โลกโซเชียลฯ วิจารณ์ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ รับสมัครนักแสดง นักร้อง และนักดนตรี รวม 7 อัตรา เป็นพนักงานราชการ ปีงบประมาณ 2564 ตั้งคำถาม “ความจำเป็นของหน่วยงานนี้คืออะไร?”
วันนี้ (9 เม.ย.) ในโลกออนไลน์มีการวิจารณ์กรณีที่กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (พัน.ปจว.นสศ.) ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี เปิดรับสมัครพนักงานราชการ ประจำปีงบประมาณ 2564 ตำแหน่ง นักแสดง นักร้อง และนักดนตรี เพศชาย และเพศหญิง จำนวน 7 อัตรา รับสมัครตั้งแต่วันที่ 19-27 เม.ย. 2564 ณ ฝ่ายกำลังพล กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. (เว้นวันหยุดราชการ)
สำหรับรายละเอียดการรับสมัครทหารกองหนุนและบุคคลพลเรือนเพื่อสอบคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการเป็นพนักงานราชการ ประจำปีงบประมาณ 2564 มีตำแหน่งที่รับสมัครสอบคัดเลือก จำนวน 7 อัตรา ได้แก่ นักแสดง (ชาย/หญิง) จำนวน 6 อัตรา คุณสมบัติเป็นโสด มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 30 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเทียบเท่าขึ้นไป มีความสามารถในการแสดง ร้องเพลง ดนตรี หากมีความสามารถเล่นคีย์บอร์ดจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
ส่วนนักร้อง (หญิง) จำนวน 1 อัตรา คุณสมบัติเป็นโสด มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 35 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเทียบเท่าขึ้นไป มีความสามารถในการร้องเพลง เล่นดนตรี ซึ่งทั้งสองตำแหน่งจะมีการสอบคัดเลือก แบ่งออกเป็น การสอบภาควิชาการ 50 คะแนน การสอบภาคปฏิบัติ ได้แก่ ทดสอบความรู้ความสามารถตามตำแหน่ง 130 คะแนน และการสัมภาษณ์ 20 คะแนน โดยมีกำหนดสอบคัดเลือกในวันที่ 11 พ.ค. 2564
อย่างไรก็ตาม มีชาวเน็ตได้ออกมาวิจารณ์การเปิดรับสมัครครั้งนี้ เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Prim Maneechot ระบุว่า “ความจำเป็นของหน่วยงานนี้คืออะไร ทหารไม่ได้เอาไว้ต่อสู้กับภัยความมั่นคงของชาติเหรอคะ ภัยความมั่นคงของชาติตามนิยามของหน่วยงานนี้คืออะไรคะ”
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Jitkasemsuk Kerdchart ระบุว่า “แปลได้ว่า การแสดงละครประวัติศาสตร์ชาติคือการปฏิบัติการทางจิตวิทยาของทหารสินะ”
ส่วนผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Saowalak Sitthinon” ระบุว่า “เอาไว้ทำอะไรคะ คุณใช้เงินภาษีเรา คุณต้องมีคำตอบ ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำ”
อนึ่ง กองทัพบกได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาขึ้นครั้งแรก จากการตั้งเป็นชุดปฏิบัติการจิตวิทยา และได้ขยายขีดความสามารถจนกระทั่งเป็นกองพันปฏิบัติการจิตวิทยาในปัจจุบัน โดยวันที่ 11 ก.ค. 2506 จัดตั้ง 9 ชุดปฏิบัติการจิตวิทยา ขึ้นตรงต่อกองทัพบกผ่านการบังคับบัญชาไว้กับ กรมการทหารสื่อสาร สะพานแดง กรุงเทพมหานคร กระทั่ง 1 ม.ค. 2509 โอนการบังคับบัญชาไว้กับ กรบรบพิเศษที่ 1 (พลร่มป่าหวาย) ต.ป่าตาล อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี
27 มิ.ย. 2509 จัดตั้งกองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยาประกอบด้วย 18 ชุด ปฏิบัติการจิตวิทยา, 7 พ.ค. 2513 จัดตั้งกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ประกอบด้วยกองร้อยบังคับการ กองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยา และกองร้อยผลิตสิ่งโฆษณา, 10 ม.ค. 2522 ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลซึ่งเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของหน่วย, 2 ก.พ. 2522 จัดตั้งกองร้อยรณรงค์ด้านการปฏิบัติการจิตวิทยา และ 4 กองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยา (กองทัพภาค) ปัจจุบันกองทัพบกออกคำสั่ง ให้กลับมาขึ้นการบังคับบัญชากับกองพันปฏิบัติการจิตวิทยาตั้งแต่ 25 ก.ค. 2544
กระทั่ง 17 มี.ค. 2536 กองทัพบกออกคำสั่งบรรจุมอบให้ขึ้นการบังคับบัญชากับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ 30 ก.ค. 2544 กองทัพบกออกคำสั่งให้กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา เป็นหน่วยขึ้นตรงของกรมรบพิเศษที่ 2 ซึ่งทำการมอบการบังคับบัญชา เมื่อ 31 ต.ค. 2544 โดยมีที่ตั้ง ณ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นหน่วยเดียวในกองทัพบกที่ดำเนินการด้านการปฏิบัติการจิตวิทยาโดยตรง เป็นการปฏิบัติทั้งในด้านยุทธศาสตร ยุทธการ และยุทธวิธี และ 1 ต.ค. 2556 กองทัพบกออกคำสั่งให้กองพันปฏิบัติการจิตวิทยาเป็นหน่วยขึ้นตรง ของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ