นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เผยกำลังใจยังดี หลังถูกร่วมลงรายชื่อจำนวนมาก เรียกร้องให้ลาออก จากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 และชี้ว่าไม่มีความสามารถมากพอทั้งเรื่องการวางนโยบาย การจัดการทรัพยากร และการจัดหาวัคซีน
จากกรณีมีการร่วมลงรายชื่อจำนวนมากในเว็บไซต์ www.Change.org เรียกร้องให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ลาออก จากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 ล่าสุด ยอดสนับสนุนอยู่ที่ 162,009 คน และแคมเปญดังกล่าว เกิดจากผู้ใช้ชื่อ “หมอไม่ทน” ระบุว่า กว่า 1 ปีเต็มที่ผ่านมาของการระบาดโควิด-19 เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า นายอนุทิน ไม่มีความสามารถมากพอในการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งเรื่องการวางนโยบาย การจัดการทรัพยากร การจัดหาวัคซีน และการสร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากรทางการแพทย์ นอกเหนือไปกว่านั้น หลายครั้งบทสัมภาษณ์จากนายอนุทิน ยังทำให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมในการทำงานควบคุมกระทรวงที่เป็นกระทรวงหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การระบาดไม่สามารถควบคุมได้ตามที่เคยเสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ (26 เม.ย.) เพจ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หรือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้โพสต์ข้อความ “ขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจ ทั้งโพสต์ ทั้งไลน์ และ โทร.มาด้วยตัวเอง ผมยังเข้มแข็งดี ทั้งร่างกายและจิตใจ และยังมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับคณะแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข และ หน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และ การควบคุมโรคให้ได้ผล บางท่านทั้งให้กำลังใจ และห่วงใยว่ามีการยึดอำนาจ แย่งอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข ผมได้แต่ตอบไปว่า รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด และ เป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว ผมมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบาย และคำสั่งท่านนายกรัฐมนตรี มาโดยตลอด
ส่วนเรื่องการป้องกัน และ ควบคุมโรคระบาดโควิด-19 นั้น ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด หรือ ศบค. เป็นผู้จัดทำนโยบาย พิจารณา ออกคำสั่ง กำกับการปฏิบัติงาน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยปฏิบัติตามนโยบายของ ศบค.
หลายครั้งที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอมาตรการควบคุมโรค หาก ศบค. ไม่เห็นด้วย ก็ต้องกลับมาปรับมาตรการ ทั้งการตรวจ การป้องกัน การรักษา การจัดหายา เวชภัณฑ์ และ การฉีดวัคซีน ที่ผ่านมา ศบค. เป็นผู้บริหารแบบ Single command มาตั้งแต่ต้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติตามนโยบาย ศบค. ด้วยดีมาตลอด
จึงขอความกรุณาอย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมือง และสร้างกระแสให้เกิดความขัดแย้ง และส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และปฏิบัติตามนโยบาย และ คำสั่งนายกรัฐมนตรี และรายงานการปฏิบัติงาน ให้นายกรัฐมนตรี ทราบทุกครั้ง
ขอยืนยันว่า ไม่มีการยึดอำนาจ ไม่มีการแย่งอำนาจ เพราะ นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร และ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.”