก่อนหน้านี้ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และแพทย์ให้กลับไปดูแลต่อที่บ้าน ผ่านไปได้สามวันก็จากไป

หลังเสียชีวิต ครอบครัวได้นำร่างไปทำพิธีฌาปณกิจที่วัดเทพลีลา เมื่อวันที่ 3 พ.ค. เวลา 15.00 น. นับเป็นการสูญเสียบุคคลที่ทรงคุณค่าในวงการหนังสือพิมพ์ เพราะ นายเลิศ เป็นผู้ที่ชวน นายกำพล วัชรพล ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยนำรายได้จากการพิมพ์ขายหนังหนังสือ “นรกใต้ดิน” เป็นทุนเริ่มต้นในการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ข่าวภาพรายเดือน และเจริญเติบโตเป็นข่าวภาพรายสัปดาห์และรายวันในที่สุด

สำหรับ นายเลิศ เป็นชาวอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ก้าวเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ด้วยการประกวดเรื่องสั้นของหนังสือพิมพ์ประชามิตร ที่มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นประเทศไทยยังมีหนังสือพิมพ์เพียงไม่กี่ฉบับ นายเลิศ สมัครเป็นผู้สื่อข่าวเมื่ออายุ 23 ปี แม้ครอบครัวจะคัดค้านเพราะถูกจัดอยู่ในประเภทนักเขียนไส้แห้ง เริ่มต้นข่าวแรกในชีวิตด้วยข่าวการขาดแคลนยาของโรงพยาบาลวชิระ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาชี้แจง

เมื่อเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ประชามิตร 2-3 ปี หนังสือพิมพ์เลิกกิจการ เพราะกุหลาบไปออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ แต่ได้ผันตัวไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์อิสระธรรม บรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลักไทย เมื่อ นายกำพล วัชรพล เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ ทำข่าวกรมโฆษณาและทำหน้าที่หาโฆษณาให้กับหนังสือพิมพ์หลักไทย ปรากฏว่า ในปี 2493 นายกำพล ร่วมกับนายเลิศ และนายวสันต์ ชูสกุล ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ โดยใช้เงินทุนจากการพิมพ์หนังสือนรกใต้ดิน ซึ่งนายเลิศเป็นผู้เขียน

ขณะนั้นหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ มีนายเลิศรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ นายกำพล เป็นผู้พิมพ์ และ นายวสันต์ เป็นผู้หาเงินทุน ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านจนต้องปรับจากรายสัปดาห์เป็นรายสามวัน และเป็นรายวันในที่สุด รวมทั้งเปลี่ยนหัวหนังสือจากข่าวภาพ มาเป็นเสียงอ่างทอง และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศ


นอกจากนี้ นายเลิศ ยังได้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นสถาบันคอยดูแลให้ความช่วยเหลือการดำรงชีวิตของนักข่าว เนื่องจากขณะนั้นสภาพความเป็นอยู่ของนักข่าวค่อนข้างคับแค้น ความเป็นอยู่ไม่ดี บางคนตายไปกลายเป็นผีไม่มีญาติ และมีปัญหาเรื่องการรีดไถ รับสินบน ซึ่งนักข่าวสมัยนั้นก็เป็นเด็กของพรรคการเมือง ได้รับค่าจ้างจากนักการเมือง โดยได้ปรึกษาและหาข้อมูลจาก นายเลอสรร ธรรมพิชา ผู้อำนวยการแถลงข่าวอังกฤษประจำประเทศไทย, นายเตมีย์ วิทยะ หัวหน้าข่าวสำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) และ นายเท่ห์ จงคดีกิจ รองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

โดยการประชุมเพื่อก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย มีขึ้นที่ศาลานเรศวรสวนลุมพินี เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2498 มีนักข่าวยังเติร์กสมัยนั้นมารวมตัวกันกว่า 200 คน ซึ่งนายเลิศเป็นผู้เสนอร่างข้อบังคับในที่ประชุมเป็นคนแรก ทั้งนี้ มี นายอิศรา อมันตกุล ได้รับเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวคนแรก และติดต่อกันถึง 3 สมัย อย่างไรก็ตาม สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รวมกันเป็น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2543 มีสมาชิกที่เป็นเฉพาะนักหนังสือพิมพ์จากหนังสือพิมพ์ข่าวทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน และได้เริ่มขยายขอบเขตของสมาชิกโดยการรับนักข่าวจากวิทยุและโทรทัศน์เข้าร่วมเป็นสมาชิกวิสามัญ

อีกด้านหนึ่ง นายเลิศ ยังเป็นเจ้าของนามปากกา “บพิธ เฟื่องนคร” เขียนคอลัมน์ไขปัญหาสุขภาพในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยังเป็นที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ


อ่านเพิ่มเติม : หนังสือ คือ…คนหนังสือพิมพ์”
กำลังโหลดความคิดเห็น