xs
xsm
sm
md
lg

“ป๋ากิ๊ก” ไม่สนคนแบนสุกี้เจ้าดัง ประกาศชัด “ใครไม่กิน กูกิน” พร้อมแชร์ตำนานจากสาวกร้านเอ็มเค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ป๋ากิ๊ก เกียรติ กิจเจริญ” นักแสดงและพิธีกรชื่อดัง โพสต์ข้อความไม่สนคนแบนร้าน MK สุกี้ เจ้าตัวประกาศชัด “ใครไม่กิน กูกิน MK..” นอกจากนี้ ยังแชร์เรื่องราวจากสาวกเอ็มเค ที่เล่าตำนานร้านสุกี้เจ้าดังในสมัยก่อน

จากกรณี น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ เจี๊ยบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความแบนร้าน MK และ ยาโยอิ ร้านอาหารชื่อดัง โดยให้เหตุผลว่าร้านทั้งสองเป็นสปอนเซอร์ให้กับสื่อช่อง Top News จากการตรวจสอบเพิ่มเติมในช่วงที่ผ่านมา ไม่พบว่าเครือภัตตาคารอาหารเอ็มเค ซื้อโฆษณาช่องท็อปนิวส์ ทั้งในรูปแบบสปอตโฆษณา และฉากหลังรายการต่างๆ แต่อย่างใด มีเพียงการนำอาหารกล่องมาแจกพนักงานช่วงเปิดสถานี เพื่อแสดงความยินดีในฐานะสื่อมวลชนเท่านั้น

ต่อมา เมื่อวันที่ 23 มี.ค. เฟซบุ๊ก “Kiat Kitcharoen” หรือ ป๋ากิ๊ก เกียรติ กิจเจริญ นักแสดงและพิธีกรชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความระบุสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “ใครไม่กิน กูกิน MK..” นอกจากนี้ “ป๋ากิ๊ก” ยังได้แชร์บทความของผู้ที่ใช้ชื่อว่า Dhanes Wongtun-yakorn ในฐานะสาวกของร้าน MK ตั้งแต่ยังเป็นร้านอาหารเล็กๆ ห้องเดียวอยู่ที่สยามสแควร์ พร้อมกับเล่าเรื่องราวของ #ป้าทองคำตำนานร้าน MK สุกี้ #คนดีที่โลกไม่ลืม ไว้อย่างสนุกและน่าสนใจดังนี้

ผมเป็นสาวก MK ตั้งแต่ยังเป็นร้านอาหารเล็กๆ ห้องเดียวอยู่ที่สยามสแควร์ ไปกินประจำตั้งแต่เรียนปี 1 สถาปัตย์ฯ สมัยนั้นหากเรียกคิดเงินแล้วตังไม่พอจ่าย ป้าทองคำเจ้าของร้านก็จะบอกพวกเราว่า “ไม่เป็นไรลูกคราวหน้าค่อยมาจ่าย” ทั้งๆ ที่ป้าไม่รู้ว่านิสิตพวกนี้เป็นใคร เราเกรงใจมากแต่ก็เชื่อ (ไว้) ในความเมตตาของท่าน

เมนูที่เราสั่งประจำคือ “แป๊ะซะปลาช่อน” แต่เมื่อเรียกคิดเงินค่าอาหาร ไม่นานเราก็รู้ว่าฐานะของพวกเรา สั่งได้แต่เพียงน้ำต้มผักของแป๊ะซะเท่านั้น หลังจากนั้น เราจึงสั่งแต่แป๊ะซะน้ำต้มผักที่ไม่มีปลาอีกเลย สมัยนั้นปีหนึ่งจะนั่งชั้นล่าง พอขึ้นปีสองจะขยับขึ้นไปนั่งที่ชั้นลอย พอปีสามก็ขึ้นไปชั้นสองตามลำดับอาวุโส นั่งติดลมกันจนถึงเที่ยงคืน คุณป้าทองคำก็จะบอกให้เราไปปิดประตูบานม้วน แล้วมานั่งต่อในร้านจนพอใจ จึงค่อยๆ ทยอยเซออกจากร้าน

ป้าทองคำเป็นคนชัยนาท จึงมีเด็กสาวจากชัยนาทเป็นพนักงานหรือเด็กเสิร์ฟของร้านหลายคน ทุกคนจะเรียกพวกเราว่า “น้า” ทั้งที่อายุห่างกันเพียง 3-4 ปี เรายังจำชื่อน้องๆ พวกนั้นได้แม่น มี ออด ภา แอ๊ด แมว ฯลฯ หลังจากเรียนจบ พวกเรายังก็คงนัดมาฮาเฮกันที่ร้าน MK ทุกวันศุกร์เป็นเวลาหลายปี เมื่อนึกถึงความหลังครั้งนั้น ภาพเก่าๆ ที่ยังตราตรึงกับความเอื้ออารีของคุณป้าทองคำก็ผุดขึ้นมาอย่างแจ่มชัดทุกครั้ง ตราบจนทุกวันนี้

ความสำเร็จของ “ผู้หญิง” ผู้สร้าง “เอ็มเคสุกี้” จากบทสัมภาษณ์ “ยุพิน ธีระโกเมน” ใน “พลอยแกมเพชร” คุณ “ยุพิน” หรือ “แจ๊ว” ภรรยาของคุณ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” คือ ธิดาของคุณป้าทองคำ เอ็มเคสุกี้” เริ่มต้นมาจากร้าน “เอ็มเค” ที่สยามสแควร์ คุณแม่ทองคำ เมฆโต แม่ของ “ยุพิน” เป็นผู้บุกเบิก แต่เจ้าของร้านเอ็มเคต้นตำรับ เป็นผู้หญิงชาวฮ่องกง ชื่อว่า “มาคอง คิงยี” “มาคอง คิงยี” อยู่ กทม. บ้านติดกับคุณแม่ทองคำ เธอเป็นคนรวยมาก ส่วนคุณแม่ทองคำเป็น “แม่บ้าน” ทำอาหารเก่ง
วันหนึ่ง “มาคอง คิงยี” อยากเปิดร้านอาหารที่สยามสแควร์ ก็เลยชวนคุณแม่ทองคำมาเป็น “แม่ครัว” ชื่อร้าน “เอ็มเค” ก็มาจากชื่อ “มาคอง” ทำอยู่พักหนึ่งก็เบื่อ เพราะลูกค้าเริ่มจู้จี้จุกจิก สุดท้ายก็เลิกทำ และยกให้คุณแม่ทองคำทำต่อไป โดยให้ทยอยผ่อนชำระไปเรื่อยๆ คุณนายมาคองย้ายไปปักหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

ส่วนคุณแม่ทองคำก็บุกเบิกร้านเอ็มเค จนประสบความสำเร็จ “คุณแม่ถือเป็นคนเกื้อกูลและเอื้ออารีแบบคนโบราณ เราติดแม่เขา ติดเจ้าของ เจ้าของไม่คิดเล็กคิดน้อยกับลูกค้า ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ใช่คนที่เขารู้จักมาก่อน “จากร้านเอ็มเคที่สยามสแควร์ ขยายเป็น “กรีนเอ็มเค” ที่ “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” และ “เอ็มเคสุกี้” ในทุกวันนี้ ตํานาน “เอ็มเคสุกี้” มาจาก “ผู้หญิง” 2 คน ตอนที่ “ยุพิน” บุกเบิกร้าน “กรีนเอ็มเค” ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ร้านนี้ขายอาหารไทยเหมือนกับร้าน “เอ็มเค” ที่สยามสแควร์ “ยุพิน” เป็นคนขยันเหมือนแม่ ตีห้าจะออกจากบ้าน เข้าร้านตั้งแต่เช้าตรู่ เจ้าสัวเซ็นทรัล “สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์” พักอยู่ที่ “เซ็นทรัล” เขาตื่นเช้ามาออกกำลังกายทุกวัน และเจอ “ยุพิน” เป็นประจำเขาถามว่า “มาทำอะไรตั้งแต่เช้า” เธอตอบว่า มาเตรียมตัวเปิดร้าน “สัมฤทธิ์” คงเห็นความขยันของ “ยุพิน” วันหนึ่ง เขาจึงบอกว่าจะให้ทำร้านสุกี้ที่ชั้นล่างพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร “ยุพิน” ปฏิเสธทันที “หนูไม่มีเงินค่ะ” “สัมฤทธิ์” บอกว่า เธอไม่ต้องทำอะไร “เดี๋ยวฉันจะทำให้หมด” เงินที่ใช้ในการลงทุนตกแต่งร้าน “เอ็มเคสุกี้” สาขาแรกเป็นเงินประมาณ 20 ล้านบาท “สัมฤทธิ์” ควักให้

แต่ถึงกระนั้น การทำร้านสุกี้ขนาดใหญ่ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีความเสี่ยง เพราะเป็น “สินค้า” ที่ “ยุพิน” ไม่มีประสบการณ์มาก่อน วันที่ “ยุพิน” นำเรื่องนี้มาเล่าให้ที่บ้านฟัง คุณแม่ทองคำตัดสินใจทันที “ทำไปเลยลูก เดี๋ยวแม่จะช่วยเอง” วันนั้น “ฤทธิ์” สามีของยุพินไม่เห็นด้วย พ่อของ “ยุพิน” ก็ไม่เห็นด้วย น้องชายของ “ยุพิน” ก็ไม่เห็นด้วย “ผู้ชาย” ในบ้านทุกคน ไม่เห็นด้วย มีคนที่เห็นด้วยเพียง 2 คน คือ “ยุพิน” และคุณแม่ทองคำ “ผู้หญิง” ทั้งคู่ “ผู้หญิง” ที่เป็นเสียงส่วนน้อย “เห็นด้วย”

แต่ร้าน “เอ็มเคสุกี้” ก็กำเนิดขึ้นมา ร้านเอ็มเคสุกี้มีหลักคิดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนทำร้านอาหาร คือ “เจ้าของ” ก็เป็นลูกค้าคนหนึ่ง กินอะไรที่ร้าน ต้องจ่าย “ยุพิน” เป็นคนวางกฎนี้เอง เพราะแต่ละคนก็มีน้อง มีเพื่อน มีน้องเพื่อน ลูกเพื่อน ถ้าไม่กำหนดหลักการไว้จะลำบากในการดูแล

วันแรกที่เปิดร้าน พ่อของ “ยุพิน” พาเพื่อนไปเลี้ยง แต่ต้องจ่ายตังค์ เขาโมโหมาก เพราะเสียหน้า แต่ตอนหลังก็เข้าใจว่าทำไมต้องใช้กติกานี้ ตอนนี้ถ้าลูกสาวพาเพื่อนไปเลี้ยง คุณยุพินก็จะโอนเงินไปจ่ายที่ร้าน กลายเป็นกติกาที่รู้กันใน “เอ็มเคสุกี้”
คำสอนของคุณแม่ทองคำตอนเริ่มต้น “เอ็มเคสุกี้” เธอสอนลูกสาวและลูกเขย ว่า เมื่อได้อะไรมาก็แล้วแต่ ให้ทำให้ดีที่สุด “และถ้ามีอะไรผิดพลาด ให้ถือว่าเราไม่ได้เจตนา มันเกิดขึ้นมาด้วยความไม่ตั้งใจ” เพราะการทำงานนั้น “ใจ” ของเราสำคัญที่สุด การเริ่มต้นงานใหม่ “กำลังใจ” เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ามัวแต่มองความผิดพลาดและโทษตัวเอง เราจะหมดกำลังใจ

ต้องถือหลักว่าถ้าเจตนา เขาเรียกว่า “ความผิด” แต่ถ้าทำดีที่สุดแล้ว และไม่เจตนา เขาเรียกว่า “พลาด” แค่พลาดก็แก้ไขใหม่ เท่านั้นเอง คุณแม่ทองคำเป็นคนมัธยัสถ์มาก ตอนทำเอ็มเคยุคแรกๆ จะใส่เสื้อผ้าเพียงแค่ 2 ชุด หรือช่วงเริ่มต้น “เอ็มเคสุกี้” เธอจะไปจ่ายตลาดเอง ไปรถเมล์ กลับรถตุ๊กตุ๊ก เธอใช้เงินเพื่อตัวเองน้อยมาก แต่ถ้าให้คนอื่นหรือบริจาคให้โรงพยาบาล โรงเรียน หรือวัด เท่าไรเท่ากัน เป็นที่รู้กันในครอบครัวว่าคุณแม่ทองคำเป็นคนใจบุญ และนี่คือสิ่งที่ “ฤทธิ์-ยุพิน” ทำตาม ล่าสุด ตอนที่แม่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เธอบอกคุณหมอว่า ถ้าที่โรงพยาบาลมีสถานที่ เธอจะเปิดร้านเอ็มเคสุกี้ให้
กำไรเท่าไร ยกให้โรงพยาบาลทั้งหมด ตอนนี้ “เอ็มเคสุกี้” เริ่มแล้วที่โรงพยาบาลศิริราช

กำลังจะขยายไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลรามาฯ แนวคิดเหมือนเดิม คือ กำไรเท่าไรมอบให้โรงพยาบาลทั้งหมด “เพิ่งคุยกับคุณฤทธิ์ว่าเราน่าจะไปโรงพยาบาลต่างจังหวัดบ้าง” พนักงานของ “เอ็มเคสุกี้” สาขาโรงพยาบาลเหล่านี้ ทำงานมีความสุขมาก เพราะสาขามีกำไรเท่าไรก็ได้ทำบุญเท่านั้น ทำงานเหมือนกับทำบุญ จะไม่มีความสุขได้อย่างไร



กำลังโหลดความคิดเห็น