เว็บไซต์ข่าวกรมประชาสัมพันธ์ เผยภาพทหารพราน 36 ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ใน 5 พื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้าน สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เผย การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบนตัวคนหรือสถานที่ ไม่ช่วยฆ่าเชื้อแถมสิ้นเปลือง ชาวเน็ตวิจารณ์ทั้งโซเชียลฯ
เมื่อวันที่ 13 เม.ย. เว็บไซต์ข่าวกรมประชาสัมพันธ์ เผยภาพทหารพราน 36 ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ใน 5 พื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยระบุข้อความว่า พันเอก สมรรถชัย แปงสาย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 มอบหมายให้กองร้อยทหารพรานที่ 3604 จัดกำลังพลนายสิบพยาบาล เข้าดำเนินการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยี่ห้อ HERMES PLUS 99.90% ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก โรงพยาบาลแม่สะเรียง เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออื่นๆ ใน 5 พื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ 1. บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่แต๊ะหลวง 2. พื้นที่ห้วยสบแงะ (ตรงข้ามพื้นที่พักพิงฯ อูแวโกร) 3. พื้นที่ห้วยอูมปะ (ตรงข้ามพื้นที่พักพิงฯ อีทูโกร) 4. พื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวินท่าตาฝั่ง และ 5. พื้นที่ฝั่งน้ำสาละวิน
โดยก่อนหน้านี้ ได้จัดเป็นพื้นที่รองรับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) ที่ได้ขอเข้ามาพักอาศัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้มีราษฎรบางส่วนอพยพข้ามมายังฝั่งไทย แต่ในขณะนี้ได้เดินทางกลับไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาด้วยความสมัครใจทั้งหมดแล้วแล้ว การดำเนินการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของคณะกรรมโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ภายหลังภาพดังกล่าวถูกเผยเเพร่ออกไป ชาวเน็ตต่างเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กันจำนวนมาก ส่วนใหญ่ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพในการฉีดน้ำยาบริเวณชายแดน
ทั้งนี้ ทางสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เคยออกมาระบุถึงการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบนตัวบุคคล หรือสถานที่เพื่อทำลายเชื้อสาเหตุของโควิด-19 ว่าไม่มีความจำเป็นต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อหรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใดๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ หากในบริเวณนั้นมีเสมหะ หรือสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยที่ยังไม่แห้ง การฉีดพ่นน้ำยาอาจทำให้เชื้อฟุ้งกระจายขึ้นมาเป็นอันตรายได้ หากจะทำความสะอาดแนะนำให้ใช้วิธีเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
อ่านข่าวประกอบ : ส.โรคติดเชื้อฯ ชี้การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบนตัวคนหรือสถานที่ ไม่ช่วยฆ่าเชื้อแถมสิ้นเปลือง