พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. และโฆษก บช.สอท. เตือนผู้ใช้สื่อออนไลน์ทั้งหลาย แอบถ่ายภาพผู้อื่นมาโพสต์ลงโซเชียล โดยไม่ได้รับความยินยอมเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพ์ เตือนประชาชนใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์
จากกรณีมีการแชร์ภาพหญิงสาวผู้ป่วยโควิด-19 ที่พักรักษาตัวภายในโรงพยาบาลสนาม โดยภายในภาพเผยให้เห็นหญิงสาวนอนคว่ำเล่นโทรศัพท์ และหันไปพูดคุยกับผู้ป่วยเตียงข้างๆ โดยหญิงสาวรายนี้สวมกางเกงขาสั้น ทั้งนี้ ได้มีการนำภาพดังกล่าวมาเผนแพร่ในโลกโซเชียล โดยมีการระบุแคปชั่นสำหรับภาพดังกล่าวว่า
“โรงพยาบาลสนาม ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด”
จนกลายเป็นประเด็นดรามา มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นระบุว่า เจ้าผู้โพสต์ทำไม่ถูก แถมยังคอมเมนต์คุกคามแบบนี้อีก อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตได้มีการถกเถียงถึงประเด็นดังกล่าว บ้างก็บอกว่าแต่ละเตียงน่าจะมีฉากกั้น นอกจากจะกันการแพร่เชื้อแล้วยังสามารถป้องกันเหตุแบบนี้ได้อีกด้วย ขณะที่บางคอมเมนต์มองว่าผู้หญิงไม่ควรนอนแบบนี้ในที่สาธารณะ แต่ก็มีหลายคอมเมนต์ระบุว่า แม้ผู้หญิงจะนอนแบบนี้ คนอื่นก็ไม่ควรแอบถ่ายแล้วเอามาคอมเมนต์แบบนี้ และตำหนิเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสนามหละหลวมในการดูแลความเรียบร้อยหรือเปล่าถึงทำให้เกิดเรื่องแบบนี้
วันนี้ (17 เม.ย.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. และ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การแอบถ่ายผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียง เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้วในการที่แอบถ่ายภาพของบุคคลอื่นและนำมาเผยแพร่โดยที่เจ้าตัวไม่รับรู้รับทราบและไม่ได้ให้ความยินยอม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น อีกทั้งยังเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกด้วย
ส่วนในเรื่องทางข้อกฎหมายการกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น โดยเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 16 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และในฐานความผิดดังกล่าวนั้น เป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป
นอกจากนี้ ฝากถึงพี่น้องประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ขอให้ใช้อย่างมีสติ และใช้วิจารณญาณไตร่ตรองให้ดีก่อนทำการโพสต์ลงบนสื่อออนไลน์ รวมถึงการคำนึงและเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นอยู่เสมอ และอย่าใช้สื่ออออนไลน์ในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย หรือใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้สื่อออนไลน์เป็นสังคมที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น