xs
xsm
sm
md
lg

น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ : ‘ไข่ 3 ตะกร้า’ และภาวะ ‘จำศีล’ การปรับตัวพา BAC ฝ่าวิกฤติโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบใหญ่หลวงไปทั่วทุกภาคส่วน รวมถึงธุรกิจแขนงต่าง ๆ ของโลก ส่งผลเสียหายต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปทั้งระบบ ไม่เว้นแม้แต่ บริษัทบางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ( Bangkok Aviation Center หรือ BAC หรือโรงเรียนการบินกรุงเทพ ซึ่งเปิดมาแล้ว 18 ปี ผลิตนักบินมาแล้ว 2,800 คน ปฏิบัติหน้าที่กระจายอยู่ตามสายการบินต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 1,180 คน ที่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ นับแต่เกิดวิกฤติโควิด

น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทบางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (Bangkok Aviation Center หรือ BAC หรือโรงเรียนการบินกรุงเทพ) อดีตข้าราชการทหารอากาศ อดีตนักบิน และครูฝึกเครื่องบิน C 130 รวมทั้งเคยเป็นอดีตนักบินพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เมื่ออิ่มตัวกับงานราชการ ได้ตัดสินใจมาเปิดโรงเรียนการบินกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการออนไลน์ในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งวิสัยทัศน์ในการนำพา BAC ปรับตัวฝ่าวิกฤติโควิด-19 รวมถึงความเป็นมาของการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการ หน้าที่ครูฝึกบิน กระทั่งตัดสินใจเปิดโรงเรียนการบินกรุงเทพขึ้นเมื่อ 18 ปีที่ผ่านมา


‘ไข่สามตะกร้า’ ปัจจัยสำคัญฝ่าวิกฤติ ไข่ตะกร้าแรก-นักเรียนทุนจากสายการบิน

กัปตันปิยะเล่าว่าสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ BAC มีต่างจากโรงเรียนการบินแห่งอื่น ๆ ก็คือการมีนักเรียนอยู่ สามกลุ่ม ซึ่งเปรียบเสมือนไข่สามตะกร้า โดยแต่ละตะกร้ามีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ซึ่งตะกร้าที่สามนี่เอง ที่เรียกได้ว่าช่วยประคับประคอง BAC ให้อยู่รอดได้ ในช่วงวิกฤติโควิด

“เราโชคดีที่เราแบ่งไข่ไว้สามตะกร้า นักเรียนเรา มีอยู่สามรูปแบบ” กัปตันปิยะระบุ

ไข่ตะกร้าแรก เป็นนักเรียนที่สายการบินส่งเข้ามา การบินไทยส่งเข้ามาทุกปี ปีละ 80 คน แอร์เอเชีย ไทยสไมล์ส่งมา 20 คน 30 คนบ้าง อันนี้มีแน่ๆ เขาคัดคนมาให้เราเลย แล้วมาจ้างเราฝึก แต่เจอโควิดเข้าไป การบินไทย ที่ส่งเข้ามาเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว 30 คน เขาบอกว่าหยุดฝึกเลยนะ ไม่ต้องรอต่อเลย เพราะการบินไทยบอกว่า ผมไม่มีตังค์ให้คุณอยู่แล้ว ฝึกไปผมก็ไม่มีตังค์ให้ ส่วนแอร์เอเชีย ฝึกต่อจนจบ แต่แผนที่จะรับคนใหม่ แอร์เอเชีย งดหมด ไทยสไมล์ งดหมด ดังนั้น ไข่ตะกร้าแรกที่มาจากสายการบิน ปีที่แล้วเป็นศูนย์เลย” กัปตันปิยะระบุ ก่อนจะเล่าเพิ่มเติมว่า BAC ทำ MOU คือบันทึกความเข้าใจกับสายการบินเหล่านี้ เนื้อหาสำคัญคือ ไทยสไมล์ แอร์เอเชีย จะเลือกส่งเฉพาะโรงเรียนการบินที่เขามาตรวจสอบแล้วได้มาตรฐานของเขาซึ่ง BAC ผ่านมาตรฐาน ขณะที่การบินไทย BAC ได้รับความน่าเชื่อถือมา 15 ปีแล้ว

ไข่ตะกร้าที่ 2-นักเรียนวอล์คอิน

“เมื่อไข่ตะกร้าแรกแตกไปหมด เราเหลืออยู่ 2 ตะกร้า ไข่ตะกร้าที่ 2 คือ เด็กที่ใช้ทุนส่วนตัว ที่ วอล์คอินเข้ามา อยากจะเป็นนักบิน ก็มาเรียนกับเรา 15 เดือนจบ แล้วถึงจะเดินไปสมัครงานกับสายการบินต่าง ๆ ซึ่งการบินไทยก็มีส่วนที่รับเด็กที่จบจากเรา แล้วเข้าไปสอบคัดเลือก แล้วก็รับเข้าไปเป็นพนักงาน

ถ้าเป็นไทยเวียตเจ็ต ไทยไลออนแอร์ ไม่มีเด็กทุน เพราะฉะนั้น เด็กที่จบจากผม จะเดินไปสมัครไทยเวียตเจ็ต ไทยไลออนแอร์” กัปตันปิยะระบุ และกล่าวว่า ไข่ตะกร้าที่สอง เดิมเคยมีประมาณ 100 กว่าคน ยังมีเดินเข้ามาอยู่บ้าง แต่ปี 2563 แทบจะไม่มีเลย เพราะเด็กที่จะจบการศึกษามาแล้วมาเรียนต่อเป็นนักบินเขากลัวว่า เป็นนักบินแล้วตกงาน แต่ปี 2564 นักเรียนกลุ่มนี้เริ่มมีกลับมาแล้ว เพราะเขาเริ่มมองเห็นแล้วว่า เขาเรียนวันนี้ อีกปีครึ่งเขาถึงจะจบ เมื่อถึงเวลานั้น ดีมานด์ ความต้องการนักบินน่าจะกลับมาแล้ว

ปี 2564 มีเด็กที่จ่ายเงินแล้ว ปฐมนิเทศแล้ว เดือนละ 2 คน ตอนนี้ก็รวมเป็น 8 คน ขณะที่ปี 2562 มี 120 คน เฉลี่ยเดือนละ 10 คน เฉพาะที่วอล์คอินเข้ามา ตอนนี้เหลือเดือนละ 2 คน คิดว่าตอนนี้มีแนวโน้มดีขึ้น ดีมากขึ้นแล้ว

ไข่ตะกร้าที่ 3 นักศึกษาจาก ม.รังสิต-เอแบค

กัปตันปิยะกล่าวว่า “ไข่ตะกร้าที่ 3 ทำให้ผมอยู่ได้ ใน 2 ปีนี้ แล้ว ซึ่งโรงเรียนการบินอื่น ไม่มีตะกร้านี้

ไข่ตะกร้านี้กลายเป็นยั่งยืนที่สุด คือผมจับมือกับ มหาวิทยาลัยรังสิต และ มหาวิทยาลัยเอแบค ทั้งสองมหาวิทยาลัย นี้ มีคณะนักบิน เพราะเขามีวิสัยทัศน์ว่าต้องโฟกัสไปที่วิชาชีพที่ชัดเจน เจาะจงไปเลยว่า จะไปทำอะไร อธิการบดีท่านให้ความสนใจ บราเดอร์บัญชา ( แสงหิรัญ ) อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอแบคนี่มาลองขึ้นเครื่องบินเราเลย แล้วก็คณะนี้เปิดมา 10 ปีแล้ว เพราะอธิการบดีเล็งเห็นว่าวิชาชีพนี้ น่าจะเปิดเป็นคณะขึ้นมา ก็ต้องเรียน 4 ปี เป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ 3 ปี เรียนที่เอแบค รังสิต แต่พอปีที่ 4 มาอยู่กับเรา 1 ปี” กัปตันปิยะระบุ

บางส่วน ทาง BAC ก็ไปสอนนักศึกษาบ้างแล้ว ใน ปี 1 ปี 2 ปี 3 เมื่อจบการศึกษา นักศึกษาก็ได้หน่วยกิตครบและมีคุณสมบัติที่จะถือใบอนุญาตนักบิน

“กลายเป็นว่า คุณเรียน 4 ปี ได้ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ ได้ใบขับขี่นักบินพาณิชย์ตรีด้วย ในขณะที่เด็กที่วอล์คอิน ในไข่ตะกร้าที่สอง ต้องจบ ปริญญาตรีมาก่อน จึงมาเรียนกับเราอีกปีครึ่ง”

กัปตันปิยะกล่าวว่า ตนโชคดี เพราะปี 2563 BAC รับเด็ก ปี 4 ของทั้งสองมหาวิทยาลัยมาแล้ว เด็กกลุ่มนี้ทำให้เรามีรายได้เลี้ยงตัวเองในปี 2563, 2564 และ 2565

เมื่อถามว่าทำข้อตกลงดังกล่าวกับทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้ มากี่ปีแล้ว กัปตันปิยะกล่าวว่า “มหาวิทยาลัยรังสิต อยู่กับเรา มา 14 ปี เอแบค 11 ปี เป็นพันธมิตรที่ดี และเราเป็นโรงเรียนเดียวที่อยู่ ในกรุงเทพฯ เขาไป-กลับได้”

ส่วนไข่ตะกร้าอื่น ๆ เช่นไข่ตะกร้าแรก คือนักเรียนทุนจากสายการบินต่าง ๆ กัปตันปิยะกล่าวว่า การบินไทย คงต้องรออีกระยะหนึ่ง ขณะที่ไทยแอร์เอเชีย จะส่งนักเรียนมาเรียนที่ BAC โดยลง MOU ด้วยว่าจะรับนักบินที่แอร์เอเชียให้มาตรฐาน “ซึ่งเขาให้มาตรฐานเราเพียงแห่งเดียว ดังนั้น แอร์เอเชียจะรับนักบิน ที่จะจบจากเราเท่านั้น ซึ่งนักเรียนในตะกร้าที่สองที่วอล์คอินเข้ามา ก็สามารถไปสมัครที่แอร์เอเชียได้เช่นกัน” กัปตันปิยะระบุ


ภาวะ ‘จำศีล’ และการตกจากสวรรค์สู่พื้นดิน ถอนตัวจาก IPO

BAC เปิดทำการมา 18 ปี ผลิตนักบินมา 2,800 คน จากจำนวนนักบินในไทยที่มีทั้งสิ้น 4,000 คน จึงนับว่านักบินเกินกว่าครึ่งจบการศึกษาจาก BAC

เมื่อถามว่า ช่วงวิกฤติโควิด-19 เกิดปัญหาอะไรกับ BAC บ้าง กัปตันปิยะตอบอย่างเห็นภาพว่า

“เราเหมือนกำลังจะเอามือเอื้อมไปแตะสวรรค์ แล้วตกเหวลงมาที่พื้นดิน มันขนาดนั้นจริงๆ เพราะว่า BAC เมื่อปีที่แล้ว เราเพิ่งจะแปรสภาพจาก บริษัท จำกัด เป็น บริษัท จำกัด (มหาชน) แล้วเราก็ได้รับ approved จากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ให้นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อย คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบแล้วเราผ่านทุกโดเมนการตรวจสอบ ให้เรานำเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว คือเป็น IPO”กัปตันปิยะระบุ

กัปตันปิยะเล่าว่า การที่จะได้รับ approved จากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จะมีอยู่ สามโดเมนหลักๆ ซึ่งสิ่งสำคัญคือความโปร่งใสในการตรวจสอบ

1. external audit คือ ผู้ตรวจสอบภายนอก คือเรื่องของบัญชี
“BAC เลือกบริษัทตรวจสอบบัญชีในระดับสากลด้วย นอกเหนือจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ เราเลือกใช้ PWC ( Price waterhouse Coopers ) นี่คือโดเมนแรก ที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์อยากเห็น”

2.intrenal audit การตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน เช่น HR การพิจารณาเงินเดือนของลูกจ้าง ธรรมาภิบาล นี่คือ อินเทอนอล ออดิท เราใช้บริษัทกฎหมายในไทยเป็นผู้ตรวจสอบให้เราคือบริษัทกฎหมายธรรมนิติ

3.กฎหมายภาษี BAC ใช้ Baker & Mckenzie บริษัทระดับโลกที่เข้ามาดูแลหลายๆ บริษัทในเมืองไทย เขาก็จะดูเรื่องใบอนุญาตต่าง ๆ “เช่น สนามบินที่เรามีเป็นของตัวเองที่คลอง 15 นครนายก ได้รับการตรวจสอบจากผู้กำกับดูแลไหม ใบอนุญาตครบถ้วนไหม หนังสือรับรองจากกระทรวงศึกษา จากการบินพลเรือน รวมถึงเรื่องภาษีย้อนหลังไป 3 ปี 5 ปี มีปัญหากับสรรพากรไหม ซึ่งเราผ่านการตรวจสอบทั้งหมด ทั้งสามโดเมน วันรุ่งขึ้นเรา IPO ได้เลย แต่สถานการณ์มันไม่เอื้อ” กัปตันปิยะระบุให้เห็นภาพของการเปรียบเปรยที่ว่าเหมือนตกสวรรค์

เนื่องจากในช่วงที่ BAC กำลังจะ IPO วิกฤติโควิด-19 มันเข้ามาแล้ว เมื่อต้นปี 2563 ในที่สุดจึงตัดสินใจชะลอไว้ก่อนยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปรากฏว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดยาวนานกว่าที่คิด

ลีนไขมัน เข้าสู่ช่วง ‘จำศีล’

“เราจึงเลื่อน IPO ออกไป ตอนต้นปี 2563 เพราะเราเริ่มมองเห็นสถานการณ์ตอนเดือน ก.พ. ผมเริ่มเห็นว่ามันไม่ใช่แค่ไข้หวัดนกแล้ว มันยิ่งกว่านั้น มันกลายเป็นว่าเราต้องใช้พนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 321 คน เพื่อฝึกนักบินได้เท่าเดิม กลายเป็นเรามีแบ็คออฟฟิศเยอะมาก ที่ต้องคอยตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้าตลาดหลักทรัพย์”

กัปตันปิยะกล่าวว่า ขณะนั้น BAC มีบุคลากร เพิ่มมาเป็น 321 คน ต้นเดือน ก.พ. 2563 แต่ปลายเดือน ก.พ. 2563 เราเชิญคนทั้ง 321 คนมานั่งในห้องประชุมเลย แล้วเราก็ทำความเข้าใจกันว่าเราไม่สามารถที่จะแบกรับเงินเดือนของ 321 คนได้แน่ ๆ เพราะเรามองเห็นแล้วว่า อีก 3 เดือนข้างหน้า เราจะพบกับวิกฤติ แต่ข้อดีของเรา คือขณะนั้น เรามีเด็กที่จะอยู่กับเรา 15 เดือน เราจึงยังรับรู้รายได้ที่ชัดเจนได้ เรายังมีแรงส่ง

“ทั้ง 321 คน เราเชิญออกทันที ในปี 2563 สิ่งที่เราต้องรีบทำคือ เราต้องเอาไขมันออกให้หมดเลย เราต้องรีบลีนตัวเองเลย เอาไขมันออกให้หมด เหลือพนักงาน 108 คน ลดลงไป 2 ใน 3 ส่วนการเข้าตลาดหลักทรัพย์เราถอนออกไปเลย เราถอนออกมาก่อน แล้วถ้าเมื่อไหร่เราจะเข้าตลาดลักทรัพย์ เราจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ ดังนั้น เมื่อเราไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว เราก็ไม่ต้องคงสภาพในระดับ 100% นั่นหมายความว่า แบ็คออฟฟิศของเรา มีหลายส่วนที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ในส่วนนี้ เราพยายามลดบทบาทของบริษัทมหาชนเป็นบริษัทจำกัดเหมือนเดิม

ผมใช้คำว่าเรากลับมาอยู่ใน Hibernate โหมด คือจำศีล เหมือนคางคกจำศีลที่ไม่ต้องทานอาหารเลย หนึ่งปี นอนนิ่งๆ อยู่เฉยๆ การที่จะตัดสินใจแบบนี้ได้ ต้องอ่านให้ขาด ต้องมีวิสัยทัศน์ว่าสถานการณ์มันไม่กลับมาเร็วแน่” กัปตันปิยะระบุ


จากข้าราชการทหารอากาศ สู่นักบินพระที่นั่ง ก่อนจะเป็น BAC

กัปตันปิยะเล่าย้อนความทรงจำช่วงชีวิตก่อนที่จะเปิดโรงเรียนการบินว่า “ชีวิตผมเริ่มมาจากการเป็นข้าราชการทหารอากาศ ผมเป็นนักเรียนเตรียมทหาร จบโรงเรียนนายเรืออากาศ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักบินโรงเรียนการบินกำแพงแสน ซึ่งเขาไม่ได้ฝึกนักบินพาณิชย์ เขาไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานการบินพลเรือน CAAT ดังนั้นผมจบแล้วก็ไม่ได้ใบอนุญาตบินพาณิชย์จากกำแพงแสน”

หลังจบจากโรงเรียนการบินกำแพงแสน จบมาทั้งหมด 80 คน กัปตันปิยะในเวลานั้นได้สิทธิ์ในการเลือกเครื่องบินก่อนเขา เพราะคะแนนเป็นอันดับ 1 ได้ตัดสินใจเลือกที่จะไปบินทำฝนหลวงที่พิษณุโลก ทำฝนหลวงอยู่ 1 ปี ก็ได้รับการเสนอให้มาบินที่สนามบินดอนเมือง เป็นเครื่องบินขนส่งของกองทัพ C 130

“ผมบินจนกระทั่งเป็นครูการบินของ C 130 จากนั้นผมก็ได้รับการโปรโมทให้เป็นนักบินพระที่นั่ง ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีเครื่องบินพระที่นั่งเป็น โบอิ้ง 737 มีอยู่ 3 ลำ นักบินพระที่นั่งมีอยู่ 12 คน พอใครที่อายุเกิดแล้ว พอเกษียณขึ้นไป เขาก็จะไปดึงนักบิน C 130 ขึ้นมา ผมจากที่เป็นครูการบินแล้ว ก็ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ กับการเป็นนักบินพระที่นั่งในการขับโบอิ้ง 737 เป็นนักบินผู้ช่วย แล้วก็ค่อยๆ เป็นกัปตัน แล้วก็เป็นครูนักบินพระที่นั่ง อยู่ในฝูงบินพระที่นั่ง 8 ปี” กัปตันปิยะระบุ

ในช่วงเวลา 8 ปี นี้ กว่าจะมีชั่วโมงบินได้นั้นไม่ง่าย เนื่องจากเครื่องบิน โบอิ้ง 737 ของเครื่องบินพระที่นั่งใหม่มาก เปรียบเสมือนเหมือนโรลส์ลอยซ์คันใหม่ ๆ กองทัพอากาศจึงส่งนักบินพระที่นั่งไปเป็นนักบินยืมตัวของการบินไทย จึงไปเป็นนักบินยืมตัวของการบินไทย เก็บชั่วโมงบินให้ได้มาก ๆ แล้วค่อยกลับมาเป็นนักบินพระที่นั่ง เพราะฉะนั้น ในช่วง 8 ปี ของการเป็นนักบินพระที่นั่ง กัปตันปิยะไปอยู่การบินไทยก่อน 2 ปีแรก แล้วจึงมาบินนักบินพระที่นั่งได้ แล้วก็เป็นนักบินการบินไทยควบคู่กันไป

“เป็นชั่วโมงบิน 90% ที่สะสมมาจากการบินไทย แต่ตำแหน่งจริงๆ คือนักบินพระที่นั่ง ทำแบบนี้อยู่ 8 ปี ตำแหน่งสุดท้าย คือ เป็นครูการบินพระที่นั่ง ตำแหน่งในกองทัพอากาศ คือนายทหารตรวจสอบมาตรฐานนักบินของกองทัพหรือ Inspector

หลังจากเป็นอินสเปคเตอร์ ในปีสุดท้ายก็ลาออกจากกองทัพ ตั้งใจมาเปิดโรงเรียนการบิน ตั้งใจไว้ว่า เมื่อวันหนึ่งเราอายุมากเกินกว่าจะเป็นนักบินพระที่นั่ง เราก็ยังอยากวนเวียนอยู่กับการบิน ไม่อยากทำงานธุรการ ในช่วงนั้นก็เลยคิดว่า กอปรกับเล็งเห็นแล้วว่าประเทศไทยมีการเติบโตของนักบินน้อยมากเลย

“ตอนนั้น ไม่มีโรงเรียนการบินเลยนะครับ ตอนนั้นมีแค่สถาบันการบินพลเรือนที่หัวหิน บ่อฝ้าย แค่โรงเรียนเดียว แล้วไม่มีอีกเลย จนกระทั่งเปิดเป็นโรงเรียนได้ แต่เราก็ต้องหารายได้ด้วย ว่า จะหาทุนจากที่ไหน ก็เลยไปเป็นนักบินแอร์ไลน์เต็มตัว ตอนนั้นไทยแอร์เอเชีย เพิ่งเปิดมาได้ 6 เดือน เมื่อ 18 ปี ที่แล้ว แต่ในช่วง 6 เดือนนั้น เขาไม่มีนักบินไทยเลยแม้แต่คนเดียว เขาเอานักบินมาเลเซียมาทั้งหมดเลย เวลานั้น เขาก็เริ่มประกาศรับสมัครนักบินคนไทย ก็เลยมีนักบินพระที่นั่ง ที่ลาออกมา 3 คน ไปเป็นนักบินสายการบิน ไทยแอร์เอเชียล็อตแรก หนึ่งในสามคือผม อีกสองท่านตอนนี้ เป็นผู้บริหาร ไทยแอร์เอเชีย นั่นคือความเป็นมาของผม ที่เคยเป็นนักบินยืมตัวการบินไทย”

ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา BAC ผลิตนักบินมาแล้ว 2,800 คน เป็นนักบินพาณิชย์ 1,180 คน แต่โดยรวมกล่าวได้ว่ามีนักบินประมาณ 2,000 คน เนื่องจากมีนักบินที่ไม่ใช่เพื่อเป็นการพาณิชย์ด้วย

สำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียน 15-18 เดือน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาทต่อคน


ผลิตนักบินต่อปี มากเป็นอันดับ 2 ของโลก

กัปตันปิยะกล่าวว่า BAC เป็นอันดับ 2 ของโลก หากดูจากจำนวนศิษย์การบินที่จบภายใน 1 ปี BAC มีกำลังการผลิต 300 คน ใน 1 ปี

“เราเป็นรองอยู่แห่งเดียวคือ Embry Riddle อยู่ที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา นักบินสายการบินต่าง ๆ ในอเมริกา เกินครึ่งจบที่ Embry Riddle ในขณะเดียวกัน นักบินครึ่งนึงของไทย จบที่ BAC เราจึงเป็นอันดับสองของโลก เพราะเพื่อนบ้านเราทั้งหมด ไม่มีโรงเรียนการบิน ญี่ปุ่น ไม่มี โรงเรียนการบิน ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ ประเทศที่เป็นเกาะทั้งหมดไม่มีโรงเรียนการบิน เพื่อนบ้านเรา รวมทั้งคนไทย ก็เลยมาเรียนที่เราเสียเยอะ”


ขณะที่ออสเตรเลียมีโรงเรียนการบินเป็นร้อยแห่ง จึงไม่มีโรงเรียนไหน ที่มีนักเรียนจบ 300 คนต่อปี เพราะเฉลี่ยกันไป

กัปตันปิยะกล่าวว่า Embry Riddle มีเครื่องบิน 60 ลำ ส่วน BAC มี เครื่องบิน 47 ลำ

“เราจะไม่เป็น อันดับ 2 ได้อย่างไร เครื่องบินของเราเป็น cessna 172 ซึ่งก็เป็นรุ่นเดียวกับที่ เอมบรี ริดเดิลใช้ เป็นเครื่องที่ผลิตในอเมริกา มีความพิเศษคือเป็นเครื่องที่โรงเรียนการบินยอมรับว่าเหมาะกับการเอาไว้ฝึกบินที่สุด มันบินง่าย แก้ไขปัญหาได้ง่าย ซ่อมบำรุงได้ง่าย คงทน ปลอดภัย โรงเรียนการบินจึงเลือกใช้กันเยอะ”

คือคำกล่าวทิ้งท้ายของกัปตันปิยะเกี่ยวกับหนึ่งในหัวใจสำคัญของ BAC คือเครื่องฝึกบิน นอกเหนือไปจากวิสัยทัศน์ และเส้นทางชีวิต ความเป็นมาอันมากประสบการณ์ก่อนจะก่อกำเนิดโรงเรียนการบินที่ผลิตนักบินมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้ฟันฝ่าและผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปได้อย่างสวยงาม


กำลังโหลดความคิดเห็น