นักประวัติศาสตร์ “อัษฎางค์ ยมนาค” ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยถึงวีรกรรมของ ศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ออกมาปกป้องนักศึกษาที่แสดงผลงานดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังด่าหยาบใส่ รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีวิจิตรศิลป์ มช. พบที่ผ่านมามีพฤติกรรมเอนเอียงไปทางล้มล้างสถาบันฯ
จากกรณี รองศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ พาบุคลากรของคณะเข้าไปภายในบริเวณหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเก็บงานศิลปะของนักศึกษาไปทิ้ง รวมถึงเหตุการณ์ที่ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ เข้ามาต่อว่ากลุ่มอาจารย์ให้คืนผลงานของนักศึกษา โดยได้มีการถ่ายคลิปขณะเกิดเหตุเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ กระทั่งคณบดีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงตลอดทั้งวัน
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (24 มี.ค.) นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก “อัษฎางค์ ยมนาค” เล่าวีรกรรมของ “ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี” อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ หลังออกมาปกป้องนักศึกษาที่สร้างงานดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังด่าอย่างหยาบคายใส่ รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีวิจิตรศิลป์ มช. โดยนายอัษฎางค์ได้ระบุข้อความว่า
“ทัศนัย เศรษฐเสรี สําเนียงส่อภาษากิริยาส่อสกุล
คำด่าอย่างหยาบคายของ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี ที่ด่า รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีวิจิตรศิลป์ มช. ว่าเป็นควายศิลปินพาตำรวจเข้าไปเก็บงานศิลปะนักศึกษา เป็นลูกสาวศิลปินแห่งชาติ หมาเฝ้าหอศิลป์งานศิลปะที่ อ.ทัศนัย กล่าวถึงคือ เศษขยะที่สร้างขึ้นเพื่อโจมตี ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
ลูกสาวศิลปินแห่งชาติ หมาเฝ้าหอศิลป์ ที่ทัศนัยกล่าวถึงเป็นใครมาจากไหน รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง (นิรันต์) อายุ 51 ปี เป็นบุตรสาวของนายพิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) วัย 85 ปี โดยเธอเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนราชินี วิทยาลัยช่างศิลป์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพิ่งได้รับคัดเลือกให้นักศึกษาเก่าดีเด่น ประเภทผู้ส่งเสริมการศึกษา เมื่อปี 2562
ส่วนทัศนัย คนที่ปกป้องเด็กที่สร้างงานดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และกล่าวโทษผู้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยวาจาหยาบคายเป็นใครมาจากไหน ข้อมูลจากสถาบันทิศทางไทยระบุว่า...
ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มีประวัติเคยร่วมกับเพื่อนศิลปินทำ “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2554 และเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหาร ซึ่งมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อ.ทัศนัย ได้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ คสช.หยุดจำกัดเสรีภาพนักวิชาการและนักศึกษา
เมื่อการชุมนุมของก๊วน 3 กีบเริ่มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ.ทัศนัยได้คอยให้การสนับสนุนการชุมนุมของม็อบอย่างเต็มที่ โดยเคยร่วมกับนักวิชาการอีกกว่า 60 คน ใช้ตำแหน่งเป็นนายประกันแก่ผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งครั้งนั้นศาลอาญาออกหมายจับ 15 นักศึกษาและประชาชนที่ร่วมปราศรัย และล่าสุด อ.ทัศนัยยังเป็นหนึ่งใน คณาจารย์ 255 คน จาก 31 สถาบัน ที่ร่วมกันลงชื่อขอให้ศาลได้พึงพิจารณาทบทวนคำสั่งไม่ให้ประกันตัว นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64
นอกจากนี้ อ.ทัศนัย ยังเคยกล่าวถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยระบุว่า “ตรงไปตรงมา ชัดเจน และบนถนน แบบนี้หละ ดีที่สุด”
จากพฤติกรรมของอาจารย์ศิลปะผู้นี้ ซึ่งแสดงจุดยืนทางการเมืองเรื่อยมา โดยจุดที่น่าสนใจคือการร่วมกิจกรรม “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” ทำให้เห็นได้ว่า อ.ทัศนัยนั้นมีมุมมองเช่นไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เลยเป็นเหตุให้ไม่ได้รู้สึกว่าการแสดงศิลปะโจมตีสถาบันของกลุ่มนักศึกษา เป็นสิ่งที่ผิดและไม่ควรเกิดขึ้น”