วันนี้ (17 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จนถึงขณะนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะสายการบินที่ต้องลดเที่ยวบิน รวมถึงผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานที่ต้องปิดกิจการเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว กระทั่ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ออกมาตรการเยียวยา ที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ทุกราย สามารถประคับประคองกิจการผ่านวิกฤต Covid-19 ครั้งนี้ไปให้ได้
เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อ AOT ในฐานะผู้บริหารสนามบินหลักของประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบการสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ โดยเฉพาะพนักงานและลูกจ้างเกือบแสนชีวิตที่มีความเสี่ยงจะถูกเลิกจ้างงาน โดยในส่วนของสัญญาเชิงพาณิชย์ AOT เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการบอกเลิกสัญญาได้ตามเหตุผลที่สมควร แต่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 45-90 วัน ซึ่งมาตรการบรรเทาผลกระทบนี้ อาจทำให้รายได้ของ AOT ลดลง แต่ยืนยันว่าไม่ใช่รายจ่ายที่ AOT ต้องจ่ายออกไป และไม่ใช่การนำภาษีจากประชาชนมาจ่ายให้ผู้ประกอบการ
ส่วนการช่วยเหลือสายการบิน ทาง AOT ได้เลื่อนการชำระค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charges) เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของสายการบิน อีกทั้งยกเว้นการเก็บค่า Parking Charges สำหรับสายการบินที่หยุดทำการบิน และลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) 50% สำหรับสายการบินที่ยังคงทำการบิน ตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม 2563
สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ AOT ได้ยกเว้นการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 - 31 มีนาคม 2565 (โดยยังคงเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ) และเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง รวมถึงยกเว้นการเก็บค่าเช่าพื้นที่และค่าบริการการใช้บริการในอาคาร สำหรับผู้ประกอบการที่ขอหยุดกิจการชั่วคราว และลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร 50% สำหรับผู้ประกอบการที่ยังคงประกอบกิจการ ตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม 2563
จากมาตรการเยียวยาดังกล่าว สร้างความพอใจให้แก่ผู้ประกอบการสายการบิน เพราะช่วยให้สายการบินลดภาระค่าใช้จ่ายลงอย่างชัดเจน โดยนายกฤษ พัฒนสาร ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 รวมถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินอย่างหนัก ทำให้จำนวนเที่ยวบินของไทยแอร์เอเชียลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเที่ยวบินต่างประเทศที่ต้องหยุดบินทั้งหมด จากเดิมที่เคยบินวันละ 300-400 ไฟลต์ ขณะนี้เหลือแค่ 60-80 ไฟลต์ต่อวัน ดังนั้น จึงเห็นว่ามาตรการของ AOT ที่ออกมาสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
“ต้องเรียนว่าเป็นมาตรการที่ดีมากที่ทาง AOT ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน ไม่ว่าจะเป็นการลด Landing Parking หรือว่าค่าเช่าพื้นที่ต่างๆ ออฟฟิศต่างๆ ทำให้สายการบินลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างชัดเจน ในปีนี้ก็เช่นกันการแพร่ระบาดระรอกใหม่ ทาง AOT ก็ยังมีการต่อขยายมาตรการการช่วยเหลือ” ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด กล่าว
ด้านกัปตันวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท ระบุว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกๆ สาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคของการเดินทาง และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ยิ่งทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงจนน่าใจหาย ซึ่งในเดือนมกราคมจำนวนเที่ยวบินของไทยเวียตเจ็ทลดลงไปประมาณ 70% อัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 50-60% ส่วนต้นเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มมีผู้โดยสารเริ่มกลับมาเดินทางมากขึ้น เฉลี่ยประมาณ 70-80% อย่างไรก็ตาม มองว่ามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการของ AOT สามารถช่วยสายการบินได้ค่อนข้างมาก ทั้งที่ AOT เองก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้
“ต้องขอบคุณ AOT ในการช่วยเหลือผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการสายการบิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดค่า Landing Parking การลดค่าเช่าพื้นที่และค่าสาธารณูปโภค รวมถึงการผ่อนคลายในเรื่องของงวดการชำระเงิน ทำให้สายการบินสามารถที่จะรักษาสภาพคล่องให้กระแสเงินสด และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผมคิดว่าสายการบินกับสนามบินยังไงก็ต้องอยู่คู่กัน แล้วก็ผมยังมั่นใจว่าด้วยความช่วยเหลือของที่สายการบินได้รับจาก AOT จะทำให้เราสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แล้วก็รอวันเวลาที่เหมาะสมที่ผู้โดยสารจะกลับมา แล้วก็เราจะมาร่วมมือกันเพื่อพัฒนาธุรกิจการบินของประเทศไทยต่อไปครับ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าว
ด้านผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ นายชูทวีป วรดิลก ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีเลค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ จำกัด หรือ SSP ซึ่งทำธุรกิจร้านอาหารใน 6 สนามบิน ของท่าอากาศยานไทยอยู่ 81 ร้าน ร้านค้าใน 6 สนามบิน คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ และภูเก็ต เปิดเผยว่า ทำธุรกิจร้านอาหารในสนามบินโดยมีอยู่มากกว่า 20 แบรนด์ในสนามบินทั้งหมด แต่นับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ต้องปิดร้านค้าทั้งหมดเพราะได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารของบริษัทไม่มีรายได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ ดังนั้นมาตรการต่างๆ ของ AOT มีส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมาก เพราะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ ยังพอที่จะประคองตัวต่อไปได้
“AOT นี่ถือว่าเป็นผู้ดูแลสนามบินเจ้าแรกที่ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ มาตรการที่ AOT ช่วยเหลือในระยะแรก อย่างเช่น ช่วยเหลือในเรื่องของการลดค่าเช่า ค่าตอบแทน แล้วก็มีเรื่องของการยืดอายุการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ถ้าไม่ได้มาตรการของ AOT เข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ ผมเชื่อว่าบริษัทฯ คงต้องล้มไปแล้ว” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีเลค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าว
ดร.อัศวิน อิงคะกุล ประธานกลุ่มในเครือ มิราเคิล กรุ๊ป ซึ่งมีกิจการที่สนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ยอมรับว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่สนามบินทั้ง 2 แห่งหนักมาก เพราะรายได้หายไปกว่า 90% และมีบางช่วงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง รายได้หายไป 100% แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความเป็นอยู่ของพนักงานที่บริษัทฯ จะต้องดูแล โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานในสนามบินจะต้องมีที่รับประทานอาหาร ด้วยเหตุนี้เอง ทางบริษัทจึงต้องเปิดเมจิกฟู้ด พอยท์ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับสำหรับพนักงานและเจ้าหน้าที่ของสายการบิน ส่วนมาตรการที่ AOT ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สนามบินนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการที่ปิดกิจการก็จะไม่คิดค่าเช่า ส่วนบริษัทที่เปิดกิจการอยู่ ก็จะคิดค่าเช่าครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือสำหรับเรื่องการผ่อนในส่วนของค่าใช้จ่ายนี้ จะยืดไปให้เป็นระยะเวลา 6 เดือนหรือ 1 ปีแล้วแต่ เป็นช่วงๆ ไป
ทั้งนี้ หากวิกฤต Covid-19 คลี่คลาย ทาง AOT ยืนยันว่าจะเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในอัตราเท่ากับช่วงก่อนวิกฤต (ในระดับเดียวกับปี 2562) และปรับขึ้นตามสัญญาเมื่อจำนวนผู้โดยสารเริ่มมากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต และยืนยันว่ามาตรการเยียวยาทั้งหมดจะไม่เป็นภาระต่อภาษีประชาชน และจะไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง