ผู้ป่วยโควิด 2 ราย เล่าความรู้สึกหลังรอดจากอาการวิกฤตถึงขั้นที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจหลายวัน ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนครพิงค์ เผย “เหมือนตายแล้วเกิดใหม่” พร้อมขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยชีวิต แนะให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย กินร้อนช้อนกลาง
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. เพจ “โรงพยาบาลนครพิงค์” โพสต์ภาพ 2 ผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมเผยความรู้สึกที่ได้เข้ารับการรักษาตัวจนสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้แล้ว แนะทุกคนใส่หน้ากากอนามัย กินร้อนช้อนกลาง และขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยชีวิต
โดยระบุข้อความว่า ““เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ จากใจผู้ป่วยโควิด” คือ คำบอกเล่าของผู้ป่วยโควิด ที่มีอาการรุนแรงระดับวิกฤต ที่เคยต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจมานานหลายวัน จนในวันที่ได้ถอดพันธนาการจากเครื่องพยุงชีวิตต่างๆ เหล่านั้น และแข็งแรงพอที่จะบอกเล่าความรู้สึกกับเราได้
ผู้ป่วยคนแรก เป็นหญิงวัย 58 ปี ส่งตัวจาก รพ.ชุมชนมารักษาที่ รพ.นครพิงค์ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน บอกกับเราด้วยเสียงที่ยังแหบ เนื่องจากใส่ท่อช่วยหายใจอยู่นาน 6 วัน “ขอบคุณนักๆ เจ้า ตี้จ้วยฮื้อป้ารอดชีวิต ขอบคุณหมอพยาบาล อยากบอกกู้คนว่า กินร้อนช้อนกลาง ใส่หน้ากากนะเจ้า” คุณป้าไม่ลืมที่จะเป็นห่วงคนอื่นๆ
ผู้ป่วยคนที่ 2 เป็นชายวัย 44 ปี ส่งตัวจาก รพ.สนามมารักษาที่ รพ.นครพิงค์ ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ได้ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ 6 วัน อาการค่อยๆ ทุเลาลง จนถอดท่อช่วยหายใจได้แล้ว ได้บอกกับเราว่า “อาการผมดีขึ้นมาก เหนื่อยนิดเดียวแล้ว ขอบคุณหมอ พยาบาลครับที่ช่วยผมผ่านวิกฤตมาได้” ผู้ป่วยทั้ง 2 รายนี้ ได้รักษาตัวใน รพ.นครพิงค์ 8 และ 16 วันตามลำดับ จากที่เคยมีอาการระดับวิกฤต (สีแดง) จนในวันนี้อาการลดระดับลงมาเหลือเพียงปานกลาง (สีเหลือง) จึงได้ส่งตัวไปพักฟื้นต่อที่ รพ.ชุมชน เพื่อให้ รพ.นครพิงค์ มีพื้นที่สำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนักกว่าต่อไป
จากแผนยุทธศาสตร์ของ จ.เชียงใหม่ ที่ให้ รพ.นครพิงค์ เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลผู้ป่วยหนักร่วมกับ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ทำให้หน้าที่หลักของเรา คือ การพาคนไข้ให้พ้นวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (30 เมษายน) รพ.นครพิงค์ ได้ให้การดูแลผู้ป่วยโควิดระลอกเดือน เม.ย.ไปทั้งสิ้น 168 ราย รักษาจนอาการทุเลาสามารถย้ายไป รพ.สนาม หรือ รพ.ชุมชนได้แล้ว 125 ราย ยังอยู่ใน รพ.41 ราย และเสียชีวิต 2 ราย (ข้อมูลในภาพเป็นข้อมูลรวมผู้ป่วยของการระบาดทั้ง 3 รอบ)
ด้วยการที่ รพ.นครพิงค์ ต้องดูแลกลุ่มผู้ป่วยหนักเป็นหลัก เราจึงไม่มีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยจนถึงวันที่ได้กลับบ้าน เพราะหน้าที่ของเรา คือ การพาผู้ป่วยให้พ้นวิกฤต เพื่อส่งต่อให้เพื่อนนักรบชุดขาวจาก รพ.อื่นๆ ได้ดูแลผู้ป่วยต่อจนได้กลับบ้านต่อไป แม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถพาทุกคนให้ผ่านวิกฤตไปได้ แต่เราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด”