กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ต้านใช้พื้นที่ป่าทำเหมืองหิน ระเบิดภูเขาปลายสุดของเทือกเขาถนนธงชัย ติดสายน้ำแม่กลองใกล้ตัวเมืองกาญจน์ ยื่นกรมป่าไม้ยุติสัมปทานการใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ ด้านอธิบดีกรมป่าไม้ ไม่สนเผยต่ออายุสัมปทานให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิลาเขาน้อยไปแล้วอีก 10 ปี อ้างสามารถเคลียร์กับชาวบ้านได้
วันนี้ (3 มี.ค.) นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มสตรีกาญจนบุรี และประธานกลุ่มอนุรักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อคัดค้านการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนเพื่อประทานบัตรให้บริษัทหนึ่งระเบิดภูเขาทำเหมืองหิน โดยขอให้ตรวจสอบข้อมูล กลุ่มชุมชนรอบเหมืองที่เห็นชอบการทำเหมือง เนื่องจากผู้เห็นชอบในการทำประชาพิจารณ์มีเพียง 38 คน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมา แต่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดภูเขา ที่เกิดพวยพุ่งฝุ่นหินฟุ้งกระจายไปไกล และเกิดฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อหลายร้อยหลังคาเรือน
นางภินันทน์ กล่าวว่า การทำเหมืองแร่ที่ผ่านมาหลายสิบปี ทำให้ป่าไม้และพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย ตลอดจนบ้านเรือนเก่าแก่ฝั่งบ้านท่าล้อ ได้รับผลกระทบโดยตรง อยู่ตรงข้ามการระเบิดภูเขา ต้องทนได้ยินเสียงระเบิด ดังสนั่นหวั่นไหวทุกวัน สะเทือนบ้านแตกร้าว สัตว์เลี้ยงตกใจร้องและวิ่งหนี นอกจากชุมชนได้รับผลกระทบแล้ว สถานที่ราชการสำคัญ อาทิ ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งการระเบิดเคยส่งผลให้กระจกศาลจังหวัดแตกเสียหายมาแล้ว
นางภินันทน์ กล่าวต่อว่า เมื่อประทานบัตรหมดอายุแล้ว ผู้ประกอบการก็ได้ทำเหมืองได้รับผลประโยชน์มาหลายปีแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้ยุติการต่อประทานบัตร และยุติการใช้พื้นที่ป่าสงวน ตลอดจนให้ผู้ประกอบการขนย้ายอุปกรณ์ทรัพย์สินออกโดยเร็ว ทั้งเร่งฟื้นฟูป่าบริเวณเขาแรด ซึ่งเป็นเขาปลายสุดของเทือกเขาถนนธงชัยติดสายน้ำแม่กลอง ฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองกาญจนบุรี ให้กลับมาเขียวขจีเหมือนเดิม
สำหรับเหมืองแร่นี้เป็นประทานบัตรที่ 24743/14901 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิลาเขาน้อย มีอายุประทานบัตร 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2538 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563 เป็นชนิดแร่โดโลไมต์และหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นคำขอประทานบัตรใหม่ในพื้นที่เดิม ซึ่งระหว่างการขอต่อประทานบัตรสามารถดำเนินการต่อไปได้เรื่อยๆ
ด้าน นายอดิศร นุชดำรง อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ต่ออายุสัมปทานให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิลาเขาน้อย ไปแล้ว ระยะเวลา 10 ปี เพราะสามารถเคลียร์เรื่องร้องเรียนของชาวบ้านได้ แต่อย่างไรก็ตาม กรมป่าไม้จะไปตรวจสอบในส่วนของรายชื่อผู้ที่มาร่วมทำประชาพิจารณ์ ที่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานว่าเห็นด้วยจริงหรือไม่