xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดวิทยาลัยพระภิกษุสามเณร วัดนิเวศธรรมประวัติ จ.อยุธยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (20 มีค.) เมื่อเวลา 17.54 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ และทรงเปิดวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โอกาสนี้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี โดยเสด็จด้วย

เมื่อเสด็จ ฯ ถึงท่าเทียบเรือหน้าวัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งมีนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หม่อมราชวงศ์ พรรณนภา ดิศกุล ที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์ และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ พร้อมข้าราชการและประชาชน เฝ้า ฯ รับเสด็จ

ต่อมา เสด็จเข้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธนฤมลธรรโมภาส พระประธานพระอุโบสถ แล้วเสด็จออกจากพระอุโบสถ ไปยังพิพิธภัณฑ์วัดนิเวศธรรมประวัติ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ จปร. เสด็จ ฯ ไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์ตาลปัตร (หอกลอง) ทอดพระเนตรการจัดแสดงตาลปัตร พัดรองที่ระลึก

ด้วยสภาพวัดนิเวศธรรมประวัติ เกิดความชำรุดทรุดโทรม จึงนำมาสู่การบูรณะปฏิสังขรณ์ในระยะแรกตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2529 ถึง 2533 ต่อมาพระอารามและสิ่งก่อสร้างเดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงได้มีการริเริ่มดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หม่อมราชวงศ์ พรรณนภา ดิศกุล ที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนองพระราชดำรัสในการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548-2564 และเมื่อปีพุทธศักราช 2555 เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปีพุทธศักราช 2555 คณะกรรมการโครงการ ฯ จึงจัดทำแผนแม่บท โดยยึดรูปแบบเดิมของมิสเตอร์ยูกิง แกรซี ที่ออกแบบไว้ และปรับพื้นที่ที่จำเป็นให้เหมาะสมต่อการใช้งาน โดยการกำกับดูแลควบคุมของกรมศิลปกร ภายใต้แนวความคิดหลัก 3 ประการ คือ

1. การอนุรักษ์โบราณสถานฟื้นฟูศิลปะสถาปัตยกรรม
2. การอนุรักษ์และส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่พระราชวังและพื้นที่โดยรอบ เน้นการจัดพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน
3. การส่งเสริมกิจกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งกิจกรรมทางด้านศาสนา และด้านการท่องเที่ยว

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จ ฯ ไปยังพลับพลาพิธีหน้าอาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงศีล ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย "อาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร" แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบทุนภัตตาหารกลางวัน และการอาพาธของนักเรียนสามเณร

เสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ พระปริยัติสารสุธี (อเนก มนุญโญ) เจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา (ธรรมยุต) รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ ถวายพระพุทธรูป (พระนิรันตราย) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ พระครูอินทรวราจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ ถวายพระพุทธรูป (พระนิรันตราย) แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังบริเวณที่ปลูกต้นไม้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกต้นจัน จำนวน 1 ต้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นจัน จำนวน 1 ต้น แล้วเสด็จออกจากบริเวณที่ปลูกต้นไม้ ไปยังอาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ทอดพระเนตรนิทรรศการวิชาการ ฯ ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประวัติความเป็นมาวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ การจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัย ฯ ตามพระบรมราโชบาย ฯ (ฝึกอาชีพ จบมีงานทำ มีการลงนามความร่วมมือร่วมกับสถานประกอบการ) รูปแบบการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ อาทิ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตรระยะสั้น ผลงานเด่นนักเรียนนักศึกษา เป้าหมายการต่อยอดการจัดการศึกษาในอนาคต ศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ฯ สำหรับพระภิกษุสามเณร และจิตอาสา ก่อนประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จ ฯ ไปยังท่าเทียบเรือหน้าวัดนิเวศธรรมประวัติ ประทับเรือยนต์พระที่นั่ง เสด็จ ฯ ไปยังท่าเทียบเรือตำหนักแพ และประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จ ฯ กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทั้งนี้ วิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ จัดตั้งขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2555 คณะสงฆ์พร้อมด้วยอุบาสก อุบาสิกา วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เป็นองค์อุปถัมภ์โครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร จึงจัดตั้งวิทยาลัยเสริมทักษะสำหรับพระภิกษุ สามเณร เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28กันยายน พุทธศักราช 2559 และเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ที่เป็นพระภิกษุ สามเณร มีโอกาสได้ศึกษาต่อและเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา ด้านอาชีวศึกษาให้กับ
พระภิกชุ สามเณร ให้มีสมรรถนะและทักษะวิชาชีพในการปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม

ปัจจุบันวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นใน 6 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาช่างยนต์ สาขาวิชาเทคนิคอุตสาหกรรม และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมส์และแอนิเมชัน และสาขาเครื่องกล มีพระภิกษุ และสามเณรนักเรียน จำนวน 120 รูป โดยวิทยาลัยได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับสถานศึกษาและสถานประกอบการที่หลากหลาย ครอบคลุมในทุกสาขาวิชา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากรและองค์ความรู้มาใช้ในการพัฒนาพระภิกษุ สามเณรนักเรียน ให้มีความเชี่ยวชาญและก้าวทันกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ควบคู่กับการเป็นศาสนทายาทที่ดี มีศีล มีธรรม ดังอัตลักษณ์ของวิทยาลัย "ความรู้ดี ทักษะเด่น เน้นคุณธรรม ดำรงพระพุทธศาสนา"

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ และทรงเปิดวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งที่ 5 นับแต่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2522 เสด็จ ฯ ทรงเททองหล่อพระพุทธนฤมลธรรมโมภาศจำลอง เสด็จ ฯ ทรง วางศิลาฤกษ์ศาลาการเปรียญ (หลังใหม่) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 เสด็จ ฯ ทรงเป็นประธานในพิธียกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระพุทธนฤมลธรรมโมภาศ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เสด็จ ฯ ทรงเปิดศาลาการเปรียญเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 และเสด็จ ฯ ส่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกตุพระพุทธทีปังกรวชิรรัศมิ์นาถประชา พระประธานประจำศาลาการเปรียญ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2555

ตลอดสองเส้นทางของการเสด็จ ฯ มีราษฎรมารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตลอดสองฝั่งถนนที่เสด็จพระราชดำเนินผ่าน ทุกคนพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลือง โบกธงพระปรมาภิไธย "วปร." และธงพระนามาภิไธย "สท" พร้อมเปล่งเสียง "ทรงพระเจริญ" ต่างปลื้มปีติที่ได้ชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงโบกพระหัตถ์ และแย้มพระสรวลให้แก่ราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ขณะที่รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนผ่านอย่างช้า ๆ

ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กองแพทย์หลวงสำนักพระราชวัง ร่วมกับโรงพยาบาลและหน่วยสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกให้บริการด้านสาธารณสุข ดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเจลแอลกอฮอล์กับพิมเสนน้ำ และให้จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อประกอบอาหารปรุงสุกใหม่ ถูกสุขอนามัย พระราชทานเลี้ยงแก่ราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติแก่ราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จอย่างหาที่สุดมิได้