ร.ต.ท.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊กของตนเอง กล่าวถึงการพัฒนาทางเท้าย่านถนนพระราม 1 ช่วงแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ให้กลายเป็นทางเท้าต้นแบบ ให้สะดวก ปลอดภัย และเสมอภาค ทั้งคนทั่วไปและผู้พิการ และตอบโจทย์ชีวิตคนเมือง
วันนี้ (2 มี.ค.) “หมวดเอิร์ธ” ร.ต.ท.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเพจ “เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang” เผยถึงปัญหาทางเท้าหรือฟุตปาธ ที่มีมานานในกรุงเทพฯ พร้อมเผยถึงแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า
“ทางเท้า ที่ทุกคนเดินได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ปัญหาทางเท้าเป็นปัญหาที่มีมากว่า 30 ปี กทม. ได้พยายามแก้ไขปัญหา “ทางเท้า” โดยจัดรูปแบบโครงสร้างและจัดระเบียบทางเท้าให้เหมาะสมกับการใช้งานของทุกคนมากขึ้น เช่น บริเวณถนนรัชดาจากบริเวณคลองสามเสนถึงแยกเทียมร่วมมิตร บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนราชดำริ ถนนพหลโยธิน (สนามเป้า) ถนนราชดำริ ถนนพระราม 4 ถนนสีลม เป็นต้น
ถึงแม้ว่าในหลายพื้นที่สามารถเดินได้สะดวกมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่ผ่านมา แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ ทางเท้ายังไม่สามารถใช้เดินได้ดีเพราะยังเต็มไปด้วยฝาท่อ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา กระถางต้นไม้ หรือยังมีสภาพชำรุด ไม่เรียบ เป็นหลุม มีน้ำขัง กระเบื้องแตกบ้าง
กทม.จึงพยายามจะต่อยอดที่จะทำทางเท้าต้นแบบที่สมบูรณ์ให้ได้ ซึ่งพื้นที่นั้นคือ “ถนนพระราม 1” ช่วงแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นทางเท้าที่มีคนใช้เดินทางสัญจรเป็นจำนวนมากแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
กทม.จึงพยายามจะต่อยอดที่จะทำทางเท้าต้นแบบที่สมบูรณ์ให้ได้ ซึ่งพื้นที่นั้นคือ “ถนนพระราม 1” ช่วงแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นทางเท้าที่มีคนใช้เดินทางสัญจรเป็นจำนวนมากแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
โดย กทม. ได้ร่วมมือกับนักภูมิสถาปัตย์และหน่วยงานสาธารณูปโภค ออกแบบทางเท้าให้มีมาตรฐานเหมาะสมกับทุกคนในสังคม (Universal Design) ให้ได้ใช้ทางเท้าอย่างสะดวก ปลอดภัย และเสมอภาค ทั้งคนทั่วไปและผู้พิการ โดยออกแบบในรูปแบบเชิงอารยสถาปัตย์ที่ใช้วัสดุเรียบง่าย และจัดระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคใต้ดินให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง อย่างเช่น
นำสายสื่อสารลงใต้ดิน ด้วยเทคโนโลยีท่อร้อยสาย
วางท่อประปา ให้อยู่แนวเดียวกันกับท่อสายสื่อสาร
นำสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เช่น เสา ป้ายโฆษณา คอกต้นไม้ ราวเหล็ก
ทำทางเดินให้เรียบ ปูกระเบื้องที่เอื้อกับคนพิการและคนใช้วีลแชร์
เลือกใช้วัสดุปูพื้นทางเท้าที่เหมาะสมมากขึ้น
และเพื่อทำให้ “ทางเท้า” เป็นที่ที่ทุกคนเดินได้อย่างสะดวก เหมาะสมกับวิถีคนเมืองในปัจจุบันมากที่สุด ในโพสต์ต่อไป...จะนำรูปแบบทางเท้าที่ออกแบบเสร็จ มาให้ทุกคนดู เพื่อให้คำแนะนำกันนะครับ”