พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แจงปมฉีดฆ่าเชื้อโควิด-19 กลางป่า ย้ำทำตามมาตรการป้องกันโรค-สร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ ระบุเป็นการบริหารอุปกรณ์-กำลังพลให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
จากกรณีมีการเผยภาพทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 36 สวมชุดพีพีอีฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตามพื้นที่ป่าและริมฝั่งแม่น้ำ 5 จุด คือ 1. อุทยานแห่งชาติแม่แต๊ะหลวง 2. พื้นที่ห้วยสบแงะ ตรงข้ามพื้นที่พักพิงฯ อูแวโกร 3. พื้นที่ห้วยอูมปะ ตรงข้ามพื้นที่พักพิงฯ อีทูโกร 4. พื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวินท่าตาฝั่ง 5. พื้นที่ฝั่งน้ำสาละวิน โดยระบุว่าเป็นมาตรการเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออื่นๆ หลังจากผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาได้เข้ามาพักอาศัยชั่วคราว และปัจจุบันได้เดินทางกลับภูมิลำเนาไปแล้วฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 บริเวณชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่จำเป็นและก่อให้เกิดประโยชน์จริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 เม.ย. พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวหลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อชายแดนไทย-เมียนมา ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยรองโฆษกกองทัพบกได้กล่าวว่า
“เนื่องด้วยในช่วงต้นเดือนเมษายนมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาจำนวนมากได้เข้ามาพักชั่วคราวในพื้นที่ปลอดภัยแนวชายแดน และได้เดินทางกลับประเทศไปแล้วหลังเหตุการณ์คลี่คลาย หลังจบเหตุการณ์กองกำลังชายแดนได้ปฏิบัติตามมาตรการดูแลพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและการควบคุมป้องกันโรค เพื่อให้พื้นที่นั้นกลับสู่สภาพปกติ พร้อมทั้งได้ทำความสะอาด และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคป้องกันโรคติดต่อที่อาจแฝงมากับผู้หนีภัยฯ ตามมาตรการด้านสาธารณสุข โดยการฉีดพ่นฆ่าเชื้อ หน่วยทหารได้ใช้อุปกรณ์และกำลังพลที่มีอยู่แล้ว เป็นอุปกรณ์ที่หน่วยใช้ในภารกิจช่วยดับไฟป่า พร้อมขอสนับสนุนน้ำยาฆ่าเชื้อโรคจากหน่วยงานสาธารณสุข เป็นการนำเครื่องมือของส่วนราชการที่มีอยู่แล้วมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าในการช่วยเหลือดูแลประชาชน
อีกทั้งการรวมตัวกันของคนจำนวนมากในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความเสี่ยง การทำให้พื้นที่สะอาด จึงเป็นมาตรการป้องกันโรคติดต่อและลดการสะสมของเชื้อโรคต่างๆ ที่เกิดจากสภาพความเป็นอยู่และของเสียจากร่างกาย เป็นมาตรการสร้างความปลอดภัยและป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดน ที่สำคัญเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ตามวิถีเดิม เช่น ปลูกพืชหรือหาอาหาร”